Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567

กทม. เตรียมหารือจัดกิจกรรมลงแขก ลงคลอง พร้อมตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำว่า สพส. ได้ประสานความร่วมมือกรมประมง (กปม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามแนวทางของ กปม. อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรรู้จักปลาหมอคางดำ ช่วยกันป้องกัน กำจัด ห้ามจับมาเลี้ยง พร้อมเชิญชวนประชาชนและเกษตรกรร่วมสำรวจ เฝ้าระวัง หากพบปลาหมอคางดำขอให้แจ้งตำแหน่งพิกัดที่พบ โดยสามารถแจ้งผ่านการสแกน QR Code ตามที่ กปม. ประชาสัมพันธ์ และขอให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมการเล็ดลอดของปลาหมอคางดำไม่ให้เข้ามาในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการทำงาน กทม. และจังหวัดปริมณฑล ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 67 ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ สพส. ได้ขอความร่วมมือทุกจังหวัดปริมณฑล สำรวจ และเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ ลำน้ำที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่งได้รับทราบว่า ในจังหวัดปริมณฑลยังพบการระบาดในพื้นที่น้อยมากและไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ได้ขอความร่วมมือทุกจังหวัดปริมณฑลประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและเกษตรกร

ทั้งนี้ สพส. สำนักงานเขตบางขุนเทียน และประมงพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ จะประชุมหารือร่วมกันภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำและการจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อกำหนดจัดกิจกรรมลงแขก ลงคลองในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาท รวมถึงหารือเรื่องการกำหนดจุดรับซื้อและหาผู้ประกอบการรับซื้อปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ เช่น ประกอบอาหาร แปรรูป ทำปุ๋ย โรงงานปลาป่น ตลอดจนแนวทางการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า และในระยะต่อไปหากการระบาดยังไม่ลดลง สพส. จะได้ขอจัดสรรงบประมาณจัดซื้อพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว หรือปลาชนิดอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อกำจัดลูกปลาหมอคางดำวัยอ่อน ตัดวงจรการแพร่พันธุ์ ส่วนแผนการปล่อยปลากะพง 1 แสนตัว 10 จุด จุดละ 1 หมื่นตัว อยู่ระหว่างกรมประมงรองบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หากกรมป้องกันละบรรเทาสาธารณภัยสามารถประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ) เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง จะได้รับความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่หากเกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมงจะได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของ กทม. ตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่ง กปม. ได้มีหนังสือขอหารือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมบัญชีกลางในประเด็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือฯ จะถือว่า เป็นภัยพิบัติหรือไม่ และอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับ


กทม. เร่งตรวจสอบ-ประสานหน่วยงานแก้ไขไฟฟ้าส่องสว่างชำรุด ถ.พหลโยธิน ถ.วิภาวดี ถ.กำแพงเพชร

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดหลายจุด อาทิ บริเวณหมอชิต ทางต่างระดับรัชวิภา ถนนกำแพงเพชร ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ถนนรัชดาภิเษกว่า จากการตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะบริเวณถนนพหลโยธิน ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว – BTS หมอชิต ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่า จะได้ผู้รับจ้างและสามารถเข้าดำเนินการแก้ไขประมาณเดือน ก.ย. 67 โดยจะใช้เวลาดำเนินการแก้ไข 90 วัน สำหรับไฟฟ้าเสาสูง Hightmast บริเวณทางต่างระดับรัชวิภา จะเริ่มเข้าแก้ไขในวันที่ 25 ก.ค. นี้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน คาดว่า จะแล้วเสร็จปลายเดือน ต.ค. 67 ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สนย. ได้เข้าดำเนินการแก้ไขชั่วคราวมาโดยตลอด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้สัญจร อย่างไรก็ตาม สนย. จะเร่งดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่วางแผนไว้
ส่วนกรณีไฟฟ้าดับในแนวถนนวิภาวดีรังสิตอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่ง สนย. ได้ประสาน ทล. ให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขแล้ว รวมถึงกรณีไฟฟ้าดับในแนวถนนกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยจากการประสาน รฟท. ได้รับแจ้งว่า รฟท. อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อดำเนินการแก้ไข
สำหรับความคืบหน้าการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง LED ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว จำนวน 55,000 ดวง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้ออีก 30,000 ดวง (เฟส 3) คาดว่า จะสามารถเข้าติดตั้งได้ประมาณเดือน ก.ย. 67 จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. นี้


เขตทุ่งครุร่วมหาแนวทางควบคุม-กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ

นายพงค์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ กทม. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครและเกษตรกรในพื้นที่เขตทุ่งครุ พบว่า มีเกษตรกร จำนวน 92 ราย ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรงในบ่อเพาะเลี้ยง และพบปลาหมอคางดำในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติในคลองในพื้นที่เขตทุ่งครุ ซึ่งสำนักงานเขตฯ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครและเกษตรกรได้ร่วมประชุมพิจารณาหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่เขตทุ่งครุ
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้รับคำแนะนำเบื้องต้นจากสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำโดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่คือ การยอปลาขึ้นมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ทำปลาแดดเดียว ทำเป็นอาหารสัตว์ และแนะนำเกษตรกรใช้ตาข่ายกรองน้ำก่อนนำน้ำเข้าบ่อ เพื่อกันลูกปลาและไข่ปลาเข้าบ่อ หากเข้าบ่อแล้วให้วิดน้ำออกและพักบ่อ เพื่อกำจัดไข่และลูกปลาด้วยกากชา ซึ่งได้นำแจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการชุมชนประจำเดือน เพื่อให้รับทราบข้อมูลแล้ว


เขตบางแคเปรียบเทียบปรับผู้ลักลอบทิ้งขยะในซอยชุมชนศิริเกษม 1

นายณรงค์ ตาปสนันทน์ ผู้อำนวยการเขตบางแค กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการกับผู้ลักลอบประกอบกิจการรับทิ้งขยะมูลฝอยโดยไม่ได้รับอนุญาตว่า สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการกับผู้ลักลอบประกอบกิจการรับทิ้งขยะมูลฝอยโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีนำเศษกิ่งไม้ มูลฝอย เศษวัสดุจากการก่อสร้างถมที่ดินในแปลงที่ดินไม่ทราบเลขที่ ในซอยชุมชนศิริเกษม 1 ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้มีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจพื้นที่ที่มีการกระทำความผิด โดยออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 งดนำขยะ หรือเศษวัสดุเข้ามาทิ้งในที่ดินดังกล่าวอีก รวมทั้งได้ตรวจสอบเฝ้าระวังบริเวณอื่น ๆ ที่อาจมีการลักลอบทิ้งขยะ หรือถมดินแปลงสภาพที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบการกระทำผิดลักลอบทิ้งขยะในที่สาธารณะจะเชิญมาเปรียบเทียบปรับ และประสานสถานีตำรวจท้องที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือภาคประชาชน และกรรมการชุมชนทุกชุมชนช่วยสอดส่องและแจ้งข้อมูลต่อสำนักงานเขตบางแคหากพบการกระทำความผิดในลักษณะข้างต้น

ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตรากวดขันเฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเป็นประจำทุกวัน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันตรวจตราสอดส่องหากพบการกระทำความผิดให้แจ้งฝ่ายเทศกิจ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ ส่วนแนวทางป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในที่ดินว่างเปล่า สำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือเชิญเจ้าของ หรือผู้ดูแลที่ดินที่มีการลักลอบทิ้งขยะมาพบ เพื่อแจ้งให้ปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายหากมีเจตนาฝ่าฝืน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการมาทิ้งขยะอีก รวมทั้งได้ติดประกาศห้ามไม่ให้ทิ้งขยะบริเวณดังกล่าว และได้ว่ากล่าวตักเตือนผู้กระทำผิด พร้อมให้แก้ไขให้เรียบร้อย หากไม่แก้ไขให้เรียบร้อย สำนักงานเขตฯ จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ต่อไป

นอกจากนั้น ได้รณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจ จิตสำนึก และความร่วมมือของประชาชนในการทิ้งขยะให้เป็นที่ หรือในสถานที่ที่จัดไว้ให้ เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งได้ประกาศและติดป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนในพื้นที่ทราบถึงการทิ้งขยะในสถานที่ที่จัดไว้ให้ หากประชาชนต้องการทิ้งขยะให้ติดต่อมาชำระค่าธรรมเนียม สอบถามได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตฯ ในกรณีมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เป็นจุดลักลอบทิ้งขยะ สำนักงานเขตฯ ได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการล้อมรอบพื้นที่ด้วยวัสดุเหลือใช้ เพื่อไม่ให้บริเวณดังกล่าวมีการลักลอบทิ้งขยะ ทั้งนี้ หากประชาชนในพื้นที่เขตบางแคจะถมที่ในที่ดินของตนเองต้องมายื่นขออนุญาตที่ฝ่ายโยธา เพื่อขอใบอนุญาตถมดิน จึงจะสามารถถมดินในที่นั้น ๆ ได้ หรือหากผู้ประกอบการจะดำเนินกิจการรับกำจัดมูลฝอย ซึ่งได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการรับทำการเก็บ และขนมูลฝอย จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก่อนประกอบกิจการ ได้ที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตฯ


เขตพระนครกวดขันคนไร้บ้านหลับนอนในที่สาธารณะ-เร่งปรับปรุงประปาแม้นศรีเป็นที่พักกลุ่ม Homeless

นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบคนเร่ร่อนอาศัยหลับนอนบริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพิ่มขึ้นว่า สำนักงานเขตฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่กวดขันคนไร้บ้านที่ใช้ที่สาธารณะในการหลับนอน เช่น สวนสาธารณะ เชิงสะพาน บนสะพานลอย หรือมุมอับต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อสายตานักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่สัญจรผ่าน หรือใช้ทางเท้า ซึ่งเป็นการแก้ไขในระยะสั้น ส่วนการแก้ไขในระยะกลาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ได้ลงพื้นที่สำรวจและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยใช้พื้นที่บริเวณใต้สะพานปิ่นเกล้าเป็นจุด Drop In ให้บริการด้านสุขอนามัย บริการด้านวิชาชีพระยะสั้น บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่บัตรหาย ส่วนการแก้ไขระยะยาว หรือในอนาคต สพส. อยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่พักคนไร้บ้านที่ประปาแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งจุดดังกล่าวจะให้ที่พักและบริการอื่น ๆ ข้างต้น รวมถึงเป็นศูนย์รวมการให้ความช่วยเหลือกลุ่ม Homeless แบบครบวาระ

ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. เช่น พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ตลอดจนเพิ่มความถี่ล้างทำความสะอาดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยบังคับการใช้กฎหมายเข้มงวดกับผู้ที่ทำให้ที่สาธารณะสกปรก หรือนอนในทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ สามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำผิดได้ มาตรา 37 ปรับไม่เกิน 500 บาท โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ และฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย รวมทั้งได้กำหนดแผนการล้างทำความสะอาดทุกพื้นที่และจะเพิ่มรอบจากเดิมอย่างต่อเนื่องในจุดที่มีการรวมตัวของคนไร้บ้าน อาทิ ถนนราชดำเนิน ถนนอัษฎางค์ เป็นต้นเขตพระนครกวดขันคนไร้บ้านหลับนอนในที่สาธารณะ-เร่งปรับปรุงประปาแม้นศรีเป็นที่พักกลุ่ม Homeless

นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบคนเร่ร่อนอาศัยหลับนอนบริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพิ่มขึ้นว่า สำนักงานเขตฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่กวดขันคนไร้บ้านที่ใช้ที่สาธารณะในการหลับนอน เช่น สวนสาธารณะ เชิงสะพาน บนสะพานลอย หรือมุมอับต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อสายตานักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่สัญจรผ่าน หรือใช้ทางเท้า ซึ่งเป็นการแก้ไขในระยะสั้น ส่วนการแก้ไขในระยะกลาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ได้ลงพื้นที่สำรวจและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยใช้พื้นที่บริเวณใต้สะพานปิ่นเกล้าเป็นจุด Drop In ให้บริการด้านสุขอนามัย บริการด้านวิชาชีพระยะสั้น บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่บัตรหาย ส่วนการแก้ไขระยะยาว หรือในอนาคต สพส. อยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่พักคนไร้บ้านที่ประปาแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งจุดดังกล่าวจะให้ที่พักและบริการอื่น ๆ ข้างต้น รวมถึงเป็นศูนย์รวมการให้ความช่วยเหลือกลุ่ม Homeless แบบครบวาระ

ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. เช่น พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ตลอดจนเพิ่มความถี่ล้างทำความสะอาดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยบังคับการใช้กฎหมายเข้มงวดกับผู้ที่ทำให้ที่สาธารณะสกปรก หรือนอนในทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ สามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำผิดได้ มาตรา 37 ปรับไม่เกิน 500 บาท โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ และฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย รวมทั้งได้กำหนดแผนการล้างทำความสะอาดทุกพื้นที่และจะเพิ่มรอบจากเดิมอย่างต่อเนื่องในจุดที่มีการรวมตัวของคนไร้บ้าน อาทิ ถนนราชดำเนิน ถนนอัษฎางค์ เป็นต้น


เขตวังทองหลางสั่งหยุดรื้อถอนอาคารสูงบริเวณตลาดโชคชัย 4 จนกว่าจะปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยให้ครบถ้วน
นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง กทม. กล่าวถึงการตรวจสอบการรื้อถอนอาคารสูงบริเวณตลาดโชคชัย 4 ใกล้สะพานลอยคนข้ามริมถนนลาดพร้าวว่า การรื้อถอนอาคารบริเวณริมถนนลาดพร้าว บริเวณตลาดโชคชัย 4 เป็นการรื้อถอนตามใบอนุญาตเลขที่ ขวท. 67/2567 โดยรื้อถอนอาคารตึกแถว 3 ชั้น 5 คูหา และตึกแถว 4 ชั้น 8 คูหา ใบอนุญาตเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 67 สิ้นสุดวันที่ 18 มี.ค. 68 โดยฝ่ายโยธาได้ตรวจสอบพบว่า การรื้อถอนดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ข้อ 26 มีการกั้นรั้วทึบชั่วคราว ความสูงไม่เกิน 2 เมตร ไม่ครบตลอดแนว ด้านที่ติดกับถนนสาธารณะ และข้อ 28 ในด้านที่ติดกับถนนสาธารณะ มีการรื้อถอนผนังอาคารด้านนอกสุดที่สูงกว่าพื้นดิน 8 เมตร โดยไม่จัดให้มีแผงรับวัสดุป้องกันการ่วงหล่นตลอดแนว สำนักงานเขตฯ จึงได้สั่งให้หยุดการรื้อถอนอาคารลงจนกว่าจะปรับปรุงมาตรการให้ครบถ้วน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200