ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 (11 ม.ค.66) : นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาจัดสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครให้มีความเหมาะสม และได้ขอเสนอให้รวมญัตติของนางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาการติดตั้งลิฟต์โดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เนื่องจากทั้ง 2 ญัตติเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาพร้อมกัน
นายสุรจิตต์ กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครหลายแห่งมีสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาของโรงเรียนและคุณภาพชีวิตของนักเรียน อาทิ โรงเรียนบางแห่งยังมีการใช้ถังพักน้ำดื่มใต้ดิน น้ำไม่สะอาด มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินอาหารได้ กรุงเทพมหานครควรติดตั้งถังพักน้ำดื่มบนดินหรือตู้กดน้ำอัตโนมัติเพื่อสุขอนามัยของนักเรียนให้ได้ดื่มน้ำที่สะอาด โดยจะต้องมีการล้างทำความสะอาดถังพักน้ำดื่มอย่างสม่ำเสมอ และมีการติดตั้งสายดินป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว บางโรงเรียนที่มีการติดตั้งลิฟต์โดยสารอาคารเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกกับครูและนักเรียน แต่ใช้งานไม่ได้เนื่องจากมีปัญหาการทรุดตัวของลิฟต์จอดไม่เสมอระดับชั้นอาคาร เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กรุงเทพมหานครควรมีการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนทดแทนให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
นอกจากนี้ อาคารเรียนของโรงเรียนบางแห่งที่ก่อสร้างมานานมีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของนักเรียนและทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ซึ่งโรงเรียนได้ทำการจำหน่ายอาคารเพื่อของบประมาณก่อสร้างอาคารหลังใหม่แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ในขณะเดียวกันได้ทำการรื้อถอนอาคารหลังเดิมไปแล้ว จึงทำให้อาคารเรียนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน กรุงเทพมหานครควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ
ซึ่งสภาพแวดล้อมถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โรงเรียนที่มีห้องเรียน อาคารเรียนที่มั่นคง สะอาด ทำให้นักเรียนดำเนินชีวิตอยู่ในสถานศึกษาได้อย่างมีความสุข ปลอดภัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะส่งผลถึงความสำเร็จในการเรียนด้วย ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาจัดสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครให้มีความเหมาะสม
“จากการติดตามปัญหาสถานศึกษาในสังกัดกทม. 437 แห่ง พบว่า ห้องน้ำหลายแห่งใช้การไม่ได้ รั่วซึม ตู้กดน้ำเย็นไม่ได้มาตรฐาน ชำรุด หรือมีจำนวนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ซึ่งสำนักงานเขตแจ้งว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอในการซ่อมแซม โรงอาหาร ฝ้าอาคารเรียนชำรุด จำเป็นต้องใช้เงินบริจาคในการดำเนินการซ่อมแซม การก่อสร้างอาคารเรียนใหม่แต่รูปแบบของอาคารยังเป็นแบบเดิม ไม่ทันสมัยและใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ลิฟต์โดยสารที่ก่อสร้างแล้วแต่ยังไม่มีการใช้งาน จากการตรวจสอบพบว่า มีโรงเรียนในสังกัดกทม.ที่มีลิฟต์ จำนวน 16 แห่ง โดยเป็นการก่อสร้างตั้งแต่ปี 54 สำนักการโยธาได้ดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างอาคารลิฟต์ พบว่า ต้องเสริมฐานรากและดีดอาคารขึ้น จำนวน 9 โรงเรียน ต้องซ่อมรอยแตกร้าวตามสภาพ จำนวน 7 โรงเรียน และสามารถใช้งานได้จริงเพียงแค่ 5 แห่ง หรือคิดเป็น 31% โดยโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนที่มีเด็กเรียนร่วมที่เป็นเด็กพิเศษและพิการ ต่อมารองผู้ว่าฯ (นายจักกพันธุ์ ผิวงาม) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อปี 61 จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งงบประมาณของโรงเรียนแต่ละแห่งจะมีงบประมาณปรับปรุง แห่งละ 500,000 บาท แต่เนื้องานจะทำได้ภายใต้เกณฑ์ที่มีอยู่ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ทุกจุด ซึ่งในเรื่องนี้ต้องแก้ไขโดยด่วน” นายสุรจิตต์ กล่าว
นางสาวภัทราภรณ์ กล่าวว่า โรงเรียนวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ เป็นโรงเรียนเล็กที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – ประถม 6 ตัวอาคารลิฟต์ได้รับการก่อสร้างเป็นหอคอยสูง 5 ชั้น แล้วติดเพิ่มไปกับอาคารเรียนเดิม แต่ขณะนี้พบว่าอาคารลิฟต์ทรุดตัว อาจจะเป็นอันตรายต่อครู นักเรียน และบุคลากร จากการตรวจสอบพบว่าอาคารลิฟต์นี้อยู่ในโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือโรงเรียนร่วม ซึ่งได้ดำเนินการทำสัญญาจ้างใน 53 และเป็นเพียงโรงเรียนเดียวที่ไม่มีการโอนทรัพย์สิน ครุภัณฑ์ หรืออาคารนี้จากสำนักการศึกษา เนื่องจากคณะกรรมการตรวจรับในขณะนั้นเห็นว่าผู้รับเหมาทำไว้ไม่เรียบร้อย มีการร้องเรียนจากวัดสร้อยทองให้เร่งรัดการก่อสร้าง ประกอบกับตัวอาคารเริ่มมีรอยร้าว จากนั้นผู้รับเหมาทิ้งงาน กทม.จึงได้ยกเลิกสัญญาจ้าง และได้มีการว่าจ้างผู้รับเหมาใหม่ หลังจากส่งมอบงานได้ระยะหนึ่ง พบว่ามีเศษปูนหล่นจากช่วงรอยต่อตลอดเวลา อาคารลิฟต์มีลักษณะเอียงออกจากตึกอาคารเรียน จึงได้ให้ฝ่ายโยธาสำนักงานเขตบางซื่อเข้าทำการตรวจสอบ ผลการตรวจสอบในปี 59 พบว่า อาคารเอียงและแตกร้าวมากที่สุดที่ชั้น 5 ต่อเนื่องถึงชั้น 2 เนื่องจากฐานรากทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง จากรายงานฉบับนี้การแก้ไขต้องดำเนินการเสริมเสาเข็มและทำฐานรากทดแทนใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่การแก้ไขจะไม่สำเร็จและไม่คุ้มค่า ทางเขตจึงเห็นควรให้รื้อถอนอาคารลิฟต์นี้ออก ต่อมาในปี 61
“ระยะเวลาของโครงการนี้ล่วงเลยมากว่า 16 ปี ตนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์ของบุลากรและนักเรียนในร.ร. และผู้ปกครองที่ต้องมีความวิตกกังวล ถือว่าเป็นขมขื่นและจุดตกต่ำหากเราไม่แก้ไขสักที จึงขอใช้พื้นที่สภากทม.แห่งนี้เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ตั้งงบประมาณในการแก้ไขเพื่อความปลอดภัยของครู บุคลากร และนักเรียนกว่า 381 ชีวิตในร.ร.” ส.ก.ภัทราภรณ์ กล่าว
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า ในพื้นที่ดอนเมืองมีร.ร.ประชาอุทิศที่มีลิฟต์ลักษณะนี้เช่นกัน จากการพูดคุยกับผอ.ร.ร. พบว่าอาคารลิฟต์นี้เจตนาคือการอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กพิเศษ ถึงแม้ลิฟต์จะไม่ได้ทรุดตัวเหมือนร.ร.วัดสร้อยทอง แต่ในปี 54 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่เขตดอนเมือง ตัวร.ร.และลิฟต์ก็จมอยู่ในน้ำด้วย จากนั้นก็ไม่มีการใช้ลิฟต์ตัวนี้เลย ดังนั้นการใช้งบประมาณเพื่อดูแลการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ การที่ลิฟต์ไม่สามารถใช้งานได้ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า จึงขอให้ฝ่ายบริหารได้เร่งรัดดำเนินการปัญหาเรื่องนี้
จากนั้นนางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.บางกอกใหญ่ ได้ร่วมอภิปรายปัญหาความไม่ปลอดภัยของลิฟต์โดยสารในโรงเรียน เพื่อสนับสนุนในญัตตินี้
*ผู้ว่าฯชัชชาติ รับปากเร่งแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในร.ร.สังกัดกทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุด หากเด็กมีพื้นฐานที่ดี มีการศึกษาที่ดีจะทำให้เขาสามารถพัฒนาได้ดีกว่ารุ่นพ่อ รุ่นแม่ได้ มีสุขภาพที่ดี ไม่เสียเวลาในการเจ็บป่วย และสามารถเล่าเรียนได้อย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดัน ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารยังไม่เคยได้เห็นข้อมูลมาก่อน เห็นแล้วตกใจ และจะรีบดำเนินการเนื่องจากเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ และมองข้ามไม่ได้ ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจำนวนมากที่เป็นเด็กพิเศษที่ต้องใช้วีลแชร์ ลิฟต์นี้ไม่ใช่แค่อันตราย แต่ยังทำให้เด็กจำนวนมากไม่มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาได้ รวมถึงการพัฒนาห้องน้ำ ซึ่งกทม.จะเรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเนื่องจากเด็กเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่ส.ก.ได้ยื่นญัตติ ว่า เรื่องของการปรับปรุงอาคารได้เปิดให้เขตได้ยื่นรายละเอียดเพื่อขอจัดสรรงบกลางปี 66 นี้แล้ว เรื่องถังพักน้ำใต้ดิน กทม.ได้ยกเลิกตั้งแต่ปี 56 ขณะนี้ทุกร.ร.ได้ใช้ถังสแตนเลสพักน้ำบนดินแทน กรณีลิฟต์ 21 แห่ง ที่ได้รับงบประมาณตั้งแต่ปี 53 ขณะนี้มี 15 แห่ง ที่ต้องปรับแก้ไข จะกำชับให้เขตเร่งสำรวจ และจัดสรรงบในส่วนที่ต้องดำเนินการรื้อถอน เพื่อความปลอดภัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค. นี้