กทม. ประสาน กฟน. เร่งซ่อมขอบฝาบ่อท่อร้อยสายไฟบน ถ.สาทรและ ถ.พระราม 3
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนขอให้ กทม. ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซ่อมแซมขอบบ่อฝาท่อร้อยสายไฟบนถนนสาทรและถนนพระราม 3 เนื่องจากถนนมีสภาพชำรุดว่า สนย. ได้ตรวจสอบผิวจราจรบริเวณถนนสาทรและถนนพระรามที่ 3 พบว่า มีความชำรุดของฝาบ่อพักงานก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. โดยมีการปิดฝาบ่อด้วยแผ่นคอนกรีตชั่วคราว เพื่อเปิดทำงานในเวลากลางคืนและปิดในเวลากลางวัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สัญจร ซึ่งบริเวณรอยต่อของแผ่นและระดับของฝาบ่อไม่เรียบเสมอผิวจราจร สนย. จึงประสาน กฟน. เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนแล้ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจร นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สนย. ได้ประสานและลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคเป็นระยะ โดยกำชับให้เข้มงวดตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างตามคู่มือและเงื่อนไขในใบอนุญาต เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
กทม. เร่งตรวจสอบความแข็งแรงต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะรองรับสถานการณ์ลมพายุ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนจากอิทธิพลของร่องมรสุมถึงวันที่ 17 ก.ค. นี้ว่า สสล. ได้ประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงดังกล่าวไว้แล้ว โดยแจ้งเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่สีเขียวของ กทม. ทั้งการดูแลระวังต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะที่อาจได้รับผลกระทบจากลมพายุ โดยให้สำนักงานเขต 50 เขต ที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้บนถนนสายหลัก สายรอง ทางเท้า และสวนหย่อม สวน 15 นาที สวนสาธารณะขนาดใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบสวนสาธารณะ และต้นไม้บนถนนสายสำคัญ โดยให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกตรวจตราพื้นที่ในความรับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นไม้บนถนน ทางเท้า และที่สาธารณะ หากพบความเสี่ยงต่อการหักโค่น หรือพายุลมกระโชกแรงให้ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งผุ ตรวจสอบลำต้น หาร่องรอยการเข้าทำลายของแมลง และตัดแต่งต้นไม้ตามหลักวิชาการและงานรุกขกรรม และให้เร่งสำรวจประเมินความเสี่ยงของต้นไม้เพิ่มเติมกรณีอาจมีพายุลมแรงในเวลาอันใกล้ โดยตัดแต่งกิ่งต้นที่ทรงพุ่มหนาทึบต้านลม เพื่อแก้ไขทรงพุ่มต้นไม้ใหญ่โดยตัดสางโปร่งให้ลมพัดผ่านได้ ลดการฉีกหัก โค่นล้ม รวมถึงจัดเตรียมหน่วยเร่งด่วน 24 ชม. แก้ไขเหตุต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนนสายสำคัญในความรับผิดชอบ และแจ้งให้สำนักงานเขต 50 เขต จัดหน่วยเร่งด่วน จัดเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุต้นไม้หักโค่น 24 ชม. พร้อมเครื่องมือ และยานพาหนะ ออกปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนน หรือหักโค่นทับบ้านเรือนประชาชนได้ทันทีที่เกิดเหตุ เพื่อเร่งเปิดการจราจรให้ประชาชนสัญจรผ่าน หรือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้เร็วที่สุด ตลอดจนซักซ้อมแผนการช่วยเหลือฉุกเฉินและการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปฏิบัติการ เช่น สถานีตำรวจพื้นที่ สำนักสิ่งแวดล้อม และสถานีดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ หากเกิดเหตุต้นไม้หักโค่นจากพายุลมแรงกีดขวางถนนในที่สาธารณะ ถนน หรือในย่านชุมชน
นอกจากนี้ หากประชาชนพบเห็นต้นไม้ในที่สาธารณะที่อาจเสี่ยงต่อการหักโค่นจากพายุลมกระโชกแรงสามารถแจ้งข้อมูลและพิกัดต้นไม้ได้ในระบบ Traffy Fondue ทาง https://citydata.traffy.in.th/ และหากประชาชน มีความประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ โดยมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่กรุงเทพมหานครกำหนด
กทม. แจงไม่ได้เลือกปฏิบัติการรื้อย้ายบ้านเรือนรุกล้ำคลองเปรมฯ กันพื้นที่สร้างเขื่อนบ้านมั่นคงตามแผนแม่บท
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์สำนักการระบายน้ำ กทม. มีโครงการสร้างเขื่อนริมคลอง ซึ่งมีแนวทางดำเนินการขัดแย้งกับโครงการบ้านมั่นคง โดยไม่ดำเนินการรื้อถอนบ้านเรือนชุมชนที่รุกล้ำพื้นที่ริมคลอง แต่ยื่นข้อเสนอให้รื้อถอนเฉพาะบ้านที่กีดขวางโครงการฯ ว่า ปัญหาการบุกรุกแนวเขตคลองสาธารณะเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคุณภาพชีวิต และทางอ้อม เช่น ปัญหาน้ำท่วม จากปัญหาดังกล่าวและน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 55 เห็นชอบข้อเสนอการบริหารจัดการสิ่งรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กทม. ร่วมกันดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่บุกรุกลำน้ำสาธารณะ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พิจารณาจัดหาที่พักอาศัยถาวรให้กับผู้บุกรุก ซึ่งในระยะเร่งด่วนได้กำหนดคลองสำคัญที่มีปัญหาการรุกล้ำ ได้แก่ คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองลาดพร้าว คลองสอง คลองเปรมประชากร คลองพระยาราชมนตรี คลองสามวา คลองลาดบัวขาว คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระโขนง โดยเริ่มดำเนินการที่คลองลาดพร้าวเมื่อปี 2559 ได้พัฒนาคลองเปรมประชากรในปี 2562 และขณะนี้ สนน. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม/น้ำเน่าเสีย พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนริมคลอง และพัฒนาด้านการเดินทางเชื่อมต่อล้อ-ราง-เรือ โดยคลองเปรมประชากรในพื้นที่ช่วงจากสุดเขตกรุงเทพฯ ถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาวคลองประมาณ 13 กิโลเมตร (อยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร) มีปัญหาบ้านรุกล้ำ 4,398 หลัง ซึ่งในการดำเนินการจะต้องรื้อย้ายบ้านรุกล้ำ เพื่อให้ สนน. ก่อสร้างเขื่อน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมเจรจาสร้างความเข้าใจกับผู้รุกล้ำ เพื่อให้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง เมื่อโครงการมีความคืบหน้าถึงขั้นตอนการรื้อย้ายบ้านรุกล้ำ สนน. จะแจ้งผู้รับจ้างให้เข้าพื้นที่ เพื่อก่อสร้างเขื่อน
อย่างไรก็ตาม การรื้อย้ายบ้านรุกล้ำดังกล่าวมีความล่าช้ากว่าแผนงานมาก เนื่องจากมีผู้รุกล้ำจำนวนมากที่ไม่ให้ความร่วมมือ โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันสามารถรื้อย้ายบ้านรุกล้ำได้ 1,232 หลัง จากทั้งหมด 4,398 หลัง (คิดเป็นร้อยละ 28) ซึ่งบริเวณที่มีการระบุข้างต้น คือ บริเวณชุมชนเปรมสุขสันต์และชุมชนมิตรประชา เขตหลักสี่ โดยที่ชุมชนมิตรประชา (ฝั่งตรงข้ามชุมชนเปรมสุขสันต์) ได้รื้อย้ายบ้านรุกล้ำ ความยาวประมาณ 150 เมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างบ้านมั่นคง แต่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อน เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนต้องนำเครื่องจักรลงไปทำงานก่อสร้างในคลอง แต่คลองเปรมประชากรบริเวณดังกล่าวมีสภาพแคบ ความกว้างไม่พอที่จะให้โป๊ะและเครื่องจักรลงไปทำงานก่อสร้างได้ สนน. จึงได้เจรจากับชาวชุมชนเปรมสุขสันต์ขอรื้อบ้านรุกล้ำความกว้างประมาณ 5-8 เมตร ตลอดแนวความยาวประมาณ 150 เมตร เพื่อขยายคลองให้เพียงพอที่จะนำโป๊ะและเครื่องจักรลงไปทำงานก่อสร้างและขุดลอกคลองได้ โดยที่ สนน. ไม่ได้แจ้งชาวชุมชนว่า เมื่อสร้างเขื่อนแล้วจะไม่ต้องก่อสร้างบ้านมั่นคงตามที่เป็นข่าว แต่อย่างใด เมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนแล้วยังกันพื้นที่สำหรับการก่อสร้างบ้านมั่นคงตามที่กำหนดในแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร
ทั้งนี้ การก่อสร้างเขื่อนบริเวณดังกล่าวเป็นประโยชน์ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและลดความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ เนื่องจากคลองเปรมประชากร มีสภาพแคบและตื้นเขินมาก ทำให้เป็นปัญหาด้านการระบายน้ำจากถนนแจ้งวัฒนะ รวมถึงปัญหาการระบายน้ำจากคลองเปรมประชากรด้านทิศเหนือลงมา ตั้งแต่ถนนสรงประภา ถนนช่างอากาศอุทิศ จะระบายผ่านจุดนี้ได้ช้า ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ประกอบกับสภาพคลองแคบและตื้นเขิน กทม. จึงยังไม่สามารถเข้าไปก่อสร้างเขื่อนได้ ซึ่งจากการเจรจากับชุมชนเปรมสุขสันต์ได้รับความร่วมมือให้รื้อย้าย เพื่อก่อสร้างเขื่อน โดยชาวชุมชนแจ้งว่า ช่วงฤดูฝนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเนื่องจากระดับน้ำในคลองเปรมประชากรมีระดับสูงทุกปี จึงขอให้ก่อสร้างเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วม และขอให้ซ่อมบ้านส่วนที่ได้รับความเสียหายจากการรื้อย้ายให้ด้วย ต่อมาจึงได้รื้อบ้านรุกล้ำที่กีดขวางแนวก่อสร้างเขื่อนที่ชุมชนเปรมสุขสันต์ ตามที่เป็นข่าว และเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากบ้านมั่นคงที่ พอช. ก่อสร้างก่อนการก่อสร้างเขื่อน เนื่องจากฝั่งตรงข้ามจุดดังกล่าว (ชุมชนมิตรประชา) อยู่ระหว่างการก่อสร้างบ้านมั่นคง หากก่อสร้างบ้านมั่นคงเสร็จก่อน การก่อสร้างเขื่อนภายหลังจะทำให้บ้านมั่นคงเกิดความเสียหายได้
ปัจจุบัน กทม. ได้ประชุมหารือร่วมกับ พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะก่อสร้างเขื่อนและก่อสร้างบ้านมั่นคงพร้อมกัน โดยไม่ก่อสร้างบ้านมั่นคงก่อนการก่อสร้างเขื่อน เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างเขื่อน รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนซึ่งมีโครงสร้างขนาดใหญ่ หากดำเนินการภายหลังอาจเกิดความเสียหายกับบ้านมั่นคง อีกทั้งที่ผ่านมาในพื้นที่ชุมชนตลาดหลักสี่ เขตหลักสี่ กทม. จะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบก่อสร้าง เพื่อให้สามารถก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างบ้านมั่นคงก่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบดังกล่าว ทำให้ค่าก่อสร้างเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 15 ล้านบาท โดยจากการที่ สนน. มีหนังสือถึงชุมชนเปรมสุขสันต์ เพื่อขอเข้าก่อสร้างเขื่อนและจะจัดซ่อมส่วนที่เสียหายจากการรื้อย้ายเป็นการดำเนินการเฉพาะพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อสร้างบ้านมั่นคงก่อนการก่อสร้างเขื่อน และเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ดำเนินการในลักษณะเดียวกันทุกพื้นที่แต่อย่างใด และเพื่อการบริหารสัญญาก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ที่ผ่านมาผู้รับจ้างต้องหยุดงานรอการส่งมอบพื้นที่หลายครั้ง หากผู้รับจ้างต้องหยุดรอการส่งมอบพื้นที่เป็นเวลานานจะมีผลกับการบริหารสัญญา เนื่องจากผู้รับจ้างอาจขอยุติสัญญาก่อสร้างเขื่อน จะทำให้กระทบกับการพัฒนาคลองเปรมประชากร ปัจจุบันผู้รับจ้างได้ก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ส่งมอบแล้วเสร็จทั้งหมดและหยุดรอการรื้อย้ายบ้านรุกล้ำ เพื่อส่งมอบพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแผนรื้อย้ายที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กทม. ได้เร่งรัดผู้รับจ้างดำเนินการขุดลอกคลองในพื้นที่ที่รื้อย้ายบ้านรุกล้ำแล้วพร้อมกับการก่อสร้างเขื่อน ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่สามารถรื้อย้ายได้และติดปัญหาบ้านรุกล้ำทั้งสองฝั่ง กทม. ได้เปิดทางน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม แต่เนื่องจากสภาพคลองที่แคบและตื้นเขิน การเปิดทางน้ำทำได้จำกัด หากเปิดทางน้ำกว้าง หรือลึก อาจเกิดความเสียหายกับบ้านรุกล้ำริมคลองได้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่สามารถรื้อย้ายและก่อสร้างเขื่อนพร้อมกับบ้านมั่นคงได้ กทม. จะเร่งก่อสร้างเขื่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับการก่อสร้างบ้านมั่นคง ส่วนพื้นที่ที่รื้อย้าย เพื่อก่อสร้างเขื่อนแล้วต้องรื้อย้ายและจัดระเบียบที่อยู่อาศัย พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองต่อไป
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร จากสุดเขตกรุงเทพฯ ถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ มีการดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร 4 ช่วง (ณ วันที่ 10 ก.ค. 67) ดังนี้ ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ถึงบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล (อยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง) ความยาว 581 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค. 62 ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพฯ ถึงคลองบ้านใหม่ และจากบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ถึงสรงประภา อยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งโครงการ 5,000 เมตร มีบ้านรุกล้ำ 5 ชุมชน ส่งมอบพื้นที่ได้ความยาวรวม 1,190 เมตร (คิดเป็นร้อยละ 23.80) ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 980 เมตร มีผลงานความก้าวหน้าการก่อสร้างเขื่อนร้อยละ 19.60 (3) ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ อยู่ในพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตหลักสี่ พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งโครงการ 10,000 เมตร มีบ้านรุกล้ำ 14 ชุมชน ส่งมอบพื้นที่ได้ความยาวรวม 3,250 เมตร (คิดเป็นร้อยละ 32.50) ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 2,420 เมตร มีผลงานรวมทั้งโครงการประมาณ ร้อยละ 23.85 และช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ อยู่ในพื้นที่เขตหลักสี่และเขตจตุจักร พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งโครงการ 10,700 เมตร มีบ้านรุกล้ำจำนวน 13 ชุมชน ส่งมอบพื้นที่ ได้ความยาวประมาณ 4,188 เมตร ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 4,188 เมตร (ก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จทั้งหมด) มีความก้าวหน้ารวมทั้งโครงการคิดเป็นร้อยละ 37.64 ซึ่งรวมทั้ง 4 ช่วง จากถนนเทศบาลสงเคราะห์ ถึงสุดเขตกรุงเทพฯ พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งโครงการ 26,160 เมตร มีบ้านรุกล้ำ 32 ชุมชน รื้อย้ายแล้ว 1,232 หลัง จากทั้งหมด 4,398 หลัง ใน 32 ชุมชน (คิดเป็นร้อยละ 28) รวมส่งมอบพื้นที่ ได้ความยาวประมาณ 9,208 เมตร (ร้อยละ 35.20) ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 8,168 เมตร (ร้อยละ 32.24)
เขตราษฎร์บูรณะแจงซ่อมฝาท่อชั่วคราวใน ซ.สุขสวัสดิ์ 26 เปลี่ยนฝาใหม่เรียบร้อยแล้ว
นายดลจิตร์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การซ่อมแซมฝาท่อระบายน้ำภายในซอยสุขสวัสดิ์ 26 ที่นำยางมะตอยมาเท ทำให้เป็นเนินสูง ไม่เรียบเสมอกับผิวจราจร อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สัญจรว่า สำนักงานเขตฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีฝาท่อระบายน้ำชำรุด ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า มีรายการที่จะต้องดำเนินการซ่อมแซม 2 รายการคือ บ่ารองฝาท่อชำรุดและฝาท่อที่บิ่นบริเวณขอบ ส่วนการแก้ไขเจ้าหน้าที่ได้ซ่อมแซมบ่ารองฝาท่อจนเสร็จ แต่เนื่องจากไม่ได้นำฝาท่อใหม่ไปด้วย จึงนำของเดิมปิดไปก่อนแล้วนำยางมะตอยแห้งกลบบริเวณที่เกิดรอยบิ่นเป็นการชั่วคราว เพื่อให้รถสามารถสัญจรผ่านได้ ซึ่งในวันต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำฝาท่อใหม่เปลี่ยนให้เรียบร้อยแล้ว