สภาไฟเขียวยืดเวลาเก็บค่าขยะใหม่อีก 1 ปี ‘ชัชชาติ’ชี้จูงใจให้คนลด-คัดแยกต้นทาง

สภากทม.เห็นชอบขยายเก็บ ค่าธรรมเนียมขยะใหม่ไปอีก 1 ปี ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

รายงานข่าวการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียม การให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด ให้ขยายการบังคับใช้อัตราค่าธรรมเนียมฯ อัตราใหม่ไปอีก 1 ปี โดยจะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง จึงเห็นสมควรปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วย ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการ จัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย จึงจำเป็น ต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ และเห็นควรให้ขยายการเก็บ ค่าธรรมเนียมขยะออกไปอีก 1 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ซึ่งหาก คิดเป็นจำนวนเงินหากยังเก็บอัตราเดิม กรุงเทพมหานคร จะมีรายได้ 169 ล้านบาท หากเก็บในอัตราใหม่จะได้ประมาณ 676 ล้านบาท หากจัดเก็บค่าธรรมเนียม รายปีจาก 20 บาท เป็น 80 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าในเวลานี้ ย่อมส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอนและ ไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนผู้คัดแยกขยะอีกด้วย

สำหรับการปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และสอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาหลักที่แตกต่างระหว่างปี 2546 กับปี 2562 คือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะมีอัตราของปริมาณขยะประกอบด้วย เป็นส่วนสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่ทิ้งขยะจำนวนน้อย ไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือผู้ที่คัดแยกขยะ ต้นทางจากครัวเรือนได้มากกว่า รวมถึงเก็บอัตรา ค่าธรรมเนียม กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีจำนวนขยะมาก ในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอัตราดังกล่าวยังเป็น การส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้คัดแยก ขยะอีกทางด้วย ซึ่งการคาดการณ์รายได้จากการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมใหม่จะทำให้กทม.สามารถจัดเก็บ รายได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น จาก 166 ล้านบาท เป็น 664 ล้านบาท ซึ่งหัวใจของการจัดเก็บ อัตราใหม่นี้ คือจะเก็บเงินกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขยะสู่เมืองในอัตราที่สูงขึ้น และหากใครช่วยคัดแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทางก็จะได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมอย่าง ต่อเนื่อง โดยร่างข้อบัญญัตินี้ไม่ได้ตั้งกรอบระยะเวลาไว้ เนื่องจากต้องการสร้างจิตสำนึกของประชาชนอย่าง ต่อเนื่องและสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าหน้าที่ของกทม.ในการให้บริการประชาชน

“ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครยังไม่มีการบังคับใช้ ข้อบัญญัติดังกล่าว แต่มีโครงการ “ไม่เทรวม” ซึ่งสามารถลดขยะไปได้กว่า 10% จากความร่วมมือของประชาชน ดังนั้น หากเริ่มการบังคับใช้ข้อบัญญัติ ก็คาดการณ์ว่าจะสามารถลดขยะได้ปริมาณมหาศาลและสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครจากการจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมอีกทางด้วย” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สก.เขตจอมทอง นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สก.เขตวัฒนา นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา และ นายพีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท โดยกล่าวว่า ค่าธรรมเนียมฯ เดิม ใช้มาตั้งแต่ปี 2546 แก้ไขในปี 2548 และเลื่อนการพิจารณาเพิ่มค่าธรรมเนียมฯ มา 5 ปีแล้ว จึงต้องการให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครชี้แจงโดยละเอียด เพื่อให้ทราบข้อดีของการเพิ่มค่าธรรมเนียมฯ ครั้งนี้ รวมถึงการพิจารณากฎหมายเพื่อบังคับใช้ควบคุมให้ ครัวเรือนและผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจัดเก็บ ขยะในรูปแบบต่างๆ ให้ครอบคลุมครบถ้วน เนื่องจาก ส่งผลกระทบกับเรื่องงบประมาณ รายได้ประจำปีของ กรุงเทพมหานคร และให้ข้อสังเกตด้วยว่า การเก็บอัตราค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่ถือว่ามีความเหมาะสม และเป็นเรื่องที่ดีเพราะมีการวัดปริมาณขยะในการจัดเก็บเป็น หน่วยลิตรต่อวัน ผู้ที่ทิ้งขยะมากสร้างขยะให้เมืองมากก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง แต่ขอฝากให้พิจารณา ในเรื่องการคำนวณส่วนได้-เสีย จากค่าใช้จ่าย ในการให้บริการให้ถี่ถ้วน รวมถึงตั้งกรอบระยะเวลาของ การสร้างแรงจูงใจจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในอัตรา ดังกล่าวให้ชัดเจน เนื่องจากมีผลกระทบกับงบประมาณด้านการคลัง รวมถึงให้มีการประเมินผล และตรวจสอบประโยชน์ว่าประชาชนคัดแยกขยะจากต้นทางเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

 

บรรยายใต้ภาพ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.

สุทธิชัย วีรกุลสุนทร สก.จอมทอง

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 12 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200