จุดไหนตก-ท่วมเกิน2ชม.แจ้งกทม.ได้ทันที
รองผู้ว่าฯกทม. นำคณะตรวจจุดเสี่ยง น้ำท่วม ย้ำความพร้อมรับฝนหนักปีนี้ ต้องดีขึ้นแน่
วันที่ 11 ก.ค. 2567 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำสำนักการระบายน้ำ และสำนักการโยธา ลงพื้นที่ตรวจติดตาม การแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร
“จากการถอดบทเรียนน้ำท่วมจากฝนตกหนักในปี 2565 มีจุดเสี่ยง น้ำท่วม 617 จุดเกิดจากน้ำฝน และ 120 จุด เกิดจากน้ำเหนือและน้ำหนุน โดยเอกซเรย์ทุกจุดว่าจะแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้อย่างไร ซึ่งหลายๆ จุดไม่ได้ทำเรื่องเดียวต้องทำหลายด้านเพื่อผลักดันน้ำฝนทั้งหมด ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากผิวถนนลงท่อ ระบายน้ำ ใช้บ่อสูบลงคลองไปลงแม่น้ำ จึงต้องทำทั้งขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ทำเขื่อนปิดล้อมเนื่องจากกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ต่ำ เพิ่มกำลังบ่อสูบเร่งระบายน้ำ จากท่อลงคลองให้เร็วขึ้น การขยายท่อเดิม หรือทำ Pipe jacking ช่วยในบางจุด ที่ลงตรวจ 8 จุดวันนี้จะเห็นภาพรวมว่า เราทำอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งทั้ง 8 จุดนี้เป็นจุดสำคัญและมีบริบทต่างกันการแก้ปัญหาจะไม่เหมือนกัน มีทั้งขอความร่วมมือใช้พื้นที่ของทางราชการ ทำงานร่วมกับเอกชน ส่วนปริมาณฝนที่จะตกกรม อุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าครึ่งปีหลัง จะมีฝนมาก กันยายนนี้น่าจะมีฝนหนัก ความพร้อมในการรับมือฝนในปีนี้ ต้องดีขึ้นแน่ ทุกจุดน้ำต้องระบายได้ดีขึ้น ถ้ามีจุดไหนแย่ลงหรือฝนตกมีน้ำท่วมเกิน 2 ชม. ให้แจ้งเข้ามาได้เลย” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว
สำหรับการลงพื้นที่จุดเสี่ยง น้ำท่วม ประกอบด้วย จุดที่ 1 ถนนศรีอยุธยา บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนศรีอยุธยา และถนนพระรามที่ 6 (Pipe jacking) ดันท่อลอดใต้ดินช่วยระบายน้ำไปจุดพักที่บ่อสูบส่งต่อไปลงคลองสามเสนและบึงมักกะสัน (เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 งบประมาณรวม 960 ล้านบาท ผลการ ดำเนินการ 90% กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค. 2567) จุดที่ 2 ถนนพระรามที่ 9 บริเวณแยก อสมท ตรวจสอบการ ก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนพระรามที่ 9 ตอนลำรางแยก อสมท เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำท่วมซอยทวีมิตร ร่วมกับเอกชนเนื่องจากเป็นพื้นที่เอกชน (ดำเนินการแล้วเสร็จ) จุดที่ 3 ถนนรัชดาภิเษก ช่วงบริเวณหน้าศาลอาญา ติดตามความ ก้าวหน้าการก่อสร้างท่อลอดถนนรัชดาภิเษก และแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ (ผลการดำเนินการ 90% กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค. 2567) จุดที่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงวงเวียนบางเขน เยี่ยมชมการใช้งาน แก้มลิงวงเวียนบางเขน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอย 2, 5 (ดำเนินการแล้วเสร็จ)
จุดที่ 5 ทำนบกั้นน้ำคลองลำผักชี ข้างตลาดยิ่งเจริญ ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำทำนบชั่วคราวพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำคลองลำผักชี แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตบางเขน สายไหม และถนนเทพรักษ์ จุดที่ 6 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าอาคาร รัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างบ่อสูบน้ำ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตอนลงคลองบางตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการ (ผลการดำเนินการ 85% กำหนด แล้วเสร็จ ก.ค. 2567) จุดที่ 7 โครงการ ก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10 ) ตรวจสอบงานก่อสร้างและระบบระบายน้ำ รางระบายน้ำ O – Gutter (กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค. 2567) และจุดที่ 8 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณบึงสีกัน ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างแก้มลิง บึงสีกัน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซอยแจ้งวัฒนะ 14 (ผลการดำเนินการ 10% กำหนดแล้วเสร็จ ก.พ. 2568 ระบบชั่วคราวแล้วเสร็จ ส.ค. 2567)
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด สำนักการระบายน้ำมีแผนดำเนินการไปแล้ว 109 จุด และอยู่ ระหว่างดำเนินการในปีนี้อีก 32 จุด ที่เหลือ มีแผนของบประมาณดำเนินการต่อไป รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนริมเจ้าพระยา ที่มีจุดฟันหลอหรือรั่วซืม 120 จุดด้วย
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 12 ก.ค. 2567