Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567

กทม. พัฒนาสุขาภิบาล-ยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี เตรียมจัดมหกรรม “SF Local to Global” 12 ก.ค. นี้

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่า กทม. ได้กำกับและควบคุมการสุขาภิบาลอาหาร โดยอาศัยความร่วมมือของทั้งผู้ค้า เจ้าหน้าที่ สนอ. และสำนักงานเขต ตรวจเฝ้าระวังด้านสุขลักษณะทางกายภาพและคุณภาพอาหารอย่างสม่ำเสมอ โดยเจ้าหน้าที่ สนอ. ได้ตรวจสอบติดตามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. และจัดอบรมให้ความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ตามหลักสูตรที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศกำหนดและหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของ กทม. โดยวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Study) เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนนิเทศติดตามการพัฒนางานสุขาภิบาลอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุม กำกับ ให้ถูกสุขลักษณะ และจำหน่ายอาหารที่สะอาด ปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขต จัดทำแผนพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ในพื้นที่ทำการค้าที่ได้รับอนุญาต 55 จุด (14 สำนักงานเขต) เพื่อให้ผู้ค้าได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านการสุขาภิบาลอาหารที่ กทม. กำหนด อีกทั้งได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย สธ. ขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีในการคัดเลือกพื้นที่อาหารริมบาทวิถี และเน้นพัฒนาด้านสุขาภิบาลอาหาร ด้านโภชนาการ ส่งเสริมการไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และพื้นที่โปร่ง/จัดที่นั่งบริการ และพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมเมนูชูสุขภาพ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส แสดงอัตลักษณ์ เมืองสร้างสรรค์อาหารให้เป็นที่รู้จักระดับโลก โดยมีแบบประเมินการสุขาภิบาลอาหาร SAN Plus “Street Food Good Health” ในมิติ : ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านวัฒนธรรม โดย กทม. กำหนดจัดมหกรรมขับเคลื่อนโยบายยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี SF Local to Global ในวันที่ 12 ก.ค. 67 บริเวณพื้นที่ทำการค้า ซอยอารีย์ เขตพญาไท ส่วนร้านจำหน่ายอาหาร และ Street food ย่านเยาวราช ซึ่งมีอัตลักษณ์ของพื้นที่และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สนอ. จะได้ประสานสำนักงานเขต สัมพันธวงศ์และสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อพัฒนาสุขลักษณะของแผงค้า สุขอนามัยของผู้จำหน่ายอาหาร ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของพื้นที่ และความสะอาดของอาหาร ให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวต่อไป

ทั้งนี้ กทม. ได้ออกข้อบัญญัติเรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการประกอบปรุงจำหน่ายอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัย ครอบคลุมทั้งด้านสุขลักษณะของสถานที่ คุณภาพอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และสุขอนามัยส่วนบุคคล รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารพื้นที่กรุงเทพฯ เผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามข้อบัญญัติ กทม. ดังกล่าวและข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การจำหน่ายสินค้าในที่ หรือทางสาธารณะ พ.ศ. 2545 ออกตามความใน พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้จำหน่าย หรือผู้ช่วยจำหน่ายสินค้า สุขลักษณะ การใช้กรรมวิธี การจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง เก็บ หรือสะสมอาหาร หรือสินค้าอื่น รวมทั้งการรักษาความสะอาดของภาชนะ น้ำใช้ และของใช้ต่าง ๆ การจัดวางสินค้าและการเร่ขายสินค้า กำหนดเวลาสำหรับการจำหน่ายสินค้า และการอื่นที่จำเป็น เพื่อการรักษาความสะอาดและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรำคาญและการป้องกันโรคติดต่อ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการควบคุมการจำหน่ายสินค้าในที่ หรือทางสาธารณะ

เขตคลองเตยประสาน สน. ทองหล่อกวดขันไรเดอร์จอดรถหน้าร้านค้าในซอยสุขุมวิท 26

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวกรณีประชาชนในซอยสุขุมวิท 26 ได้รับความเดือดร้อนจากการจอดรถจักรยานยนต์หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวในซอยว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานแจ้งสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ ดำเนินการตรวจสอบกวดขันกรณีไรเดอร์จอดรถจักรยานยนต์บริเวณผิวจราจรหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวรุ่งเรืองในซอยสุขุมวิท 26 กีดขวางการสัญจรของประชาชน รวมทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจสอบจัดระเบียบไรเดอร์และลูกค้าที่มายืนรอบริเวณทางเท้าด้านหน้าร้านก๋วยเตี๋ยว พร้อมทั้งประสานเจ้าของร้านให้จัดที่จอดรถจักรยานยนต์สำหรับไรเดอร์ เพื่อไม่ให้รบกวนประชาชนที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว

เขตสัมพันธวงศ์เดินหน้าจัดระเบียบ-ปรับปรุงภูมิทัศน์-เพิ่มความถี่ล้างถนนและทางเท้าถนนเยาวราช
 
นายวัลลภ เกียรติศรีวรกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวกรณีข้อวิจารณ์บริเวณริมทางเท้าย่านเยาวราชมีกองขยะ หนู สัตว์พาหะนำโรค และคนไร้บ้านว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดระเบียบและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะและเพิ่มความถี่ล้างทำความสะอาดถนนและทางเท้าบริเวณถนนเยาวราชและพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้จัดเก็บมูลฝอยและทำความสะอาดถนนคนเดินเยาวราช (Yaowaraj Walking Street) ตั้งแต่แยกเฉลิมบุรี – แยกราชวงศ์ทั้งสองฝั่ง ดังนี้ รอบบ่าย ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. รถจัดเก็บขยะทั่วไป แบบอัดขนาด ๒ ตัน จำนวน ๒ คัน (แบ่งฝั่งซ้ายและขวา) จัดเก็บ ๓ รอบ ได้แก่ เวลา ๑๔.๐๐ น. ๑๗.๐๐ น. และ ๑๙.๓๐ น. รถจัดเก็บขยะอินทรีย์ แบบเปิดข้างขนาด ๒ ตัน จำนวน ๑ คัน จัดเก็บ ๑ รอบ เวลา ๑๔.๐๐ น. ส่วนรอบกลางคืน ตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ – ๐๕.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น รถจัดเก็บขยะทั่วไป แบบอัดขนาด ๕ ตัน จำนวน ๒ คัน (แบ่งฝั่งซ้ายและขวา) จัดเก็บ ๑ รอบ เวลา ๒๑.๓๐ น. รถจัดเก็บขยะทั่วไป แบบอัดขนาด ๒ ตัน จำนวน ๑ คัน (ฝั่งซ้าย) และ ๕ ตัน จำนวน ๑ คัน (ฝั่งขวา) จัดเก็บขยะที่ตกค้างหลังจากผู้ค้าเลิกทำการค้า จัดเก็บ ๑ รอบ เวลา ๒๔.๐๐ น. เป็นต้นไป และรถจัดเก็บขยะอินทรีย์ แบบเปิดข้างขนาด ๑.๕ ตัน และรถสามล้อไฟฟ้า จำนวน ๑ คัน จัดเก็บ เวลา ๒๒.๐๐ น.

ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าดูแลรักษาความสะอาดถนนคนเดินเยาวราช (Yaowaraj Walking Street) ทั้งสัปดาห์โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด เพื่อดูแลรักษาความสะอาด ฝั่งละ ๑๐ คน รวม ๒๐ คน ช่วงเวลา ๑๘.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. และเจ้าหน้าที่กวาดทำความสะอาด ช่วงเวลา ๒๒.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. จัดวางถังขยะแยกประเภท ๒ ประเภท (ขยะทั่วไปและขยะรึไซเคิล) ทั้งถนนเยาวราช ฝั่งซ้าย และถนนเยาวราช ฝั่งขวา จำนวน 10 จุด ได้แก่ หน้าร้านสะดวกซื้อปากซอยผดุงด้าว และแยกเฉลิมบุรี หน้าร้านทองโต๊ะกัง สาขาเยาวราช หน้าร้านสะดวกซื้อ โรงแรมโฮเทล รอยัลบางกอก ไขน่าทาวน์ ปากซอยเยาวพานิชย์ บริเวณปากซอยเยาวราช ๔ ซอยเยาวราช ๑๑ หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาเยาวราช ป้ายรถโดยสารประจำทางปากซอยเยาวราช ๑๕ และบริเวณปากซอยเยาวราช
     
นอกจากนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่ล้างทำความสะอาดถนนเยาวราช ตั้งแต่แยกเฉลิมบุรี-แยกราชวงศ์ สัปดาห์ละ ๔ ครั้ง/ สัปดาห์ โดยล้างทำความสะอาดถนนทุกวันจันทร์ ช่วงเวลา ๐๗.๐๐ – ๑๐.๐๐ น. ล้างทำความสะอาดถนนทุกวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ช่วงเวลา ๒๔.๐๐ – ๐๓.๐๐ น. รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณถนนเยาวราช ตกแต่งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติโดยการประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับ พร้อมทั้งติดตั้งไฟประดับมังกร ตัดแต่งซุ้มการะเวกให้มีความสวยงามและไม่บดบังภูมิทัศน์
 
กทม. เขตบางกะปิเร่งแก้ไขฝาท่อระบายชำรุดในซอยรามคำแหง 42 พร้อมช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ

นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บจากฝาท่อระบายน้ำชำรุดในซอยรามคำแหง 42 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้รับเรื่องดังกล่าวผ่านระบบ Traffy Fondue ซึ่งส่งต่อจากสถานีตำรวจนครบาล (สน.) หัวหมาก เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 เวลา 07.30 น. โดยสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาฝาท่อระบายน้ำชำรุดแล้วเสร็จในเวลา 15.28 น. ของวันเดียวกัน รวมทั้งได้ติดต่อกับผู้ได้รับบาดเจ็บ เพื่อสอบถามอาการและความเดือดร้อน โดยทราบว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสิรินธรและปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่ซอยรามคำแหง 40 ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้นัดหมาย เพื่อเข้าเยี่ยมอาการบาดเจ็บต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบ สำรวจ และปรับปรุงแก้ไขฝาท่อระบายน้ำที่อยู่ในความดูแลให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้สัญจรอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม จะได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความแข็งแรงและความปลอดภัยของฝาท่อระบายน้ำ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขหากพบว่า มีการชำรุด เพื่อป้องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200