Search
Close this search box.
คอลัมน์ Life and City: น้องหมาน้องแมวจร จากสิ้นหวังสู่’บ้านใหม่’

 ทาสหมาทาสแมวที่อยากรับหมาแมวจรไปเลี้ยงมอบความรักความอบอุ่น ช่วยเพื่อนสี่ขาได้มีบ้านหลังใหม่เป็นหลังสุดท้ายของชีวิต ตอนนี้ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เปิดโอกาสให้คนกรุงที่สนใจสามารถเข้ามาเล่น ใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับเหล่าหมาแมวจร ทดสอบว่าจะปิ๊งปั๊งหรือเคมีตรงกัน จนตกลงปลงใจพาเข้าบ้าน

การอุปการะหมาแมวจรแทนการซื้อสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ เป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาสัตว์จรจัดที่ได้รับเสียงตอบรับดี เห็นได้จาก Cat Cafe “จิบกาแฟ แลแมว” ในงาน BKK EXPO 2024 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายพาน้องแมวจรจากศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ไปนอนให้คนรักสัตว์จกพุง เกาคาง ที่โซนเมืองปลอดภัยฯ มีเหล่าทาสแมวต่อคิวเข้าไปเอาใจเจ้านายสี่ขารวม 4 วัน มากถึง 1,897 คน และมีการกดไลก์เพจ BKK Adopter และติดตามเพจเป็นพันคน จากเดิมแค่หลักสิบ และมีน้องแมวได้บ้านใหม่ 11 ตัว อย่างน้องมอคค่า น้องวัตสัน น้องเสือ น้องปลาส้ม น้องหมูปิ้ง น้องชบา น้องกุ๊งกิ๊ง น้องชาร์โคล น้องมอมแมม และแมวจากชมรมรักสัตว์โอซีดี น้องวิตตองและน้องเบอร์รี่

แต่ก็ยังมีเด็กๆ ที่เฝ้ารอบ้านที่อบอุ่นอีกกว่า 60 ตัว ในศูนย์ฯ ประเวศ ใครมีความพร้อมทั้งเรื่องของบ้านที่มีรั้วรอบปลอดภัย มีพื้นที่เพียงพอ มีอาชีพและรายได้มั่นคง สมาชิกทุกคนในครอบครัวเห็นชอบ มีความรู้เบื้องต้นในการเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญมีจิตใจเมตตาและรักสัตว์ มีความรับผิดชอบเลี้ยงดูตลอดอายุขัยของสัตว์เหล่านี้แวะไปส่องได้

นสพ.ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ ผู้อำนวยสำนักงานสัตวแพทย์ สาธารณสุข กทม. เผยว่า จากรายงานปี 2566 จำนวนสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีมากกว่าแสนตัว แบ่งเป็นหมาจร 30-40% และแมวจร 60% มีการร้องเรียนปัญหาหมาแมวจรผ่านแอป Traffy Fondue ของ กทม. แบ่งเป็นหมาแมวจรก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ดุร้ายกัดคน และให้ทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตาม กทม. โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีนโยบายดูแลจัดระเบียบสัตว์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้นทาง ป้องกันไม่ให้มีการทิ้งเป็นสัตว์จรจัดผ่านกฎหมายและข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข ฝ่าฝืนมีโทษปรับ อีกทั้งมีการจดทะเบียนสุนัขด้วยวิธีฝังไมโครชิป ปัจจุบันมีน้องหมาที่ฝังไมโครชิปแล้วกว่าแสนตัว อยากชวนเจ้าของนำสุนัขมาจดทะเบียน กรณีหมาพลัดหลงสามารถตามหาเจ้าของ ส่งคืนได้ ควบคู่สร้างจิตสำนึกและส่งเสริมความรู้การเลี้ยงสัตว์อย่างปลอดภัย รวมถึงวางแผนฉีดวัคซีนตามระยะเวลากำหนด ป้องกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยง

กลางน้ำ เน้นจัดระเบียบสัตว์จรจัดที่เดิมมีอยู่แล้วให้อยู่ร่วมกับชุมชน เน้นควบคุมประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้น โดย กทม.ออกหน่วยผ่าตัดทำหมันวันจันทร์-วันศุกร์ หมุนเวียนตามเขตต่างๆ รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมาแมว ซึ่ง กทม.ตั้งเป้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขจำนวน 2 แสนตัว ภายในปี 2568 โดยขับเคลื่อนร่วมกับภาคีทั้งเอกชน มูลนิธิ สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านสัตวแพทย์ ตลอดจนผลักดัน 10 เขตนำร่องปลอดพิษสุนัขบ้า ขยายผลให้ครบ 50 เขตในกรุงเทพฯ

ส่วนปลายน้ำ นสพ.ศิษฏพลกล่าวต่อว่า เป็นการบริหารจัดการควบคุมสุนัขแมวที่ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ศูนย์ฯ ปรับปรุงสถานที่และเปลี่ยนภาพลักษณ์เน้นสวัสดิภาพสัตว์ ตั้งเป้าเป็นศูนย์การเรียนรู้และศูนย์ขับเคลื่อนการส่งสัตว์จรสู่สถานะสัตว์เลี้ยง (Adopt not shop) ผ่านการมีบ้านและเจ้าของใหม่ที่มีความพร้อม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปซื้อหา ด้วยแนวทางที่พูดถึง จะทำให้สามารถตัดวงจรสัตว์จรและแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง กทม.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย มูลนิธิที่เกี่ยวกับสัตว์ ขับเคลื่อนให้น้องๆ มีบ้านใหม่ และเมื่อทดลองทำกิจกรรม Cat Cafe “จิบกาแฟ แลแมว” เสียงตอบรับดีมากๆ มีน้องแมว 11 ตัว ได้เป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวสู่บ้านหลังใหม่ที่ใจดีมีเมตตา

“น้องหมาแมวจรที่ทางศูนย์ฯ จะส่งต่อให้คนที่สนใจในการอุปการะดูแลให้มีบ้านใหม่ ถ้าเป็นสุนัขจะฝังไมโครชิป แมวจะสักที่ใบหูหรือพื้นท้องเป็นสัญลักษณ์ รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ทำหมัน ที่สำคัญปรับพฤติกรรม เพราะสัตว์จรมีสัญชาตญาณสูง เจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแล เล่นด้วย ปรับพฤติกรรมให้คุ้นเคยกับมนุษย์ เมื่อแน่ใจว่าน้องๆ เฟรนด์ลี่ปลอดภัยแล้ว สามารถเล่นกับเด็กๆ กรณีบ้านมีเด็ก จะพาน้องไปสู่ขั้นตอนหาบ้านใหม่ เราคัดกรองทั้งสัตว์และผู้มารับอุปการะสุนัขและแมวให้ตรงตามคุณสมบัติ” นสพ.ศิษฏพลกล่าว

แม้ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) พื้นที่กว่า 13 ไร่ จะรองรับหมาแมวจรได้ 1,000 ตัว มีอาคารคอกเลี้ยงสุนัข 18 หลัง อาคารคอกเลี้ยงแมว 3 หลัง แต่ ผอ.สำนักสัตวแพทย์ระบุแม้จะมีสถานที่รับหมาและแมว จากกรณีสงสัยหรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า กรณีกัดทำร้ายคนที่มีหลักฐานชัดเจน กรณีดุร้ายหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะสร้างความไม่ปลอดภัยที่มีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริง และกรณีเจ้าของสิ้นสภาพการเลี้ยงและไม่มีทายาทรับเลี้ยง มีทั้งหมาแมวโต แมวท้อง ลูกหมาลูกแมว เมื่อดูแล คัดกรอง ปรับพฤติกรรมแล้ว เราต้องผ่องถ่ายส่งต่อ เกิดประโยชน์กับน้องหมาแมวไม่สิ้นหวัง มีโอกาสสู่บ้านหลังใหม่ อีกทั้งตอบโจทย์เมืองปลอดภัยด้วย

มือใหม่หัดเลี้ยงแมว มีคำแนะนำเริ่มจากทำห้องให้น้องแมว วางกระบะทราย ชามอาหาร ชามน้ำเป็นเวลาทุกๆ วัน และของเล่น 2-3 ชิ้น ห้องสลัวๆ จะทำให้แมวจรรู้สึกปลอดภัยในที่ทางใหม่ ทำให้น้องคุ้นชินกับห้องและผู้เลี้ยง ดูแลแมวจรและชวนน้องเล่น ใช้เวลาได้แต่อย่าเพิ่งแตะต้องสัมผัสตัว เคาะห้องก่อนเปิดประตู เดินเข้าไปช้าๆ โผล่หน้าเข้าไปเวลาเดิมทุกวัน แมวจะได้ชิน พูดกับแมวเบาๆ พอน้องแมวเริ่มคุ้นให้นั่งเล่นอยู่กับแมวนานขึ้นเป็นชั่วโมงทุกเช้าเย็น

อ่านท่าทางก่อนว่าแมวจรพร้อมเล่นด้วยหรือเปล่า ถ้าแมวกระโจนใส่ ร้องเสียงดัง หรือหูลู่จนติดหัว เป็นสัญญาณแมวไม่พร้อม ไม่อยากให้อุ้ม ให้แมวชินกับมือ เริ่มจากแบะฝ่ามือลงบนพื้นรอจนแมวเข้ามาหาเอง แล้วปล่อยให้แมวเอาตัวชน ไถขา แขน ถ้าเข้าหาเองอาจโดนแมวจู่โจมได้ ให้วางของเล่นใกล้ๆ มือ ระหว่างจับสังเกตท่าทีแมวให้ดี ถ้าแมวเกร็งตัว หูลู่ หยุดลูบถอยห่าง ส่วนการดูแลขนของแมวจร นอกจากทำให้คุ้นเคยกันแล้ว ทำให้น้องสบายตัวด้วย ควรใช้ยาป้องกันหมัดหยดหลังด้วย

การเตรียมความพร้อมอุปกรณ์รับเลี้ยงน้องแมวก็สำคัญ ทั้งตะกร้าหรือกระเป๋าสำหรับใส่น้องแมวเดินทางกลับบ้าน ชามใส่น้ำและอาหารเหมาะตามช่วงวัย เสาหรืออุปกรณ์สำหรับลับเล็บ กระบะทรายสำหรับขับถ่าย ปลอกคอและสายจูง หวีแปรงขน และที่นอนนุ่มๆ

คนรักหมาแมวที่สนใจสามารถจะเข้ามาเล่นน้องแมวน้องหมาที่ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) หากสนใจรับไปเลี้ยงจะต้องกรอกประวัติเพื่อเป็นการตรวจคุณสมบัติก่อนที่จะรับน้องเข้าสู่ครอบครัวและให้ชีวิตใหม่กับสัตว์จรจัดเหล่านี้ต่อไป สี่ขาจรรอไปสู่ครอบครัวใหม่และอ้อมกอดอบอุ่น.

 



ที่มา:  นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 30 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200