Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2567
กทม. เตรียมพร้อมสถานพยาบาลในสังกัดรองรับผู้ป่วยโควิด 19 เข้มมาตรการเฝ้าระวังกลุ่มผู้สูงอายุ 
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัดทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตียงรักษา ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ระบบการส่งต่อ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ง่าย โดยเน้นเฝ้าระวังที่โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สถานสงเคราะห์คนชรา และสถานพยาบาลที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ตลอดจนเพิ่มความเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีโอกาสเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น หากติดเชื้อโควิด 19
 
        ทั้งนี้ มาตรการส่วนบุคคลยังเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก อยู่ในพื้นที่ หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด 19 ตลอดจนป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาดลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงเน้นย้ำให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่ม 608 เพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด 19
 
โรงเรียนสังกัด กทม. รุกเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV กลุ่มเด็กเล็ก

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า สนศ. ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนสังกัด กทม. ทราบ และดำเนินการตามหนังสือ กทม. เรื่อง การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่ง สนศ. ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียนในสังกัด กทม. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาอย่างเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และโรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่และโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียนสังกัด กทม.

นอกจากนี้ ได้ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคให้กับนักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนในชุมชนโดยรอบโรงเรียนให้ปฏิบัติตน เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ตามมาตรการทางสาธารณสุข โดยหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด หรือเจลล้างมือทุกครั้ง ก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังการขับถ่าย และการเล่นของเล่น ตัดเล็บให้สั้น ซึ่งเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้ดี กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลที่ถูกต้อง ดูแลรักษาและทำความสะอาดอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และของเล่นต่าง ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอด้วยน้ำยาทำความสะอาด รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอมและควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนม ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนในช่วงที่มีการระบาด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยและควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กอื่น ๆ
 
กทม. จัดระเบียบผู้ค้าข้างกระทรวงศึกษาธิการ แจงให้ทำการค้าวันจันทร์-ศุกร์
 
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวกรณีมีรายงานข่าวผู้ค้าริมถนนพิษณุโลก ด้านข้างกระทรวงศึกษาธิการ ระบุมีผู้เรียกเก็บเงินค่าทำการค้าทุกวันจันทร์และผู้ค้าหน้าศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์จ่ายค่าเช่าที่ล็อกละ 2,000 บาท/เดือนว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณซอยข้างกระทรวง ศึกษาธิการ เขตดุสิต และหน้าศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ เขตจตุจักร เป็นพื้นที่นอกจุดผ่อนผันทำการค้า ซึ่ง กทม. ได้จัดระเบียบพื้นที่และการทำการค้าหาบเร่-แผงลอย โดยบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ เขตดุสิต คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต เขตดุสิต ได้เห็นชอบให้ทำการค้าวันจันทร์-วันศุกร์ และหยุดทำการค้าวันเสาร์-วันอาทิตย์ เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ราชการ จะมีผู้ซื้อสินค้าเฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์เท่านั้น ส่วนบริเวณหน้าศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ เขตจตุจักร เป็นผู้ค้าที่เคยอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีพหลโยธิน ปากซอยลาดพร้าว 1 ถนนลาดพร้าว จำนวน 15 ราย สำนักงานเขตจตุจักร ได้ประสานการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ผู้ค้าย้ายมาขายในพื้นที่ของ รฟม. โดย รฟม. เป็นผู้เก็บค่าเช่าพื้นที่กับผู้ค้าโดยตรงและคอยกวดขันไม่ให้ผู้ค้ารายอื่นมาขายในบริเวณที่จัดระเบียบเรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้ การจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าหาบเร่-แผงลอย กทม. ได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้แก่ สนท. และสำนักงานเขตในการจัดระเบียบฯ โดยเน้นความสะดวกสบายและปลอดภัยในการสัญจรของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนี้ (1) จุดพื้นที่ทำการค้า หรือจุดผ่อนผันที่ กทม. อนุญาตให้ตั้งวางขายของได้ จะต้องกวดขันให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด พื้นที่จุดใดที่สร้างปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ จะต้องยกเลิก เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน (2) นอกจุดทำการค้า หรือนอกจุดผ่อนผัน เป็นการทำการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนมาก ให้สำนักงานเขตบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยในระหว่างการดำเนินการให้ยึดแนวทางตามหลักเกณฑ์ของ กทม. มาปรับใช้โดยอนุโลม และลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ จากการจัดทำทะเบียนควบคุมเมื่อปี 2565 มีจำนวน 726 จุด ผู้ค้า 15,858 ราย ปัจจุบันได้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ผลักดันให้ผู้ค้าเข้าไปขายในที่เอกชน Hawker Center และที่อื่น ๆ เพื่อคืนพื้นที่่ทางเท้าให้ประชาชนได้สัญจรอย่างสะดวก ปลอดภัย ขณะนี้คงเหลือจุดทำการค้านอกจุด 409 จุด ผู้ค้า 11,664 ราย (3) การจัดหาพื้นที่ของหน่วยงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือพื้นที่ของ กทม. ที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center รองรับผู้ค้าของ กทม. และ (4) ให้เจ้าหน้าที่กวดขันตรวจตราพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
     
นายเทียนชัย วงศ์สุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดุสิต กทม. กล่าวว่า คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต เขตดุสิต มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ทำพื้นที่ทำการค้าเปลี่ยนแปลงวันหยุดทำการค้าให้เป็นไปตามประกาศ กทม. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 ม.ค. 63 โดยมติที่เกี่ยวข้องกับบริเวณจุดที่ทำการค้าข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนพิษณุโลก มีจุด เริ่มต้น-จุดสิ้นสุด จากป้ายรถประจำทางถนนพิษณุโลก ถึงประตูทางออกคุรุสภา ความยาวประมาณ 150 เมตร ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. มีผู้ค้า 193 ราย ซึ่งมติคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงวันหยุดทำการค้าจากหยุดวันจันทร์ เป็นหยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ เนื่องจากผู้มาจับจ่ายใช้สอยส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานที่ราชการ โดยให้เริ่มขายในวันจันทร์ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 67 เป็นต้นมา ส่วนกรณีการร้องเรียนเรียกเก็บเงินในวันจันทร์ได้ตรวจสอบแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตฯ เกี่ยวข้องและไม่ได้รับข้อมูลอื่นใดในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานเขตฯ จึงได้มีหนังสือแจ้งสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวว่า ผู้ค้าบริเวณหน้าศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ เป็นผู้ค้าที่จำหน่ายในที่สาธารณะบริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีพหลโยธิน ปากซอยลาดพร้าว 1 ถนนลาดพร้าว จำนวน 15 ราย ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณดังกล่าวโดยประสาน รฟม. พร้อมทั้งประสานตัวแทนผู้ค้าในการทำหนังสือขอเช่าพื้นที่ทำการค้ากับ รฟม. ทั้งนี้ ผู้ค้าบริเวณดังกล่าวได้เคลื่อนย้ายจากการทำการค้าในที่สาธารณะไปทำการค้าในพื้นที่ของ รฟม. และชำระค่าเช่ากับ รฟม. โดยตรง ซึ่งสำนักงานเขตฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าเช่าของผู้ค้าตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด  
 
เขตบางแคสั่งห้ามใช้อาคารชำรุดปากซอยบางแค 16 เร่งช่วยเหลือ-เคลื่อนย้ายชุมชนด้านหลังอาคาร ป้องกันเหตุอันตราย

นายณรงค์ ตาปสนันทน์ ผู้อำนวยการเขตบางแค กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุอาคารชำรุดในซอยบางแค 16 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบอาคารดังกล่าว พบว่า เป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 2 คูหา ริมถนนบางแค ปากซอยบางแค 16 ส่วนที่เป็นรอยร้าวเป็นส่วนที่สร้างเพิ่มเติมด้านหล้งอาคาร มีการเอียงตัวไปทางด้านหลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชน มีประชาชนอยู่อาศัยลักษณะเป็นห้องเช่าปลูกติดกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้พักอาศัยในชุมชน สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางแค อปพร. เขตบางแค และสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมกั้นแนวบริเวณเขตอันตรายห้ามเข้า-ออก และได้ประชาสัมพันธ์ให้เคลื่อนย้ายประชาชนที่พักอาศัยในชุมชนออกจากบริเวณที่อาจเกิดอันตราย จำนวน 67 คน (35 ครัวเรือน) ไปพักอาศัยบ้านญาติและบางส่วนเจ้าของอาคารได้จัดหาห้องพักให้ ขณะเดียวกัน อปพร.เขตบางแคได้จัดหาเครื่องนอนและสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
ส่วนอาคารที่ชำรุด สำนักงานเขตฯ ได้มีคำสั่งห้ามเข้า-ห้ามใช้ และให้รื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงอาคารดังกล่าว ขณะนี้เจ้าของอาคารได้ให้ช่างเข้ารื้อถอนแล้ว เพื่อความปลอดภัย โดยจะได้ตรวจสอบความถูกต้องของการก่อสร้างอาคารส่วนที่ชำรุดดังกล่าวต่อไป
 
 
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200