Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567
กทม. เน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล-เพิ่มความถี่ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ป้องกันโควิด 19 ในโรงเรียน
 
นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า โรงเรียนสังกัด กทม. ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน และผู้ปกครองให้ปฏิบัติตามแนวทาง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยประสานผู้ปกครองให้เฝ้าระวังและตรวจคัดกรองบุตรหลานก่อนพามาโรงเรียน หากพบว่า มีไข้ ไอ จาม หรืออาการอื่นใด ให้ตรวจ ATK ควรหยุดเรียน เพื่อเฝ้าดูอาการที่บ้าน หรือพบแพทย์ต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ปกครองแจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยของนักเรียนให้โรงเรียนทราบ เพิ่มความถี่การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในโรงเรียน ได้แก่ ตู้กดน้ำดื่ม โต๊ะอาหาร คอมพิวเตอร์ ราวบันได ที่จับบานประตู หน้าต่าง ห้องน้ำ รวมถึงตรวจสอบสุขอนามัยอาหารภายในโรงเรียน การใช้ช้อนกลางส่วนตัว รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง กรณีพบกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ให้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่และส่งต่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิการรักษา ทั้งนี้ หากมีการติดเชื้อในสถานศึกษาให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม กรณีมีเด็กป่วยในชั้นเรียนพร้อมกัน 3 คนขึ้นไป ควรปิดชั้นเรียนนั้น เพื่อทำความสะอาด หรือเกิดขึ้นหลายชั้นอาจปิดเป็นระดับชั้นเรียน แต่หากพบมากในหลายระดับ อาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียน เพื่อลดการระบาดของโรคและปฏิบัติตามขั้นตอนการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19
 
นอกจากนี้ ยังให้โรงเรียนเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคลกับนักเรียน บุคลากรทุกระดับ และผู้ปกครอง โดยควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก หากต้องเข้าในที่แออัด ให้เว้นระยะห่างที่เหมาะสม เปิดประตูหน้าต่างห้องเรียนให้อากาศถ่ายเทสะดวก กรณีใช้เครื่องปรับอากาศให้เปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศบ้าง เช่น ช่วงเวลาพักเที่ยง หรือช่วงเวลาที่ไม่มีการเรียนการสอน และประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติแก่ผู้ปกครองและแนวทางการดูแลรักษากรณีบุตรหลานติดเชื้อโควิด 19
 
กทม. เตรียมพร้อมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กลุ่มเสี่ยง-นักเรียน ป.1 – ป.3 รร. ในสังกัด

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของ กทม. พบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 20 มิ.ย.67 มีรายงานผู้ป่วย 29,948 คน ผู้เสียชีวิต 2 คน รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล โดยอัตราป่วยสูงสุดพบในเด็กวัยเรียน อายุ 5 – 14 ปี การระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่พบในเรือนจำ โรงเรียน และสถานปฏิบัติธรรม สายพันธุ์ที่พบมีทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B อย่างไรก็ตาม สนอ. ได้เตรียมความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนให้คนไทยแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนคนไทย 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ประกอบด้วย หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี) เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และชนิด 4 สายพันธุ์ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สตรีตั้งครรภ์ และยังมีจำหน่ายโดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก โดยทั้ง 2 ชนิดให้ผลดีทั้งสิ้น เริ่มบริการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค. 67 โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกได้

ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้ประชาชนทุกกลุ่มเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และเข้ารับการวัคซีนตามกำหนด พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองด้วย โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเชื้อโรคต่าง ๆ และแนะนำฉีดวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรค ซึ่งเชื้อไวรัสต่าง ๆ สามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น

นอกจากนั้น สนอ.ยังมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับเด็กชั้น ป.1 – ป.3 ให้นักเรียนสังกัด กทม. และจัดทำแนวทางหากพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนสังกัด กทม. ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเด็กนักเรียนและการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน
 
กทม. เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันปัญหาน้ำท่วมปี 67 เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำ
 
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนว่า กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยประชุมร่วมกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเหนือหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง 
 
ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปี 2567 ของ กทม. ตามแผนการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแก้มลิง 35 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ปัจจุบันได้ตรวจสอบ ซ่อมแซมและบำรุงรักษาประจำปีแล้วเสร็จ รวมทั้งเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วขึ้น รวมถึงตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. 477 แห่ง และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขต 421 เครื่อง สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และหน่วย Best เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน นอกจากนั้น ได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ได้แก่ แผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของ กทม. โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 ทั้งนี้ ปลัด กทม. ได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมโดยให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาทันที
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นกรุงเทพฯ ปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 737 แห่ง เป็นจุดเสี่ยงน้ำฝน 617 จุด และจุดเสี่ยงแนวริมแม่น้ำ (น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน) 120 จุด ซึ่งดำเนินการแก้ไขแล้ว 179 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 231 แห่ง คาดว่า จะแล้วเสร็จทันฝนปีนี้ 190 แห่ง ส่วนปี 2567 ได้รับงบประมาณ 72 แห่ง คาดว่า จะแล้วเสร็จทันฝนปีนี้ 4 แห่ง และในปี 2568 อยู่ระหว่างของบประมาณ 75 แห่ง คงเหลือที่อยู่ในระหว่างสำรวจและหาแนวทางแก้ไขอีก 180 แห่ง อย่างไรก็ตาม กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งได้แจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน. ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ต่อไป พร้อมประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. อีกทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
 
 
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200