บัญชา จันทร์สมบูรณ์
(สัมภาษณ์/เรียบเรียง)
“ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” เป็นสำนวนไทยหมายถึง “คนที่ภายนอกดูธรรมดาๆ หรืออาจดูเหมือนคนยากจน แต่แท้จริงแล้วกลับมีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง” ซึ่งด้านหนึ่งต้องการสอนว่าอย่าเพิ่งตัดสินคนจากเครื่องแต่งกายหรือสิ่งของต่างๆ ที่คนคนนั้นใช้สอยในชีวิตประจำวัน แต่อีกด้านหนึ่ง ในสังคมสมัยใหม่ที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดบริการสาธารณะและสวัสดิการสังคมต่างๆ โดยใช้งบประมาณจาก “ภาษี” ที่เก็บจากคนทุกคน ในประเทศ คนที่เข้าตำราผ้าขี้ริ้วห่อทอง บางครั้งก็ถูกมองในแง่ไม่ค่อยดีนัก เพราะอาศัยภาพลักษณ์ภายนอกช่วยให้จ่ายภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
หนึ่งในอาชีพที่อาจเข้าข่ายผ้าขี้ริ้วห่อทอง ก็คือ “หาบเร่แผงลอย” หรือพ่อค้า-แม่ค้า ที่อาศัยทางเท้าเป็นสถานที่ประกอบอาชีพ ซึ่งถือเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายหากขายในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นจุดผ่อนผัน แต่ก็ถูกตั้งคำถามจากคนทำงานอื่นๆ ในสังคมว่า แม้หาบเร่แผงลอยจะมีภาพลักษณ์ในภาพรวมว่าเป็นอาชีพของคนฐานราก แต่จริงๆ แล้วเป็นเช่นนั้นทุกรายหรือไม่? เช่น หลายคนมีรถยนต์ขับ สามารถส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน มีเงินไปซื้อที่ดินในต่างจังหวัด เป็นต้น แต่เพราะมีภาพเป็นคนยากจน จึงไม่ถูกตรวจสอบการจ่ายภาษีอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการ “โยนหินถามทาง” จากบางหน่วยงาน เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.)ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานข่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 อ้างการเปิดเผยของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงการประชุมคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2567 ว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำการค้าในจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอย ว่าด้วย “เกณฑ์ รายได้” โดยมีสาระสำคัญคือ “ผู้ค้าทุกรายมีหน้าที่ยื่นแบบประเมินภาษี” แม้จะมีรายได้ ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีก็ตาม เพื่อนำมาพิจารณาอนุญาต
“ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันหลังจาก 1 ปี ต้องมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน หากเกินกว่านี้คิดว่า ผู้ค้าน่าจะพอขยับขยายไปหาที่เช่าอื่นได้ และ หลังจากประชาพิจารณ์และปรับปรุงตามความเห็น ต่างๆ ในเรื่องอื่นเพิ่มเติมแล้วนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะลงนามและรอประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ในมุมของกลุ่มผู้ค้า เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งคำถามว่า “จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดรายได้” อย่างตนเคยพูดคุยกับฝ่ายเทศกิจของ กทม. ทางเจ้าหน้าที่เองก็มองว่า “ต้องนับหลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างหมดแล้ว” และหากทำ เช่นนั้นจริง เชื่อได้ว่าน่าจะหาผู้ที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือนได้ยาก “อาจมีบางพื้นที่ หาได้..แต่ไม่ใช่ภาพรวม” หลายคนอาจเห็นผู้ค้า ขายของได้มาก แต่รายได้ที่เหลือเข้ากระเป๋าจริงๆ ไม่ได้มากแต่อย่างใด เพราะต้องหักออก เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าเดินทาง ค่าจ้างแรงงานลูกมือ
อาทิ ร้านก๋วยเตี๋ยว โดยมากจะจ้างแรงงานเฉลี่ย 2 คน เป็นคนเสิร์ฟ 1 คน และคนล้างจานอีก 1 คน ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน แต่ก็ยอมรับว่า “ผู้ค้าจำนวนมากไม่ได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทำให้ไม่เห็นรายละเอียดว่าต้นทุนแต่ละอย่างในแต่ละวันอยู่ที่เท่าไรบ้าง” แต่หากในอนาคต กทม. บังคับให้ผู้ค้าต้องยื่นแบบประเมินภาษี ก็จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และผู้ค้าพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย หากมีหลักเกณฑ์ประเมินที่ชัดเจน โปร่งใสและอยู่ในวิสัยที่ผู้ค้าพอรับได้
แต่อีกเรื่องหนึ่ง “การตั้งเกณฑ์ว่าหากรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือนต้องย้ายออก”เรวัตร ฟันธงเลยว่า “ทำไม่ได้แน่นอน” เพราะเรื่องของการขอพื้นที่เอกชน ก็พยายามทำกันมา ตั้งแต่ผู้ว่าฯ กทม. คนก่อน (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) ท้ายที่สุดก็ไม่สำเร็จ เพราะ “เอกชนย่อมต้องมองผลประโยชน์เป็นหลัก” เอกชนมีพื้นที่ก็ต้องการได้ผลประโยชน์จากพื้นที่ “เป็นไป ไม่ได้เลยที่เอกชนจะเก็บค่าเช่าถูกๆ” อย่างตลาดแห่งหนึ่งในย่านพระราม 9 ค่าเช่าวันละ 600 บาท 1 เดือนก็ 18,000 บาท ต้องจ่ายล่วงหน้า จ่ายช้าแม้แต่นิดเดียวก็โดนยึดล็อกคืน
“ผมยังไม่เห็นเลย เวลาเข้าไปคุยกับ เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นรองผู้ว่าฯ ท่านไหน หรือแม้แต่ผู้ว่าฯ หรือสำนักงานเขต เขาบอกไปหา พื้นที่มาเดี๋ยวจะไปเจรจาให้ แต่ไม่รู้จะได้ผลมาก-น้อยแค่ไหนนะ เพราะเอกชนพื้นที่เขาก็มีราคา อันนี้คือความจริงที่เราไปประสาน แต่คนที่เสนอข่าวออกนโยบายก็พูดไปอีกแบบหนึ่ง”ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน ระบุ
เรวัตรยังกล่าวอีกว่า ตนเคยไปเจรจา กับเจ้าของตลาดซึ่งบรรยากาศดูเงียบๆ ตนขอให้ขายฟรี 3 เดือน โดยเก็บเงินมัดจำผู้ค้าไว้ หากใครเลิกขายก่อน 3 เดือนก็ยึดเงินมัดจำไป ก็ยังได้รับการปฏิเสธ อ้างว่าตลาดก็มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ “ตลาดเอกชนจำนวนมากเจ้าของที่ดินไม่ได้บริหารเอง แต่ปล่อยให้บริษัทออร์แกไนเซอร์เข้ามาจัดการ” โดยบริษัทจะเข้าไปหาพื้นที่เพื่อ ขอเช่ามาจัดเป็นตลาด รัฐจึงไม่สามารถไปกำกับดูแลเรื่องค่าเช่าได้ แต่หากจะให้ผู้ค้าไปขาย ในสถานที่ราชการ ในความเป็นจริงสถานที่เหล่านั้น ก็ไม่ได้อยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับการค้าขาย
ในมุมของนักวิชาการ บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากข้อมูลที่ทราบมา ผู้ค้าต้องหักต้นทุนถึงร้อยละ 60 ที่เหลือจึงเป็นกำไรหรือรายได้จริง แต่การไปกำหนดเพดานว่าผู้ค้าในจุดผ่อนผันต้องมีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นรายวันคือห้ามมีกำไรถึง 1,000 บาท จะทำให้ผู้ค้าสามารถขายสินค้าได้เพียงไม่กี่อย่าง
ซึ่งตนเห็นว่า ควรกำหนดเงื่อนไขอย่างอื่นที่ทำให้ผู้ค้าสามารถพัฒนาตนเองได้ เพราะเงื่อนไขผู้ค้าในจุดผ่อนผันต้องมีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน เป็นการกำหนดว่ามีแต่คนจนเท่านั้นที่สามารถเป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้ แต่อีกด้านหนึ่ง หาบเร่แผงลอยกลับถูกคาดหวังอย่างมากว่าต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทั้งเรื่องคุณภาพอาหาร เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับผู้ค้าในตลาดที่มีกฎระเบียบคุมเข้มน้อยกว่า
“สมมุติเอกชนเปิดพื้นที่ ก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากประกาศของ กทม. เรื่องของการตรวจคุณภาพ เรื่องของการเว้นระยะ มันก็ไม่ได้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขแบบที่เอกชนกำหนด ดังนั้น สิ่งที่ กทม. กำหนด ถ้าคุณคิดว่าเขาเป็นคนจน แล้วคุณยังคาดหวังให้เขาต้องเป็นโน่นเป็นนี่เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เรื่องของจัดแผง เรื่องทำแอปพลิเคชั่น พอเวลาจ่ายเงินผ่านแอปฯ ก็แปลว่าผู้ค้าเรียกได้ว่าต้องออนไลน์ตลอด ต้องจ่ายค่าอินเตอร์เนตเพิ่ม” บวร กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะถึง กทม. ในช่วงที่ยังเปิดรับความคิดเห็นประกาศกำหนดหลักเกณฑ์หาบเร่แผงลอยฉบับใหม่ บวร ระบุว่า ในพื้นที่ที่ยังมีการทำการค้าอยู่ เกณฑ์รายได้ไม่ควรเป็น ปัจจัยหลัก เมื่อเทียบกับการเน้นการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการส่งเสริมเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ การเว้นระยะให้ผู้เดินเท้าสามารถสัญจรได้ แต่เรื่องเหล่านี้ต้องใช้กระบวนการพูดคุยหาทางออกร่วมกันมากกว่าการใช้กฎเข้าไปควบคุม
นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตด้วยว่า “การกำหนดให้ประเมินผู้ค้าทุกๆ 1-2 ปี ทำให้องค์กรของผู้ค้าอ่อนแอลง” เพราะผู้ค้าจะเปลี่ยนหน้าใหม่ เข้า-ออกเป็นระยะๆ ขณะเดียวกัน คนที่เข้ามาสู่อาชีพค้าขายไม่ได้หมายความว่าจะมีทักษะตั้งแต่วันแรกที่เริ่มประกอบอาชีพ เพราะต้องเริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจพื้นที่ก่อนว่าเหมาะสมกับการขายสินค้าอะไร ต้องไปซื้อวัตถุดิบหรือสินค้านั้นที่ไหน รวมถึงความอดทนต่อสภาพอากาศแดดร้อนฝนตก ส่วนแนวคิดหาพื้นที่เอกชนให้ทำการค้าแทน การอยู่บนทางเท้า แม้ในช่วงต้นอาจมีโปรโมชั่น แต่หลังจากนั้นผู้ค้าจะอยู่ได้หรือไม่
“มีเงื่อนไขตัวหนึ่งที่ประกาศ กทม. ไม่ได้พูดถึง แต่ตัวผังเมือง กทม. พูดถึง คือ FAR Bonus คือจะให้โบนัสกับเอกชนที่สนับสนุนกิจกรรมแบบนี้ กิจกรรมแผงลอยที่ขายอยู่บนที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ค้าเข้ามาขาย ก็จะได้ที่เรียกว่า FAR Bonus ตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีรายละเอียด ก็ไม่แน่ใจว่า เอาแบบคุยกันเองแล้วประมาณว่ามันจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน หรือเปล่า” บวร ระบุ
ด้าน กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นไว้ 4 ส่วน คือ 1.การค้า มีความละเอียดอ่อนและหลากหลาย รัฐ ไม่สามารถใช้เกณฑ์เดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างได้เช่น เห็นรถเข็นขนาดเดียวกัน ตั้งอยู่ข้างๆ กัน ใช้พื้นที่เท่ากัน ใช้เวลาขายเท่ากัน แต่ขายอาหารคนละชนิดกัน คันหนึ่งขายข้าวแกง อีกคันขายโรตี รายได้ของผู้ค้าก็ย่อมแตกต่างกัน
หรืออย่างสถานที่ขาย อย่างตนเคยเดินสำรวจ 3 พื้นที่ คือสีลม พระนคร และบางกะปิ สินค้าที่ขายและลูกค้าในย่านเหล่านี้ก็แตกต่างกันไปอีก ดังนั้นหาบเร่แผงลอยจึงมีความซับซ้อนมาก หรือตนพักอาศัยอยู่แถวบางแค ซึ่งคนแถบนั้น พึ่งพิงแหล่งอาหารจากตลาดบางแคอย่างมาก หาก ถูกยกเลิกไปคงไม่พ้นต้องเข้าไปซื้อในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ ที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่า “หาบเร่แผงลอยเกิดขึ้นบริเวณทางสัญจรหลัก ..เพราะตอบโจทย์การบริโภคของคนทำงาน ในเมือง” โดยเฉพาะอาหารที่สามารถซื้อติดไม้ติดมือไปรับประทานในสถานที่ทำงานได้
2.การส่งเสริมให้เข้าไปขายในพื้นที่เอกชน ในบริบทของไทยเป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้จริง มีตัวอย่างในย่านสีลม ทาง กทม. ให้คำมั่นว่าจะหาพื้นที่ทดแทนผู้ค้าที่ถูกห้ามขายบริเวณซอย 1-ซอย 2 แต่สุดท้ายก็หาให้ไม่ได้ เพราะที่ดินย่านสีลมเป็นพื้นที่ของเอกชนทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับว่า “รัฐไม่สามารถคุมราคา ค่าเช่าพื้นที่ได้” อย่างตลาดเอกชนแห่งหนึ่ง ในย่านบางแค ซึ่งอยู่ริมถนนเพชรเกษม เคยมี ผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามขายบนทางเท้าพยายามเข้าไปอยู่ แต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ไหวเพราะ ไม่สามารถแบกรับภาระค่าเช่าได้
3.มุมมองคนไทยต่อหาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะ “ชนชั้นกลาง” ดูจะมีความ “ย้อนแย้ง” อยู่ในตัวเอง โดยจากที่ลงพื้นที่แจกแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหาบเร่แผงลอย ใน กทม. พบกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่น้อยที่ตอบว่า “ด้านหนึ่งยอมรับว่าบริโภคสินค้าจากหาบเร่แผงลอย แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่อยากให้มีหาบเร่แผงลอย” ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าสนใจสำหรับการทำวิจัยต่อในอนาคต แต่เท่าที่สันนิษฐานในเบื้องต้น ตนเข้าใจว่าคนเหล่านั้นถูกหล่อหลอมด้วยชุดความคิด หรือวาทกรรมบางอย่าง อาทิ แผงลอยสกปรก แผงลอยกีดขวาง ตามที่ปรากฏผ่านสื่อ
“เท่าที่ผมจำได้ คนหนึ่งบอกประมาณว่า ถ้าแผงลอยไม่มีเขาก็อาจจะพอเดินไปหาอย่างอื่นซื้อไกลกว่านี้หน่อยก็ได้ คือมันเป็นวิธีคิดที่ปัจเจกมากเลย ประมาณว่าไม่มีฉันก็ยังไปหาที่อื่นซื้อต่อได้ แต่ถ้ามันมีฉันก็ซื้อ แต่ฉันก็ไม่เห็นด้วยนะ อะไรแบบนี้ ก็พยายามทำความเข้าใจกับ เรื่องพวกนี้อยู่ ซึ่งมันก็มีวิธีคิดของชนชั้นกลาง ในประเทศที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เขาก็คงมองว่าการมีพวกนี้มันคือความไม่อารยะ มันก็เป็นลักษณะแบบนี้ เพราะประเทศที่พัฒนามันก็ไม่มีพวกนี้” อาจารย์กฤษฎา กล่าว
และ 4.คนไทยไม่เชื่อมั่นในกลไกภาครัฐ จึงไม่อยากเสียภาษีและพยายามหลีกเลี่ยงหากทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็น “ความท้าทายอย่างที่สุด”ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหาร และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลางหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อมีข่าวว่าจะมีการเก็บภาษีหรือขึ้นภาษี เสียงสะท้อนที่ได้ยินบ่อยๆ จากประชาชนโดยรวมคือ “เก็บไปแล้วเอาไปทำอะไร”, “เก็บไปแล้วใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าหรือไม่” หรือก็คือประชาชนไม่เห็นประโยชน์จากการจ่ายภาษี
เมื่อประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐ จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะแสดงเจตจำนงเพื่อเสียภาษี ซึ่งสะท้อนผ่านการยื่นแบบประเมินการเสียภาษีน้อยมากทั้งที่ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ทำงานมีรายได้ ในทางกลับกัน ผู้ถืออำนาจรัฐก็ไม่ค่อยกล้าบังคับ อย่างจริงจังด้วยเพราะไม่อยากสุ่มเสี่ยงเจอแรงต้าน จากประชาชนซึ่งส่งผลกระทบทางการเมือง แม้เงินภาษีจะมีความจำเป็นต้องการจัดบริการสาธารณะและสวัสดิการสังคมก็ตาม แต่หากรัฐสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าเงินภาษีจะย้อนกลับไปเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ ก็เชื่อว่าประชาชนพร้อมจ่ายด้วยความยินดี
“เราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องขับเคลื่อน เรื่องนี้ไป เรื่องภาษี แต่ภาษีกับเกณฑ์ก็คนละเรื่องนะ จะให้จ่ายภาษีเพื่อมานั่งดูว่าเกินเกณฑ์ไหม? อันนี้คนละเรื่องแล้ว ฉะนั้นเกณฑ์ก็ต้องไป Review (ทบทวน) กันใหม่เลย ต้องกำหนดเกณฑ์อย่างไรถ้าจะกำหนด แต่ถามว่าควรกำหนดไหม? ก็ควรกำหนด ในเมื่อกำหนดเกณฑ์แล้วมันเหมือนการ Register (ลงทะเบียน) กับรัฐ ฉะนั้นรัฐก็ต้องอำนวย ความสะดวกให้กับผู้ค้า
เช่น มีจุดระบายน้ำ จุดทิ้งขยะ มีห้องน้ำ อะไรอย่างนี้ แล้วผมคิดว่านะ ถ้าคุณทำให้มันถูกกฎหมายขึ้นมา ให้มันสีขาวขึ้น แล้วมีการเก็บค่าเช่าหรืออะไรก็ตามแต่ ผมคิดว่าผู้ค้าหลายๆ คนอาจยอมด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้มันอยู่ในสีเทาๆ ผมเคยถามผู้ค้า เดือนหนึ่งจ่าย 2,000 อ้าว! ถ้าจ่าย 2,000 แล้วโดนเอาข้าวเอาขนมเอาของกิน ฉะนั้นเดือนหนึ่งไม่รู้เสียไปเท่าไร ฉะนั้นก็ทำให้มันขาวสะอาดขึ้นมันดีกว่าไหม? ผู้ค้าไม่แน่ยอมจ่ายด้วย” อาจารย์กฤษฎา ฝากทิ้งท้าย
สำหรับจำนวนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยใน กทม. อ้างอิงจากรายงานการประชุมคณะ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต ครั้งที่ 2/2567 (เผยแพร่วันที่ 29 ก.พ. 2567) ระบุว่า มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,541 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,440 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,101 ราย ขณะที่รายงานข่าวเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 โดยสำนักข่าว The Active ในเครือ ThiaPBS อ้างว่า หาบเร่แผงลอยในจุดและนอกจุดผ่อนผัน มีรวมกันทั้งสิ้น 681 จุด 19,414 ราย
ส่วนข้อมูลจากรายงาน การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2566 แรงงานนอกระบบมีจำนวนมากกว่าแรงงานในระบบประมาณ 2.2 แสนคน ซึ่งจากผู้มีงานทำทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน (ร้อยละ 52.3) และเป็นแรงงานในระบบ 19.1 ล้านคน (ร้อยละ 47.7) โดยแรงงานนอกระบบ อยู่ในภาคเกษตร (รวมป่าไม้และประมง) มากที่สุด ร้อยละ 52.7 แต่รองลงมาคืออยู่ในภาคบริการและจำหน่ายสินค้า ร้อยละ 23.1 ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนักหากเทียบกับรายงานฉบับปีก่อนๆ
และเช่นเดียวกับข้อมูลการยื่นแบบประเมินภาษี (แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) โดยกรมสรรพากร ในปี 2565 (ข้อมูลล่าสุดเท่าที่พอหาได้) มีผู้ยื่น 11.52 ล้านคน ก็แทบไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้า เช่น ปี 2564 มี 10.3 ล้านคน ปี 2563 มี 10.6 ล้านคน ปี 2562 มี 11.8 ล้านคน และเมื่อดูจำนวนคนที่ต้องจ่ายภาษี (ข้อมูลที่พอหาได้คือช่วงปี 2562-2564) พบว่า จะอยู่ที่เฉลี่ย 4 ล้านคนต่อปี (4.02, 3.95 และ 4.17 ล้านคน ตามลำดับ
ในวันที่ 27 พ.ค. 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยผลสำรวจว่าด้วยทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษีในกลุ่มประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งพบว่า “คนไทยมีความเข้าใจเรื่องภาษีน้อยมาก” เช่น เกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 65.6) ไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ่ายภาษีเสมอไป ราวครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.5) ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่น ส่วนใหญ่มีการศึกษา ไม่เกินระดับ ม.ปลาย เป็นแรงงานนอกระบบ อีกทั้งบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย
โดยสรุปแล้ว..จะเรื่องให้ประชาชนทุกคน ต้องยื่นแบบประเมินภาษี (และจ่ายภาษีหากรายได้ถึงเกณฑ์) ก็ดี หรือเรื่องการให้ผู้ค้าขายรายย่อยย้ายออกจากการเป็นหาบเร่แผงลอยเข้าไปอยู่ในตลาดพื้นที่เอกชนก็ตาม ในบริบทของสังคมไทย ดูจะมีข้อจำกัดเต็มไปหมด นี่จึงเป็นความท้าทายภาครัฐของไทยทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ว่าหากต้องการทำให้ได้ จะดำเนินการให้เป็นจริงได้อย่างไร?
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 17 มิ.ย. 2567