Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567
กทม. รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนงดให้อาหารนกพิราบ ลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.)  กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของเชื้อโรคและภัยสุขภาพที่มากับนกพิราบและนกชนิดต่าง ๆ ว่า สนอ. ได้ประสานสำนักงานเขตรณรงค์ติดป้ายประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนงดให้อาหารนกในสวนสาธารณะของ กทม. และพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงผลกระทบจากการให้อาหารจะทำให้มีจำนวนนกพิราบเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจากมูลนกและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากการแพร่เชื้อโรคต่าง ๆ จากนกมาสู่คน เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดอักเสบ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้อาหารนกอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยผู้ให้อาหารและผู้จำหน่ายอาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท  

ขณะเดียวกันได้มีมาตรการส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของเชื้อโรคและการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคของนกพิราบ โดยประชาสัมพันธ์การป้องกันการติดเชื้อจากนกพิราบ ด้วยการเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับนกพิราบ หรือมูล หรือสิ่งคัดหลั่งของนกพิราบ หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีนกพิราบอาศัยอยู่จำนวนมาก สวมหน้ากาก หรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีนกพิราบ กรณีสัมผัสนก หรือสิ่งคัดหลั่งของนกให้รีบล้างมือให้สะอาด ควบคู่กับการสร้างความรับผิดชอบทางสาธารณะผ่านการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสะอาด การป้องกันการสัมผัสกับนกพิราบและอันตรายที่มาจากนกพิราบ 
 
นอกจากนั้น ยังได้สร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นเตือนและปรับทัศนคติการป้องกันการให้อาหารนกพิราบ การจัดกิจกรรมเวชศาสตร์ป้องกันเชิงสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหานกพิราบในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงจากนกพิราบที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์ปีกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เฝ้าระวังโรคเชิงรุกและติดตามสถานการณ์ของโรคจากสัตว์ปีกที่ติดต่อมาสู่คนผ่านการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สนอ. และสำนักงานเขต กรณีพบผู้ป่วยจากการสัมผัสสัตว์ปีกให้แจ้งสายด่วน สนอ. โทร. 0 2203 2872 หรือ สายด่วน กทม. 1555 ทันที
 
 
 
 
กทม. แจงไม่ได้เสนอต่ออายุ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินเวนคืนสร้างทางยกระดับเชื่อม ถ.พหลโยธิน-วิภาวดีฯ

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีชุมชนหลังหมอชิตเก่ายื่นหนังสือคัดค้านต่ออายุพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดแนวเวนคืนที่ดินสร้างทางยกระดับเชื่อมถนนพหลโยธิน-วิภาวดีรังสิตว่า โครงการแนวเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 5 ซอยพหลโยธิน 18 และซอยพหลโยธิน 18/1 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กทม. สำนักงานเขตฯ จึงได้มีหนังสือประสานสำนักการโยธา เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าว

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ในระหว่างใช้บังคับ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 21 ส.ค. 63 พื้นที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นขึ้น มีการพัฒนาพื้นที่จำนวนมาก ประกอบกับยังไม่มีข้อยุติเรื่องรูปแบบการก่อสร้างของกรมธนารักษ์ เป็นผลให้ไม่มีรูปแบบแนวเขตทางในการดำเนินการเวนคืนที่ชัดเจน กทม. จึงไม่ได้เสนอต่ออายุ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ ซึ่งจะหมดอายุใช้บังคับในวันที่ 21 ส.ค. 67 แต่อย่างใด ทั้งนี้ การดำเนินงานของ กทม. เป็นการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์สาธารณะส่วนรวม ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล หรือกลุ่มคนใด
 
 
 
กทม. กำชับเฝ้าระวังมาตรการรักษาความปลอดภัยในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ทั้ง 271 แห่ง
 
นายณรงค์ ตาปสนันทน์ ผู้อำนวยการเขตบางแค กทม. กล่าวกรณีครูพี่เลี้ยงร้องเรียนเพื่อนบ้านหลอนยา เกรงเด็กและบุคลากรภายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จะได้รับอันตรายว่า สำนักงานเขตบางแค ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเฝ้าระวังตรวจตราความเรียบร้อยและความปลอดภัยในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนวชิรราชวิทยายนอย่างต่อเนื่อง หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจได้โดยตรง ขณะเดียวกันได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) หลักสอง เพื่อติดตามความคืบหน้าด้านการดำเนินคดี พร้อมทั้งประสานหัวหน้าศูนย์ฯ กำชับมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในศูนย์ฯ ให้เข้มงวด ปิดป้ายห้ามเข้าพื้นที่ก่อนได้รับอนุญาต กำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานที่ให้ชัดเจน กรณีการเข้าพื้นที่ก่อนและหลังเวลาทำการให้บันทึกข้อมูลในสมุดควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ โดยให้หัวหน้าศูนย์ฯ หรืออาสาสมัครผู้ดูแลเด็กผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ตรวจสอบรายงานประจำทุกวัน เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในศูนย์ฯ 
 
นอกจากนั้น ยังได้แจ้งผู้ปกครองให้ปฏิบัติตามระเบียบของศูนย์ฯ อย่างเคร่งครัดเรื่องการรับ-ส่งนักเรียน ให้ส่งที่ประตูศูนย์ฯ ไม่อนุญาตให้ส่งบนอาคารเรียน กรณีกลับบ้านก่อนเวลา ผู้ปกครองติดต่อขอรับนักเรียนก่อนเวลาที่ห้องธุรการและไม่อนุญาตให้ขึ้นบนอาคารเรียน หากต้องการปรึกษาเรื่องนักเรียนให้มาติดต่อที่ห้องธุรการ หรือครูประจำชั้น และเนื่องจากสถานที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ชุมชนศิริเกษมพัฒนา จึงได้ประสานประธานชุมชนให้ช่วยดูแล ติดตาม และสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดอีกทางหนึ่ง
 
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ได้ประสานสำนักงานเขตบางแค ทราบว่า ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนวชิรราชวิทยายน (วัดพรหมสุวรรณสามัคคี) เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งประสานฝ่ายเทศกิจเฝ้าระวังตรวจตราความเรียบร้อยและความปลอดภัยของศูนย์ฯ รวมถึงประสาน สน. หลักสอง เพื่อติดตามความคืบหน้าด้านการดำเนินคดีดังกล่าว

        ทั้งนี้ สพส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ได้จัดทำแผนเฝ้าระวังความปลอดภัยในศูนย์ฯ กทม. ทั้ง 271 แห่ง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยได้มีหนังสือถึงสำนักงานเขตขอความร่วมมือดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังภัยกรณีเกิดเหตุในศูนย์ฯ ดังนี้ ปฏิบัติตามแผนการเฝ้าระวังภัยกรณีเกิดเหตุในศูนย์ฯ ในชุมชน กทม. มอบหมายฝ่ายเทศกิจตรวจตราความเรียบร้อยและความปลอดภัยของศูนย์ฯ ในชุมชน กทม. อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีตำรวจ ผู้นำชุมชน ฯลฯ เพื่อร่วมเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดเหตุในศูนย์ฯ รวมถึงได้กำชับกวดขันให้ศูนย์ฯ ปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังภัยฯ โดยเคร่งครัดต่อไป
 
 
 
กทม. แจงปรับสเปกงานเดินระบบ-บำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เปิดโอกาสให้มีผู้ยื่นข้อเสนอมากราย
 
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการปรับปรุงเงื่อนไขประกวดราคาโครงการเดินระบบและซ่อมบำรุงเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ กทม. เอื้อประโยชน์เอกชนว่า สสล. ได้จัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างเหมาเอกชนเดินระบบและบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตั้งแต่เดือน ก.ย. ๖๖ โดยได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างด้วยวิธีการเชิญชวนและการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ ๙ ก.พ. ๖๗ ปรากฏว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอราคาและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน ๔ ราย ผลการพิจารณาปรากฏว่า บริษัทที่ ๑ ยื่นเอกสารรายชื่อ คุณวุฒิ และประวัติการทำงาน และประสบการณ์ของบุคลากรที่เข้าร่วมดำเนินการตามหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่เป็นไปที่กำหนดไว้ตามขอบเขตของงานข้อ ๓.๑๖ ข้อ ๔.๑๑ และข้อ ๑๒.๒ งานด้านการบำรุงรักษาระบบข้อมูลคุณภาพอากาศและศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร บริษัทที่ ๒ ยื่นเอกสารรายชื่อ คุณวุฒิ และประวัติการทำงาน และประสบการณ์ของบุคลากรที่เข้าร่วมดำเนินการตามหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่เป็นไปที่กำหนดไว้ตามขอบเขตของงานข้อ ๓.๑๖ ข้อ ๔.๑๑ และข้อ ๑๒.๒ งานด้านการบำรุงรักษาระบบข้อมูลคุณภาพอากาศและศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร บริษัทที่ ๓ ยื่นเอกสารรายชื่อ คุณวุฒิ และประวัติการทำงาน และประสบการณ์ของบุคลากรที่เข้าร่วมดำเนินการตามหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่เป็นไปที่กำหนดไว้ตามขอบเขตของงานข้อ ๓.๑๖ ข้อ ๔.๑๑ และข้อ ๑๒.๒ งานด้านการบำรุงรักษาระบบข้อมูลคุณภาพอากาศและศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร และไม่นำส่งต้นฉบับเอกสารหลักประกันการเสนอราคามาให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบความถูกต้องภายในกำหนด และบริษัทที่ ๔ ยื่นเอกสารรายชื่อ คุณวุฒิ และประวัติการทำงาน และประสบการณ์ของบุคลากรที่เข้าร่วมดำเนินการตามหน้าที่ที่รับผิดชอบและประสบการณ์ไม่เป็นไปที่กำหนดไว้ตามขอบเขตของงาน ข้อ ๓.๑๔ ข้อ ๓.๑๖ ข้อ ๔.๑๑ และข้อ ๑๒.๒ งานด้านการบำรุงรักษาระบบข้อมูลคุณภาพอากาศและศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สสล. จึงยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรก เนื่องจากผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง ๔ ราย ไม่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก อย่างไรก็ตาม สสล. ได้ดำเนินการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์โครงการฯ ครั้งที่ ๒ โดยประกาศร่างขอบเขตของงานฯ เพื่อรับฟังข้อวิจารณ์จากประชาชนและผู้ประกอบการ ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๑ พ.ค. 67 ปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้ามาวิจารณ์ร่างขอบเขตของงานฯ จำนวน ๑ ราย ซึ่ง สสล. พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่กีดกันทางการค้า และเปิดโอกาสให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติเข้ายื่นข้อเสนอได้มากราย และไม่ส่งผลต่อความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง จึงได้ปรับลดมูลค่าผลงานจาก ๕ ล้านบาท เป็น ๓.๕ ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของ กทม. และความคุ้มค่าของงบประมาณ ตลอดจนประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศของ กทม. ได้ทันก่อนเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200