กทม. ร่วมตรวจสอบสถานที่พบงูจงอางในเขตหนองแขม ขอความร่วมมือปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย
นางมณีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีมีการโพสต์แจ้งเตือนพบงูจงอางในป่ากองถ่ายภายในสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 หนองแขม ว่า สำนักงานเขตหนองแขม ได้ประสานสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองแขม อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ร่วมตรวจสอบสถานที่ที่ได้รับรายงานการพบงูจงอางบริเวณสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สอบถามผู้ดูแลสถานที่แจ้งว่า พบงูจงอางบริเวณพื้นที่ที่จัดให้มีสภาพเป็นทุ่งหญ้ากว้างไว้สำหรับถ่ายละคร โดยที่ผ่านมาบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเคยพบงูบ้างเป็นบางครั้ง เนื่องจากภายในสถานีมีการจำลองสถานที่ให้เป็นป่า ประกอบกับบริเวณโดยรอบสถานีมีลักษณะเป็นพงหญ้าและมีต้นไม้รก ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในสถานี อีกทั้งสถานีได้จัดพนักงานดูแลพื้นที่ดังกล่าว ทั้งทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันไม่พบงูดังกล่าว หรืองูชนิดอื่น ๆ ทั้งนี้ ผู้ดูแลสถานีแจ้งว่า ไม่เป็นกังวลในประเด็นของงูพิษ (จงอาง) หากต้องการความช่วยเหลือ หรือพบงูอีก จะประสานสำนักงานเขต หรือสถานีดับเพลิงฯ เพื่อดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้แจ้งเจ้าของสถานที่ขอความร่วมมือปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยกับผู้ที่อาศัย หรือปฏิบัติงานในพื้นที่ ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจ แนวทางปฏิบัติวิธีป้องกันเมื่อพบงู หรือสัตว์มีพิษ ในรูปแบบอินโฟกราฟิกผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์หน่วยงานของ กทม. และแจ้งช่องทางการแจ้งเหตุ เพื่อขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ผ่านระบบ Traffy Fondue
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า ตามที่ได้รับรายงานการพบเห็นงูจงอางในพื้นที่เขตหนองแขม ซึ่งอาจเป็นงูที่ติดมากับรถบรรทุกสินค้า หรืออาจหลุดออกมาจากสถานที่ที่มีผู้ลักลอบเลี้ยงงูพิษ โดยที่ผ่านมาการให้ความช่วยเหลือประชาชนจับงูพิษ ส่วนใหญ่จะเป็นงูเห่า การจับงูจงอางมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับงูประเภทอื่น เนื่องจากไม่ใช่งูประจำถิ่นที่จะพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จะทำให้งูไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในแหล่งที่อยู่เดิมได้ ประกอบกับงูเป็นสัตว์เลือดเย็น ต้องปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อม จึงเลื้อยเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ตามรองเท้า ชั้นวางรองเท้า กองเสื้อผ้า และกองวัสดุต่าง ๆ ทำให้มีการพบเห็นงูและสัตว์มีพิษในบ้านเรือนประชาชนมากขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนจัดบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนตัวของงู และเมื่อพบเห็นงูควรยืนอยู่ในระยะที่ปลอดภัยและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของงู เพื่อชี้จุดหลบซ่อนตัวให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ประชาชนที่พบงู หรือสัตว์มีพิษเข้าบ้านสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม. ยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ส่งเสริมเมนูชูสุขภาพ ประเมิน “Street Food Good Health”
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหาร รองรับปีแห่งการท่องเที่ยวว่า กทม. มีแนวทางพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักอนามัย สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขต จัดทำแผนการดำเนินงานพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ในพื้นที่ทำการค้าที่ได้รับอนุญาต จำนวน 55 จุด 14 พื้นที่เขต เพื่อให้ผู้ค้าปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านการสุขาภิบาลอาหารที่ กทม. กำหนด ซึ่งการดำเนินการต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งผู้ค้าที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตตรวจเฝ้าระวังด้านสุขลักษณะทางกายภาพและคุณภาพอาหาร ด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ตรวจความสะอาดของภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหารอย่างสม่ำเสมอ แนะนำให้ผู้ค้าได้รับการอบรมผู้สัมผัสอาหาร ประกอบกับเจ้าหน้าที่ สนอ. ได้ตรวจสอบติดตามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ตลอดจนนิเทศติดตามการพัฒนางานสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น กทม. ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีดำเนินการคัดเลือกพื้นที่อาหารริมบาทวิถี และเน้นพัฒนาด้านสุขาภิบาลอาหาร ด้านโภชนาการ ส่งเสริมการไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และพื้นที่โปร่ง/จัดที่นั่งบริการ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมเมนูชูสุขภาพ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส แสดงอัตลักษณ์ เมืองสร้างสรรค์อาหาร ให้เป็นที่รู้จักระดับโลก โดยมีแบบประเมินการสุขาภิบาลอาหาร SAN Plus “Street Food Good Health” ในมิติ : ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดมหกรรมขับเคลื่อนโยบาย ยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี SF Local to Global ในวันที่ 12 ก.ค. 67 บริเวณพื้นที่ทำการค้าซอยอารีย์ เขตพญาไท และถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์
กทม. ดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนในสังกัด กำชับมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา
นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพจิตให้แก่เด็กและเยาวชนในกลุ่มวัยเรียนว่า กทม. ได้กำหนดนโยบายดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนไม่ให้มีการทำร้าย หรือรังแก จัดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอาวุธ ตามประกาศ กทม. เรื่อง มาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของ กทม. และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ขณะเดียวกัน สนศ. ได้กำชับสำนักงานเขตและโรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาสังกัด กทม. อย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มความเข้มงวดการตรวจตราสอดส่องดูแลนักเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยให้โรงเรียนจัดครูที่ปรึกษา ครูประจำชั้น ครูให้คำปรึกษา ครูแนะแนว หรือครูที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น แต่ปฏิบัติหน้าที่ในทำนองเดียวกันคอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงว่า จะประสบปัญหา ซึ่งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสังกัด กทม. ได้จัดชมรม TO BE NUMBER ONE โดยภายในชมรมจะมีกิจกรรมการบริการด้านให้คำปรึกษา บริการฝึกแก้ปัญหาพัฒนา EQ เรียนรู้ด้วยตนเอง และก่อนให้บริการ มีแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ EQ ของกรมสุขภาพจิต สำหรับวัยรุ่นอายุระหว่าง 12 – 17 ปี และวัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18 – 60 ปี และบริการจัดกิจกรรมสร้างสุข
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เป็นกิจกรรมที่เน้นการช่วยเหลือดูแลและพัฒนาสมาชิกให้มีคุณภาพและมีความสุข ภายใต้แนวคิด “ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ” มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนผ่านการคัดกรองนักเรียนตามแบบประเมิน SDQ และเปิดพื้นที่โรงเรียนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ตามนโนบายโครงการ Open Education โครงการ Saturday School และ Sunday School ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงความสามารถของตนเอง และนักเรียนที่มีปัญหาได้มีที่พึ่งทางจิตใจ มีกิจกรรมช่วยเหลือให้นักเรียนที่ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนจะประชุมผู้ปกครองทุกปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลนักเรียนให้มีความปลอดภัยทั้งขณะที่อยู่ภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน
นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพจิตให้แก่เด็กและเยาวชนในกลุ่มวัยเรียนว่า กทม. ได้กำหนดนโยบายดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนไม่ให้มีการทำร้าย หรือรังแก จัดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอาวุธ ตามประกาศ กทม. เรื่อง มาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของ กทม. และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ขณะเดียวกัน สนศ. ได้กำชับสำนักงานเขตและโรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาสังกัด กทม. อย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มความเข้มงวดการตรวจตราสอดส่องดูแลนักเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยให้โรงเรียนจัดครูที่ปรึกษา ครูประจำชั้น ครูให้คำปรึกษา ครูแนะแนว หรือครูที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น แต่ปฏิบัติหน้าที่ในทำนองเดียวกันคอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงว่า จะประสบปัญหา ซึ่งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสังกัด กทม. ได้จัดชมรม TO BE NUMBER ONE โดยภายในชมรมจะมีกิจกรรมการบริการด้านให้คำปรึกษา บริการฝึกแก้ปัญหาพัฒนา EQ เรียนรู้ด้วยตนเอง และก่อนให้บริการ มีแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ EQ ของกรมสุขภาพจิต สำหรับวัยรุ่นอายุระหว่าง 12 – 17 ปี และวัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18 – 60 ปี และบริการจัดกิจกรรมสร้างสุข
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เป็นกิจกรรมที่เน้นการช่วยเหลือดูแลและพัฒนาสมาชิกให้มีคุณภาพและมีความสุข ภายใต้แนวคิด “ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ” มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนผ่านการคัดกรองนักเรียนตามแบบประเมิน SDQ และเปิดพื้นที่โรงเรียนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ตามนโนบายโครงการ Open Education โครงการ Saturday School และ Sunday School ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงความสามารถของตนเอง และนักเรียนที่มีปัญหาได้มีที่พึ่งทางจิตใจ มีกิจกรรมช่วยเหลือให้นักเรียนที่ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนจะประชุมผู้ปกครองทุกปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลนักเรียนให้มีความปลอดภัยทั้งขณะที่อยู่ภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน