Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567

กทม. รุกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ผลสุ่มตรวจสัตว์ปีกยังไม่พบรายงานเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ เพื่อติดตามสถานการณ์และข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เฝ้าระวังโรคเชิงรุก และติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีก สนามชนไก่ สถานประกอบการที่เกี่ยวกับสัตว์ปีก และสถานที่ที่มีนกพิราบรวมฝูงกันจำนวนมาก รวมทั้งออกหน่วยเคลื่อนที่แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัตว์ปีกจากประชาชน ในกรณีพบสัตว์ปีกป่วยตายเป็นจำนวนมากและสงสัยการติดเชื้อไข้หวัดนก สนอ. จะประสานความร่วมมือสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพฯ และสำนักงานเขตลงพื้นที่สอบสวนควบคุมโรคทั้งในคน และสัตว์ กักกันโรค พ่นน้ำยาทำลายเชื้อโรค วางแผนการลดจำนวนสัตว์ปีกในพื้นที่พบโรค และสุ่มเก็บตัวอย่างจากสัตว์ปีกตรวจเชื้อโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้ ปัจจุบันจากผลการสุ่มตรวจตัวอย่างสัตว์ปีกยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ 

      นอกจากนั้น ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ผู้ประกอบการ และตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ หากพบว่า มีความเสี่ยง หรือความผิดปกติของสัตว์ปีกให้แจ้ง สนอ. หรือสำนักงานเขต และให้งดการนำสัตว์ปีกนั้นไปจำหน่ายจ่ายแจก นำไปประกอบอาหาร หรือรับประทาน กรณีจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องสวมใส่ถุงมือป้องกัน และล้างมือให้สะอาดหลังการสัมผัสซากสัตว์ปีกทุกครั้ง หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ และไอ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งว่า ทำงาน หรือใกล้ชิดกับสัตว์ปีก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย ห้ามนำสัตว์ปีกป่วยตายมาปรุงอาหาร รวมทั้งควรรับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น สำหรับไข่ควรเลือกที่สดใหม่ และไม่มีมูลติดปนเปื้อนที่เปลือกไข่ หากพบผู้ป่วยจากการสัมผัสสัตว์ปีกให้แจ้งสายด่วน สนอ. โทร. 0 2203 2872 หรือสายด่วน กทม. 1555 ทันที


นายศรชัย โตวานิชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กล่าวว่า  สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครมีตลาดในความรับผิดชอบที่มีโซนการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์ปีก 2 ตลาด คือ ตลาดธนบุรีและตลาดนัดมีนบุรี ซึ่งได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในโซนค้าสัตว์ปีกมีชีวิต โดยจัดเจ้าหน้าที่ของ สงต. ลงพื้นที่โซนการค้าสัตว์ปีกมีชีวิต เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ค้าในการระมัดระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ตรวจสอบการมีใบอนุญาตการจำหน่ายสัตว์เลี้ยง การตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และชันสูตรโรคสัตว์ อีกทั้งร่วมกับกรมปศุสัตว์ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกเป็นประจำ

 

 

กทม. ยกระดับอาหารริมทาง จับมือภาคีเครือข่ายจัด “Bangkok Food Fest”
 
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ กทม. เพื่อผลักดันให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวว่า สวท. ให้ความสำคัญการส่งเสริมศักยภาพของร้านอาหารริมทาง (Street Food) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยได้จัดงานเทศกาลอาหาร (Bangkok Food Fest) บริเวณถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ โดยร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อออนไลน์ เข้ามาร่วมจัดกิจกรรม รวมถึงสถานทูตตุรกีประจำประเทศไทย สมาคมเชฟจากฝรั่งเศส และวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (RICE) ร่วมออกร้านจำหน่ายอาหาร และสาธิตการทำอาหาร ซึ่งสรุปผลจากการจัดงาน ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานเทศกาลอาหาร กทม. ในภาพรวมอยู่ในระดับพอใจมาก คิดเป็นร้อยละ 90 

      ขณะเดียวกันได้มีแนวทางประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพ ความโดดเด่น และมนต์เสน่ห์ด้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ยกระดับอาหารริมทาง (Street Food) ให้มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย และช่วยให้การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารของ กทม. เข้าถึงประชาชน และนักท่องเที่ยวได้อย่างแพร่หลาย

 

 

 

กทม. เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ไปแล้ว 21 เขต ครบ 50 เขตภายใน 30 ส.ค. นี้
 
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เป็นการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีขั้นตอนและระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนตามระเบียบของคณะกรรมการผังเมือง รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยที่ผ่านมา กทม. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และหลังจากมีร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยได้ประชาสัมพันธ์และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นรายกลุ่มเขตทั้งหมด 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 23 – 24 ธ.ค. 66 และจัดประชุมใหญ่ ณ ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 67 รวม 7 ครั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกภาคส่วนให้มากที่สุด 
       
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) อย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและส่วนที่คัดค้าน สวพ. จึงได้เสนอปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดของประชาชนออกไปจนถึงวันที่ 30 ส.ค. 67 และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติมรายเขต 50 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. – ส.ค. 67 ในวันหยุดราชการ (เสาร์ – อาทิตย์) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในแต่ละเขตได้รับทราบข้อมูลการปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมรายเขตของตนเองอย่างละเอียดรอบด้าน ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงรับฟังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และนำไปปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้จัดประชุมรายเขตไปแล้วจำนวน 21 เขต และจะครบทั้ง 50 เขต ในเดือน ส.ค. 67 โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดและความคืบหน้าโครงการได้ที่เว็บไซต์ https://plan4bangkok.com/

      ทั้งนี้ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จัดทำขึ้นตามหลักวิชาการทางผังเมือง เพื่อชี้นำการพัฒนาเมืองและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย (Public Safety) มีสุขอนามัย (Public Health) และมีสวัสดิภาพของสังคม (Public Welfare) รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาความคิดเห็นของประชาชนและขั้นตอนการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จะต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานและคณะกรรมการที่กลั่นกรองหลายชุด มิใช่เป็นการดำเนินการภายใต้การตัดสินใจของ สวพ. เท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาตามหลักวิชาการและเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ โดย กทม. ในฐานะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นผู้วางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครจะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนมาพิจารณาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและเสนอคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200