Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567

กทม. เข้มมาตรการรับมือฤดูฝน พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน
 
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ว่า กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยประชุมร่วมกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูง

ทั้งนี้ กทม. มีแผนการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ในด้านต่าง ๆ โดยการควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำรวมทั้งแก้มลิง 35 แห่งและบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษาประจำปีแล้วเสร็จ เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่ฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. 477 แห่ง และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขต 421 เครื่อง  สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และหน่วย BEST เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ทั้งการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงการแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นไป อีกทั้งปลัดกรุงเทพมหานครยังได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งแก้ไขปัญหาทันที


สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2565 มีทั้งสิ้น 737 แห่ง เป็นจุดเสี่ยงน้ำฝน 617 จุด และจุดเสี่ยงแนวริมแม่น้ำ (น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน) 120 จุด แก้ไขไปแล้ว 179 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 231 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จทันฤดูฝนปีนี้ 190 แห่ง ส่วนปี 2567 ได้รับงบประมาณ จำนวน 72 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จทันฤดูฝนปีนี้ 4 แห่ง และในปี 2568 อยู่ระหว่างของบประมาณ จำนวน 75 แห่ง คงเหลือที่อยู่ในระหว่างสำรวจและหาแนวทางแก้ไขอีก 180 แห่ง อย่างไรก็ตาม กทม. ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน. ทราบเป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง ขณะเดียวกันได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ รวมทั้งได้ประชุมหารือเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อ 

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง กทม. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเฝ้าระวังและเตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ พร้อมตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงและมีความแข็งแรง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรับทราบสถานการณ์น้ำขึ้นลงตามตารางน้ำขึ้น-น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง เป็นต้น  

ขณะเดียวกันในส่วนของแนวฟันหลอ กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่เรียงกระสอบทรายเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและความมั่งคงแข็งแรงแล้ว เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนน้ำท่วมพบจุดที่มีปัญหารวม 120 แห่ง ได้ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมโดยจะแก้ไขถาวรได้ทันในฤดูน้ำหลากนี้ได้ 64 แห่ง และเรียงกระสอบทรายป้องกันในบริเวณที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ กทม. ได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุเพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์  https://dds.bangkok.go.th./, https://pr-bangkok.com/, Facebook : @BKK.BEST และ X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue

 

 

กทม. เร่งแก้ไขสติกเกอร์ “กรุงเทพฯ-Bangkok” คานรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวันปูดพอง

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ป้ายสติกเกอร์ “กรุงเทพฯ-Bangkok” บริเวณคานรางรถไฟฟ้า แยกปทุมวัน ปูดพองบางจุดว่า จากการตรวจสอบสาเหตุที่สติกเกอร์มีลักษณะปูดพอง รวมถึงขอบสติกเกอร์มีลักษณะหลุดลอกออกมา เนื่องจากสภาพอากาศ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 ก่อนติดตั้งสติกเกอร์มีฝนตก ทำให้มีความชื้นซึมเข้าเข้าเนื้อคอนกรีต และเกิดการรวมตัวของความชื้นที่ด้านหลังแผ่นสติกเกอร์ จึงทำให้มีสภาพปูดพอง ซึ่ง สจส. ได้เร่งรัดแก้ไขโดยใช้วิธีรีดน้ำออกจากสติกเกอร์ และปัจจุบันได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ วัสดุสติกเกอร์ที่ใช้งานดังกล่าวเป็นชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับติดตั้งภายนอกอาคารมีการรับประกันสีลอก สีร่อน และสีมีความคมชัดยาวนาน

 

 

กทม. รุกจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่คลินิกผู้สูงอายุ รพ.ในสังกัด
 
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้ให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุที่มารับบริการในสถานพยาบาล กทม. ว่า  โรงพยาบาลสังกัด กทม. ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้ ให้คำแนะนำและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการดูแลและป้องกันโรคในผู้สูงอายุที่มารับบริการ ณ คลินิกผู้สูงอายุของโรงพยาบาล รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ      ในชมรมผู้สูงอายุของโรงพยาบาล โดยให้ความรู้เรื่องการรักสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย การร้องเพลง การเล่นกีฬา โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ภัยร้ายช่วงหน้าร้อน โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร การดูแลสุขภาพในภาวะโลกร้อน โรคโลหิตจาง การป้องกันอุบัติเหตุจากการหกล้ม การดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย ฝึกสมองสองมือและบริหารอวัยวะภายในร่างกาย 
       
ขณะเดียวกัน สนพ. มีแนวทางส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ  ในทุกมิติ รวมถึงการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุและจัดบริการสวัสดิการสังคมในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยให้บริการคลินิกผู้สูงอายุของโรงพยาบาล เพื่อคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ และพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องจนถึงที่บ้าน โครงการ กทม. ใส่ใจ ผู้สูงวัย หัวใจแกร่ง ดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานไตรภาคี (โรงพยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุขและสำนักงานเขต) เพื่อให้ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็ว จัดกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุของโรงพยาบาลในสังกัด ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคม การรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านผู้สูงอายุและการพัฒนาผู้สูงอายุ รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้สูงอายุ (Active Aging) ทั้งด้านสุขภาพ คัดกรอง และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ด้านการมีส่วนร่วม กิจกรรมการออกกำลังกาย ได้แก่ แอโรบิก โยคะ ไทเก็ก กิจกรรมกีฬาสัมพันธ์รักษ์สุขภาพ มีการแข่งขันกีฬา เช่น โยนห่วง เปตอง ซัฟเฟิลบอร์ด เป็นต้น กิจกรรมดนตรีบำบัด รำวง เต้นลีลาศ และด้านความมั่นคง กิจกรรมการฝึกอาชีพ เช่น ประดิษฐ์เทียนหอม ประดิษฐ์รองเท้าจากผ้า ประดิษฐ์พวงมาลัยผ้าขาวม้า ถักสานกระเป๋า เป็นต้น 

นอกจากนั้น สนพ. ยังได้จัดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุสำหรับออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชมรมผู้สูงอายุของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. พร้อมจัดโครงการกีฬาสัมพันธ์รักษ์สุขภาพผู้สูงอายุของชมรมผู้สูงอายุเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยจัดแข่งขันกีฬาทั้งหมด  6 ประเภท ได้แก่ กีฬาเปตอง ซัฟเฟิลบอร์ด ปาเป้า โยนห่วง โบว์ลิ่งสนาม เดินทน และประกวดกองเชียร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แสดงความสามารถด้านกีฬา ประกอบกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ รวมถึงเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม สามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือสังคมได้ 


ส่วนความคืบหน้าการประสานความร่วมมือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับผู้สูงอายุของ กทม. ที่สอดคล้องแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุของรัฐบาล สนพ. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ กทม. ระยะที่  3 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2580) ของรัฐบาล เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

 

 

 

กทม. แจงเหตุรถบัสจอดทิ้งที่ศูนย์เยาวชน (ไทย-ญี่ปุ่น) เพราะขาดพนักงานขับรถ เร่งเปิดรับสมัครแทนอัตราว่าง

นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กล่าวกรณีมีข้อสังเกตรถบัส กทม. จอดทิ้งไว้ข้างสระน้ำศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดงว่า จากการตรวจสอบรถบัสดังกล่าวเป็นของศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง 1 คัน และกองการกีฬา 5 คัน โดยรถของศูนย์เยาวชนฯ เป็นรถบัสโดยสารปรับอากาศ ขนาด 45-50 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 62 ขณะนี้รถยนต์คันดังกล่าวไม่มีพนักงานขับรถ เนื่องจากเกษียณอายุราชการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 ทำให้ไม่มีการใช้งาน เพราะต้องใช้ผู้ขับขี่ตำแหน่งพนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดเบา มีใบอนุญาตขับขี่ประเภท 2 ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะและประสบการณ์ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและความปลอดภัยของผู้โดยสาร ขณะที่ศูนย์เยาวชนฯ มีตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ 3 อัตรา แต่พนักงานขับรถยนต์ทั้ง 3 คน ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ประเภท 2 ซึ่งอนุญาตให้ขับรถบัสและรถขนาดใหญ่ประเภทรถบรรทุกเท่านั้น จึงไม่สามารถขับรถบัสคันดังกล่าวได้ ทำได้เพียงสตาร์ทรถ วอร์มเครื่อง และทำความสะอาดรถอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2566 สวท. ได้เปิดรับสมัครตำแหน่งพนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดเบาไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่มีผู้มาสมัครสอบ ปัจจุบันได้เปิดรับสมัครอีกครั้งและจะสอบคัดเลือกในวันที่ 18 มิ.ย. 67

ส่วนรสบัสของกองการกีฬา ที่นำไปจอดในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนดินแดงไม่มีที่จอดรถ ประกอบกับตำแหน่งพนักงานขับเครื่องจักรกล มีอัตรากำลัง 5 อัตรา ปัจจุบันครองตำแหน่ง 3 อัตรา ว่าง 2 อัตรา จึงทำให้พนักงานขับรถต้องหมุนเวียนรถใช้ตลอด โดยอัตราที่ว่าง 2 อัตรา ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้สมัครแต่อย่างใด

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200