ซื้อเครื่องฟิตเนสส่อทุจริต ศูนย์ต้านโกงกทม.ชี้’มีมูล’ ชงตั้งกก.ฟัน’วินัย-อาญา’

ศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. แจ้ง’ชัชชาติ’พบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 5 โครงการมีมูลส่อทุจริต เสนอปลัดกรุงเทพฯตั้ง กก.สอบวินัย-เอาผิดอาญา ลุยสอบขยายผล 14 โครงการ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก “ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย” เปิดเผยถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม. โดยพบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายส่อแพงเกินจริง โดยเป็นการจัดซื้อของศูนย์กีฬาวารีภิรมย์และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ศูนย์วารีภิรมย์ 4,999,990 บาท และศูนย์วชิรเบญจทัศวงเงิน 4,998,800 บาทนั้น

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้ดำเนินโครงการ จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 7 โครงการ ขณะนี้นำมาให้บริการกับประชาชนแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ วงเงินงบประมาณ 4.99 ล้านบาท และโครงการสำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 4.99 ล้านบาท โครงการสำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ 17.9 ล้านบาท และโครงการสำหรับศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ 11.52 ล้านบาท ซึ่งมี 2 โครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และอีก 2 โครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.)

“ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจรับ และส่งมอบงานตามสัญญา 3 โครงการนั้น ได้สั่งการให้ชะลอการส่งมอบทั้งหมดไว้ก่อน ได้แก่ โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการสำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช 15.69 ล้านบาท โครงการสำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.11 ล้านบาท และโครงการสำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี 11.01 ล้านบาท เพื่อให้ ศปท.กทม.ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อทั้งหมดของทุกโครงการที่จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย รวมถึงโครงการก่อสร้างและปรับปรุงศูนย์กีฬาและนันทนาการอีก 7 โครงการที่มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ร่วมด้วย ทั้งนี้ หากพบว่ามีมูลจะ ส่งสำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ได้ประสานข้อมูลให้หน่วยงานกลาง ได้แก่ สตง.และสำนักงาน ป.ป.ท.ร่วมตรวจสอบด้วย” นายชัชชาติกล่าว

ล่าสุด นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) รายงานต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีที่ ศตท.กทม.ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสำหรับ ศูนย์กีฬา จำนวน 5 โครงการ พบว่ามีประเด็นข้อบกพร่องและมีมูลที่ส่อการทุจริต ซึ่งอาจ ผิดกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) จึงรวบรวมข้อมูลเสนอให้ปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณาตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยและส่งดำเนินคดีอาญาต่อไป

ทั้งนี้ นายชัชชาติได้สั่งการให้ ศตท.กทม.ร่วมกับสำนักงานตรวจสอบภายในของ กทม. ขยายผลการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้งหมดทันที รวม 14 โครงการ พร้อมสั่งการให้ชะลอโครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจรับและส่งมอบเพื่อรอการตรวจสอบ ของ ศตท.กทม.ต่อไป ขณะเดียวกัน ศตท.กทม.พร้อมเดินหน้าเชิงรุกตรวจสอบ ต่อข้อสงสัยในโครงการประชาสัมพันธ์มหานครแห่งกีฬา และโครงการอื่นๆ อีกด้วย

ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1704/2567 ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองปลัดกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้ นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพ มหานคร เป็นผู้รับผิดชอบสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เพิ่มเติมอีกหน่วยงานหนึ่ง เนื่องจากนายณัฐพงศ์เป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลศูนย์ ศตท.กทม. เพื่อให้สามารถ ดำเนินการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ข้าราชการทุจริตออกไปแล้ว 29 ราย สำหรับสถิติการดำเนินการของ ศตท.กทม. ซึ่งก่อตั้งเมื่อตุลาคม 2565 ได้มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ทั้งสิ้น 781 เรื่อง ในจำนวนนี้มีมูลทุจริต 56 เรื่อง ได้ดำเนินการถึงขั้นสอบสวนทางวินัย 44 เรื่อง และมีการปลดออกและไล่ออกจากราชการ รวม 29 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 12 เรื่อง ส่งต่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ท. จำนวน 5 เรื่อง

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200