กทม. เข้มงวดตรวจสอบจุดเสี่ยงท่อร้อยสายไฟฟ้า พร้อมประสาน กสทช.-กฟน. เร่งจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบจุดเสี่ยงท่อร้อยสายไฟฟ้าตามแนวรถไฟฟ้าและถนนในกรุงเทพฯ ว่า สนย. ได้เชิญการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เจ้าของโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อวางมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาร่วมกันหลังเกิดเหตุคนตกลงไปในท่อร้อยสายเสียชีวิต ขณะเดียวกันได้ประสาน กฟน. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบทุกจุดที่มีการก่อสร้างและมีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาเช่นนี้อีก หากตรวจพบให้แก้ไขทันที อย่างไรก็ตาม สนย. จะเข้มงวดตรวจสอบและประสาน กฟน. โดยใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนต่อประชาชนที่สัญจร
ส่วนการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร สนย. ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้จัดระเบียบสายสื่อสารและสายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และ กฟน. อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนและแจ้งปัญหาจุดเร่งด่วนที่จะต้องจัดระเบียบสายสื่อสารและสายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน
กทม. ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการรองรับสังคมสูงวัยระยะที่ 3 เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกมิติ
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สพส. ได้เตรียมความพร้อมกำหนดนโยบายรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยจัดทำแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังของสังคม” เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงาน กทม. ที่มีภารกิจด้านผู้สูงอายุให้ทำงานเชิงบูรณาการและแปลงแผนสู่การปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และสภาพแวดล้อม นำไปสู่การให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้ มีหลักประกันที่มั่นคงจนถึงบั้นปลายของชีวิต และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชากรก่อนวัยสูงอายุตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต มีทัศนคติที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับคนต่างวัยได้ และให้การเกื้อหนุนแก่ผู้สูงอายุในยามจำเป็น
นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิบัติการย่อย ประกอบด้วย (1) การเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ เพื่อให้ประชากรก่อนวัยสูงอายุเตรียมพร้อม เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต (2) การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมทั้งในมิติเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม รวมถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย โดยสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามความเหมาะสม หรือได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือกรณีที่มีความจำเป็น แบ่งเป็น มิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อม และ (3) การบริหารและส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบรองรับสังคมสูงวัย เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ กทม. ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) ให้มีประสิทธิภาพและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง โดยมีแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระดับพื้นที่ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งสะท้อนถึงปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ กทม. ตลอดจนมีโครงสร้างการดำเนินงานและการกำกับติดตามที่เป็นระบบ คล่องตัว และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม
กทม. เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง ตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์-ควบคุมการแพร่ระบาด
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามแนวโน้มสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนพ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม. เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อ ผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้มอบหมายโรงพยาบาลสิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ขึ้น เพื่อติดตามข้อมูลและควบคุมดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทราบทันที ทั้งนี้ หากมีอาการของโรคพึงสังเกตอาการจะคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะแยกกักตัวทันทีและรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนด
นอกจากนั้น ได้รณรงค์เน้นย้ำให้ความรู้และคำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตัว ไม่คลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน ไม่ร่วมรับประทานอาหารและใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น หมั่นสังเกตผู้ที่พบปะว่า มีอาการไม่สบายหรือไม่ การใส่หน้ากากจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ลงได้มาก โดยพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงยังคงมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนหลายคนและคนแปลกหน้า ซึ่ง สนพ. ได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรอง แยกกักรักษาผู้ป่วย และสื่อสารถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือย่านพักอาศัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในกรุงเทพฯ รวมทั้งเน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์ หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว แล้วแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
เขตบางเขนรุดตรวจสอบแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม. กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทราสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนใกล้เคียง อาทิ การใช้เครื่องขยายเสียงส่งเสียงดังเกินเวลา เปิดไฟสปอตไลต์ส่องรบกวนบ้านเรือนข้างเคียง ความปลอดภัยของเครื่องเล่นและสวนสนุกว่า สำนักงานเขตบางเขนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการกรณีการใช้เครื่องขยายเสียง เนื่องจากตลาดนัดมีการจัดงาน Event บ่อยครั้ง โดยล่าสุดจัดเตรียมคอนเสิร์ตใหญ่ฉลองครบรอบ 11 ปี 3 วัน 3 คืน สำนักงานเขตฯ จึงได้มีหนังสือคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หยุดประกอบกิจการประเภทการแสดงดนตรีและร้องทุกข์กล่าวโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) โคกครามแล้ว
ส่วนการเปิดไฟสปอร์ตไลท์ดวงใหญ่ส่องรบกวนบ้านเรือนข้างเคียง สำนักงานเขตฯ ได้แนะนำผู้จัดงานให้แก้ไขเหตุดังกล่าว และกรณีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องเล่นในสวนสนุก สำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้หยุดประกอบกิจการดังกล่าวจนกว่าจะได้รับอนุญาต ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สน. โคกคราม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานสรรพสามิตในพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป