กทม. เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร ประสานเครือข่ายสาธารณสุขแนะวิธีสังเกตอาการ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือน ก.ค. 65 – วันที่ 20 พ.ค. 67 มีผู้ป่วยรวม 450 ราย เป็นเพศชาย 444 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.7 ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 ตรวจพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร 33 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) ซึ่ง สนอ. มีระบบเฝ้าระวังพร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรคฝีดาษวานร โดยได้ประสานเครือข่ายด้านสาธารณสุข เช่น NGO สถานประกอบการสุขภาพประเภทสปา ซาวน่า ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำการสังเกตอาการและมาตรการป้องกันโรคฝีดาษวานรสำหรับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง รวมทั้งเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยเฉพาะในคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อ ผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย พร้อมเฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่อย่างรวดเร็ว เพื่อลดการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ หากประชาชนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด กอดจูบลูบคลำ พูดคุยระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้นภายใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้เข้ารับการตรวจที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจหาเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีอาการรุนแรงได้ ขอเตือนประชาชนไม่ควรประมาท เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคนหากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร ไม่คลุกคลี หรือสัมผัสตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้า หรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และควรหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือพบปะสังสรรค์ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร
นายบัญชา สืบกระพัน ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การตัดต้นไม้ริมถนนอ่อนนุชว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ต้นไม้ดังกล่าวมีลักษณะผุกร่อน เป็นโพรงจากภายในลำต้น ทำให้ต้นไม้ยืนต้นตาย อาจเกิดอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา สำนักงานเขตฯ จึงได้ตัดออก เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและได้นำต้นไม้ต้นใหม่ไปปลูกทดแทนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ให้ความสำคัญในการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ในพื้นที่ให้มีสภาพแข็งแรง เพื่อความร่มรื่น สวยงาม และปลอดภัย
นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและติดตามการดำเนินการโรงงานผลิตสินค้าปรุงรสปลอมภายในซอยเฉลิมพระเกียรติฯ แยก 14 เขตประเวศ ส่งขายตลาดนัด-ร้านค้าทั่วกรุงเทพฯ ว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าว พบการประกอบกิจการผลิตสะสม หรือแบ่งบรรจุสารปรุงแต่งอาหารที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ และมีผู้รับเป็นผู้ดำเนินกิจการโดยกระทำการดังกล่าวข้างต้นจริง แต่ขณะตรวจสอบสภาพสถานประกอบกิจการดังกล่าวได้หยุดประกอบการในชั้นต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้สถานประกอบการดังกล่าวหยุดประกอบกิจการด้วยอีกทางหนึ่ง และจะให้เจ้าหน้าที่ติดตามผลต่อไป
ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินการตรวจสอบ กำกับ ดูแลสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยสำนักงานเขตฯ ตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กทม. ตามอำนาจหน้าที่เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการผลิตอาหารให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านสุขลักษณะ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค นอกจากจะกำกับดูแลสถานประกอบการในรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กทม. แล้ว ผู้บริหาร กทม. ยังได้สั่งการให้สำนักงานเขตสำรวจสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งสถานประกอบการสถานที่ผลิตอาหารด้วย เพื่อกำกับดูแลสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกัน กทม. ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในพื้นที่ เพื่อให้สำนักงานเขตเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบ นอกจากนั้น สนอ. ยังมีข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการเลือกซื้อเครื่องปรุงรส โดยให้สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือภาชนะบรรจุ สังเกตลักษณะของอาหาร เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ดังนี้ (1) เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากชัดเจน ระบุข้อมูลการผลิต ได้แก่ ผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันเดือนปี ที่ผลิตและหมดอายุ (2) บรรจุภัณฑ์สะอาด ปิดผนึกอย่างสนิท ไม่มีรอยบุ๋ม ไม่มีร่องรอยการถูกเปิดมาก่อน (3) ลักษณะทางกายภาพ สี กลิ่น ไม่ผิดปกติจากเดิม กรณีผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำปลา ซีอิ๊ว ต้องใส ไม่มีตะกอนก้นขวด ในน้ำปลาแท้บางครั้งอาจพบผลึกใส ๆ ตกอยู่ที่ก้นขวด ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีตามธรรมชาติไม่ถือว่ามีอันตราย และ (4) ซื้อสินค้าในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ หากซื้อมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการหมดอายุของสินค้าก่อนที่จะได้รับการบริโภค หากผู้บริโภคสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว ไม่พบเลขสารบบอาหาร หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของ อย. ที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและบังคับการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงานนำเข้าและผลิตหลอดไฟฟ้า บริเวณซอยเทียนทะเล 19 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้เข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร โดยจากการตรวจสอบพบความเสียหายพื้นที่ประมาณ 1,520 ตารางเมตร จึงได้ออกคำสั่งให้บรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือห้ามใช้อาคาร กรณีฉุกเฉิน ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงการแก้ไขอาคารที่มีสภาพ หรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ตามแบบ ค.11 พร้อมประสานสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนเทียน กรณีเกิดการปะทุของควันไฟ เพื่อความปลอดภัย ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้อยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว พบลักษณะที่เกิดเหตุเป็นโกดังคอนกรีตชั้นเดียวหลังคากระเบื้อง ต้นเพลิงเกิดขึ้นภายในโกดัง เพลิงลุกไหม้โกดังเสียหายทั้งหมด ลุกลามอาคารคอนกรีตข้างเคียง ซึ่งใช้เป็นสำนักงานได้รับความเสียหาย 2 ชั้น ทั้งนี้ สปภ. ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุเพลิงไหม้โรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เข้าร่วมฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินของสถานประกอบการ ร่วมกับสถานประกอบการและชุมชนใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อีกทั้งผู้บริหาร กทม. ยังให้ความสำคัญและมอบนโยบายให้สำนักงานเขตจัดทำแผนเผชิญเหตุอัคคีภัยในแต่ละชุมชน และฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มีน้อยที่สุด หากประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง