รายงานพิเศษ: 2 ปี’ชัชชาติ’-ยกระดับเมืองน่าอยู่ เร่งเมกะโปรเจ็กต์-พัฒนากทม.

นภัสนันท์ กมลอนันต์กรณ์

ครบ 2 ปีการทำงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นำทีมรองผู้ว่าฯ กทม. รายงานประชาชน ภายใต้ชื่องาน “2 ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับเมืองน่าอยู่” พร้อมแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อวันที่ 28 พ.ค.

นายชัชชาติกล่าวว่า สิ่งที่ได้ทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงและปรับหลายๆ ด้าน เพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น

โดยเรื่องแรกปรับ Traffy Fondue ลดขั้นตอน เพิ่มโปร่งใส ตอบโจทย์ คือหนึ่งตัวอย่างที่ได้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชน 2 ปีได้แก้ไขเรื่องร้องเรียนเสร็จสิ้นแล้ว 465,291 เรื่อง จากที่มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 588,842 เรื่อง คิดเป็น 78% เฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมา ลดลง 97% จากเดิมใช้เวลา 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน

2.ปรับทางเท้ามาตรฐานใหม่ คงทน คุ้มค่า คิดถึงทุกคน ได้ปรับปรุงไป 785 ก.ม.

3.จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยให้ประชาชนเข้าถึงอาหารราคาถูก

ได้โดยไม่เบียดเบียนทางเดินเท้า ทำไปแล้ว 257 จุด พร้อมจัดระเบียบสายสื่อสารรกรุงรัง รวมระยะทาง 627 ก.ม. รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างเป็นหลอด LED

4.น้ำลดไว สัญจรทันใจ เศรษฐกิจไม่ติดขัด ปัญหาฝนตก น้ำไม่ระบาย เดินทางลำบาก ในปี 2565 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไข 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 2567 อีก 190 จุด และเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมก่อนที่จะเกิดฝน การล้างท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,200 ก.ม. ทำความสะอาดคลองเปิดทางน้ำไหล 1,960 ก.ม. ขุดลอกคลอง 217 ก.ม. บำรุงรักษาประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ล้างอุโมงค์ระบายน้ำทุกแห่ง และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกเครื่องให้พร้อมใช้งาน

5.เพิ่มพื้นที่สาธารณะ ให้เมืองมีชีวิต พัฒนาสวนสาธารณะ 58 แห่ง ศูนย์นันทนาการ 36 แห่ง ห้องสมุด 34 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงศูนย์กีฬาแบบใหม่ครบวงจร แล้ว 11 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาเบญจกิติ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน ศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ เตรียมขยายผลอีก 13 แห่ง

ส่วนการเพิ่มพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ กำลังปรับปรุงอาคารลุมพินีสถานสู่ Performance Art Hub ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2568 และการเพิ่มสวนขนาดใหญ่ให้เป็นปอดฟอกอากาศ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ เช่น โครงการเชื่อมบึงหนองบอน-สวนหลวง ร.๙ สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และสวนกีฬาทางน้ำแห่งใหม่ที่บ่อฝรั่ง (ริมบึงบางซื่อ) และสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก (เสรีไทย) ส่วนสวน 15 นาที สวนขนาดเล็กใกล้ชิดชุมชนระยะเดินไม่เกิน 15 นาที ล่าสุดเกิดขึ้นแล้วกว่า 100 แห่ง คาดว่าจะครบ 500 แห่ง ภายใน 4 ปี

6.ปรับบริการสุขภาพ ปูพรมตรวจรักษาโรค สร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อลดข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ปัญหาหมออยู่ไกล เข้าถึงยาก ไม่สะดวก เสียเวลา มีโครงการตรวจสุขภาพฟรี 1,000,000 คน เปิด Pride Clinic คัดกรอง-ปรึกษาฟรี สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากเดิมมี 6 แห่ง เพิ่มเป็น 31 แห่ง มีผู้ใช้บริการเกือบ 20,000 ราย

และ 7.โปร่งใสด้วยเทคโนโลยี คุ้มค่าเงินภาษี ตลอด 2 ปี ดำเนินการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มข้น มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 781 เรื่อง มีมูลทุจริต 56 เรื่อง ถึงขั้นสอบสวนทางวินัย 44 เรื่อง ให้ออกจากราชการ 29 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 12 เรื่อง ส่งต่อให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. 5 เรื่อง ในด้านการให้บริการขออนุญาตต่างๆ มีความสะดวกยิ่งขึ้นด้วย BMA One Stop Service (https://bmaoss.bangkok.go.th) รวมศูนย์การขอใบอนุญาตไว้บนออนไลน์ ประชาชนสามารถติดตามทุกคำขออนุญาตทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้จาก Line OA กรุงเทพมหานคร (@bangkokof cial)

นายชัชชาติกล่าวถึงการทำงานอีก 2 ปีว่า 2 ปีต่อไป สร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่แห่งอนาคต โดยทำงานประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งตั้งแต่ประกาศนโยบายและทำงานมา 2 ปี ทำได้ 90% ยังมีเรื่องที่ทำไม่ดี ยังมีปัญหาที่ต้องทำต่ออีกมาก ถ้าให้คะแนนการทำงาน ให้ 5 เต็ม 10 ส่วนคนกรุงเทพฯจะพอใจ หรือวัดว่ามีความสุขเพิ่มขึ้นเท่าไร ต้องให้ประชาชนบอก

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว จากนี้จะมีการเปลี่ยนรถบริการของ กทม. ทั้งรถเก็บขยะ รถบรรทุกน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ รถบรรทุก 6 ล้อ จากรถดีเซลมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าและเร่งรัดการก่อสร้างโรงเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม เพื่อลดการฝังกลบ และลดต้นทุนการจัดการขยะ โดยคาดว่าจะเปิดในปี 69 ซึ่งจะประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 172,462,500 บาท/ปี

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการปรับทางเท้า ว่า 2 ปี จากนี้ คนกรุงเทพฯ จะเดินทางสะดวกขึ้น ด้วยบริการป้ายรถเมล์ดิจิทัล 500 ป้าย การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง เพิ่มตัวเลือกการเดินทาง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย เช่น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เรือไฟฟ้า จักรยาน Shuttle Bus และการเดินเท้าที่สะดวกปลอดภัย มีหลังคาคลุม ด้านการจราจรจะคล่องตัวขึ้น โดยการอัพเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็น Adaptive Signaling ปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร 541 ทางแยก และสั่งการผ่าน Command Center

น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในส่วนการยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ว่า 2 ปีหลังนี้ จะผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่ง และเพิ่มโรงพยาบาลใหม่ในสังกัด กทม. อีก 4 แห่ง เพื่อขยายเตียงดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อีก 1,272 เตียง โดยจะเพิ่มที่โรงพยาบาลกลาง อีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนา 324 เตียง โรงพยาบาลคลองสามวา 268 เตียง โรงพยาบาลที่จะเปิดใหม่ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง เปิดแล้ว จะเปิดโรงพยาบาลดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และโรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง และพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง

นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงสถานีดับเพลิง 13 แห่ง และสร้างใหม่อีก 3 แห่ง พร้อมทั้งยกระดับ Command Center เพิ่มประสิทธิภาพการติดตั้ง GPS ให้รถพยาบาล 80 คัน และรถดับเพลิง 250 คัน ติดตามสถานการณ์ผ่าน IOT กล้อง DVR และ Body Cam เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจและสั่งการแบบเรียลไทม์

ปิดท้ายที่ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การพัฒนาคน คือการพัฒนาเมือง จะยกระดับการศึกษา สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการศึกษาปฐมวัยเป็นการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน จาก 83,264 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเริ่มรับเด็กเร็วขึ้นที่อายุ 1 ขวบครึ่ง เพิ่มชั้นอนุบาลสำหรับเด็ก 3 ขวบ แผนขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 2569

“2 ปีข้างหน้ามาดูผลงานกัน”

บรรยายใต้ภาพ

ผู้ว่าฯชัชชาติกับ 4 รองผู้ว่าฯ กทม.

 



ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 พ.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200