
(21 พ.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองเตย ประกอบด้วย
ติดตามการพัฒนาสวน 15 นาที บริเวณสวน 50 สุข (สวนไทรเฉลิมพระเกียรติ) ซอยสุขุมวิท 50 ซึ่งเขตฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนในการจัดทำสวน 15 นาที ดำเนินปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดิน ลานกีฬา พื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง พื้นที่แสดงงานศิลปะ จุดคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จเปิดให้บริการประชาชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 67 ที่ผ่านมา เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ปรับภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นและสวยงาม จำนวน 3 สวน ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 9 ไร่ 2.สวนหย่อมป๋าเปรม พื้นที่ 50 ตารางวา 3.สวนหย่อมอาจณรงค์ภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) ปรับปรุงพื้นที่ ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม จัดทำทางเดินใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 สวน ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่ 300 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2.สวน 50 สุข สุขุมวิท 50 (สวนไทรเฉลิมพระเกียรติ) พื้นที่ 13 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3.สวน 80 พรรษามหาราชินี (ใต้ทางด่วนซอยสุขุมวิท 48/1) พื้นที่ 5 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินการร่วมกันระหว่างการทางพิเศษฯ และเขตคลองเตย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ธนาคารยูโอบี จำกัด มหาชน ถนนสุขุมวิท พื้นที่ 58,000 ตารางเมตร พนักงาน 2,200 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 โดยเยี่ยมชมการคัดแยกขยะบริเวณชั้น 8 และชั้น 16 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร และบริเวณทางออก ซึ่งเป็นห้องพักขยะที่คัดแยกแล้ว วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะพลาสติกทุกประเภทและวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ เช่น กระป๋อง แก้ว จัดเก็บโดย บริษัท เซอร์พลาส เทค จำกัด กระดาษทุกประเภทและเอกสารที่ไม่เป็นความลับ จัดเก็บโดย บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ผลิตเป็นชุดโต๊ะกระดาษ เพื่อส่งมอบให้กับโรงเรียนที่ต้องการ กระดาษเอกสารที่เป็นความลับ จัดเก็บโดย บริษัท ไอออน เมาน์เทน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี 2.ขยะอินทรีย์ ขยะอาหารที่เหลือจากการรับประทานของพนักงาน รวมถึงการจัดเลี้ยงภายในสำนักงาน ธนาคารจัดเตรียมถังทิ้งขยะอาหารในแต่ละชั้น เพื่อให้พนักงานทิ้งขยะอาหารเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ จากนั้นพนักงานทำความสะอาดของแต่ละชั้น จะนำขยะอาหารไปใส่เครื่องกำจัดอาหารที่ธนาคารได้ติดตั้งไว้ เพื่อเปลี่ยนสภาพขยะอาหารให้เป็นปุ๋ย โดยปุ๋ยที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ภายในอาคารและแจกให้กับพนักงาน 3.ขยะอันตราย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังสามารถใช้งานต่อได้ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ IT เช่น จอ CPU Laptop เครื่องปรินท์ ธนาคารทำงานร่วมกับมูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เช่น โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง มูลนิธิกระจกเงา โครงการคอมพิวเตอร์ฟอร์คิดส์ โครงการร้อยพลังการศึกษา และมูลนิธิยุวพัฒน์ โดยจะส่งมอบอุปกรณ์ เพื่อนำไปปรับปรุงให้พร้อมใช้งาน และส่งต่อให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อใช้งานสำหรับการเรียนการสอน ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถใช้งานต่อได้ อาทิ สายไฟ ฮาร์ดดิสก์ที่ชำรุด ธนาคารเป็นหนึ่งในพันธมิตรทำงานร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS โดยธนาคารจะส่งต่อขยะดังกล่าวไปให้ทาง AIS เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี 4.ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ปนเปื้อนและไม่สามารถคัดแยกได้ เขตฯ รับไปกำจัด 5.ขยะพลังงาน เป็นขยะที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ แต่สามารถนำไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ เช่น ซองขนม ไวนิล แท่นอะคลิริก โดยธนาคารร่วมกับ บริษัท N 15 เทคโนโลยี นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,894 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 13,972 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 12,083 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างโรงแรมเบญจสิริ อัลไลแอนซ์ ถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 37 ชั้น ชั้นใต้ดิน 7 ชั้น ชั้นลอย 2 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ จัดทำรั้วโดยรอบในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบ ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถยนต์ตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 2 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง ประเภทจุดถมดินท่าทราย 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)