รื้อตึกแถว-ระทึกฝั่งธน อาคารถล่ม

แบ๊กโฮพลาดลงผิดข้างเศษปูน-ฝุ่นฟุ้งจรัญ93 ชาวบ้านหนีตายโกลาหล ผอ.บางพลัดสั่งพัก7วัน

ระทึกฝั่งธนฯ ตึกแถวริมถนนจรัญฯ ซอย 93 ถล่ม วิ่งหนีตายกันโกลาหล ป้าร้านซักรีดวัย 65 เผยนาทีตื่นตระหนกตากผ้าอยู่ในบ้าน จู่ๆ ได้ยินเสียงดังสนั่น บ้านพัง ตัดสินใจวิ่งหนีฝ่าฝุ่นที่ตลบอบอวลออกมาได้ทันหวุดหวิด หัวหน้าคนงานรับเหมายอมรับผิด ขณะ คนงานใช้รถแบ๊กโฮเจาะเข้ารื้อถอนอาคารพาณิชย์ 3 คูหาฝั่งซ้ายสุด พยายามดึงให้เทมาทางขวาที่ว่าง แต่เกิดแรงกระชากระหว่างตึก ส่งผลให้ตึกเอียงแล้วยุบตัวไปฝั่งซ้ายจนถล่มพังครืนใส่บ้านคน ผอ.เขตบางพลัดแจง เป็นหนึ่งในการรื้อถอนตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องรื้อถอนทั้งหมด 21 ตึก ก่อนหน้าดำเนินการเสร็จไปแล้ว 14 คูหา พอเกิดเหตุสั่งระงับการรื้อถอน 7 วัน ส่งฝ่ายโยธาฯ ตรวจสอบสาเหตุด่วน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุอาคารที่กำลังรื้อถอนได้พังถล่มลงมา และมีเศษปูนจากอาคารที่ถล่มลงมาบนพื้นถนนทางเท้า ที่บริเวณปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 93 แขวงและเขตบางพลัด กทม. โชคดีที่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีเพียงอาคารพาณิชย์ของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหาย

สอบถามนางวิไลลักษณ์ วัฒนาไวฑูยลชัย อายุ 65 ปี เจ้าของร้านซักรีดที่อยู่ติดกับอาคารที่ถล่ม ได้พาทีมข่าวขึ้นไปสำรวจความเสียหายบริเวณชั้น 2 ของร้าน พบว่ากำแพงของอาคารที่ถล่มพาดทับลงมาทำให้หลังคาพังเป็นรูขนาดใหญ่ และมีเศษหิน เศษปูน เศษไม้ และสังกะสีจำนวนมากหล่นใส่ร้าน ทำให้เสื้อผ้าลูกค้าและทรัพย์สินทั้งหมดเสียหาย ส่วนชั้นล่างที่เป็นห้องครัวก็มีเศษปูนจำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานได้

นางวิไลลักษณ์เปิดเผยว่า อาศัยอยู่บ้านหลังนี้ 1 คูหามานาน 40 ปี ก่อนหน้านี้ผู้รับเหมาก็ทยอยรื้อถอนอาคารบางส่วนแต่เป็นอีกฝั่งที่ไม่ได้อยู่ติดกับบ้านตน ซึ่งผู้รับเหมาก็ไม่ได้มีการมาแจ้งอะไร จนกระทั่งเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน เวลา 08.00 น. ผู้รับเหมาแจ้งว่าจะมีการรื้อถอนอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวเพื่อเวนคืนที่ให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเสียงรบกวนมาถึงอาคารรอบข้าง ตนเองจึงไม่ได้ท้วงติงและรับทราบ โดยคิดว่าจะมีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย เนื่องจากบ้านตนนั้นอยู่ติดกับอาคารที่รื้อถอน ห่างกันเพียงแค่คืบเดียว แต่สุดท้ายตนก็ไม่เห็นมีการนำอะไรมากั้น และระหว่างที่ตากผ้าอยู่บริเวณชั้นหนึ่งจู่ๆ ก็ได้ยินเสียงดังสนั่น รู้ได้ทันทีว่าเป็นเสียงตึกถล่มอย่างแน่นอน แต่ไม่คิดว่าจะส่งผลทำให้บ้านตนเสียหายอย่างหนัก เคราะห์ดีที่ภายในบ้านมีเพียงตนและสามีอยู่ ส่วนลูกออกไปทำงาน จึงตัดสินใจวิ่งหนีออกมา ก่อนจะเห็นกลุ่มควันฟุ้งตลบอบอวลไปหมด

นางวิไลลักษณ์เผยต่อว่า เบื้องต้นได้พูดคุยกับผู้รับเหมาเนื่องจากบ้านพังเสียหาย ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ประกอบกับหวาดกลัวว่าอาคารจะถล่มลงมาซ้ำอีก ผู้รับเหมาจึงจะให้ตนย้ายออกไปพักที่อื่นชั่วคราว ส่วนค่าเสียหายต่างๆ ทางบริษัทผู้รับเหมาจะรับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียด

ด้านนางนงลักษณ์ ยังรอด อายุ 34 ปี พนักงานร้านไส้กรอกไก่ที่อยู่คูหาถัดไป เผยว่าที่ผ่านมานั้นมีการรื้อถอนอาคารพาณิชย์ดังกล่าวมานานแล้ว ได้ยินเสียงจากการรื้อถอนทั้งวัน ซึ่งไม่ทราบว่าใช้เครื่องจักรหรือใช้คนในการทุบรื้อถอน และรื้อถอนอย่างถูกต้องหรือไม่ แต่ไม่เคยมาแจ้งให้ตนทราบเลยว่ามีการรื้อถอนตึกดังกล่าวอยู่ จนกระทั่งเกิดเหตุตนได้ยินเสียงดังสนั่นก็รีบวิ่งหนีเท้าเปล่าเอาชีวิตรอดก่อน ทิ้งทรัพย์สินทั้งหมดออกมาอย่างไม่คิดชีวิตเพราะกลัวมาก เกรงว่าทั้งอาคารที่รื้อถอนและอาคารที่ตนอยู่จะถล่มลงมาเพราะเป็นอาคารเก่า ก่อสร้างมานานแล้ว ถ้าหากอาคารที่อยู่ถล่มลงมาตนอาจติดอยู่ภายในร้าน

ขณะที่หัวหน้าคนงานบริษัทรับเหมายอมรับว่า คนงานรื้อถอนได้ใช้รถแบ๊กโฮเจาะไปที่อาคารเพื่อรื้อถอนอาคารพาณิชย์ 3 คูหา ฝั่งซ้ายสุด และพยายามดึงให้อาคารเทตัวไปทางขวาซึ่งเป็นพื้นที่ว่าง แต่ระหว่างที่ขาแบ๊กโฮกำลังเจาะปรากฏว่าเกิดแรงกระชากระหว่างตึก ทำให้อาคารเอียงและยุบตัวไปทางฝั่งซ้ายแทน จนถล่มใส่อาคารประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้รื้อถอนอาคารพาณิชย์ใกล้เคียงไปแล้วทั้งหมด 14 คูหา โดยมีวิศวกรในการควบคุม และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีอันตราย แต่อาคารที่ถล่มเป็นตึกที่เก่ามากแล้ว ทำให้เกิดการเอียงและทรุดตัวลงมาเลย ก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น

ต่อมาน.ส.อารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัดเปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การถล่มของตึก เป็นหนึ่งในการรื้อถอนตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี แต่อาจจะมีการรื้อถอนที่รุนแรงหรืออย่างไรตนไม่ทราบจนทำให้ระหว่างการรื้อถอนมีเศษวัสดุของอาคารที่ทุบตกหล่นไปถูกบ้านเรือนบริเวณข้างเคียง ทำให้เกิดเศษปูน หล่นที่ทางเท้า และผิวการจราจรออกนอกแนวกั้นของการรื้อถอน และมีเศษฝุ่นฟุ้งกระจายลงบนถนน โดยตัวเศษปูนหล่นออกมานอกที่กั้นกันสิ่งตกหล่น แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหลังจากเกิดเหตุได้มีการนำ เจ้าหน้าที่เทศกิจมาอำนวยความสะดวก และได้ติดต่อผู้รับเหมาของโครงการดังกล่าวมาจัดการกับเศษอาคารที่มีการกระจายลงบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์แล้ว

น.ส.อารียากล่าวต่อว่า สำหรับการรื้อถอนอาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้รับการขออนุญาตจากทางเขตเรียบร้อย โดยมีการ รื้อถอนอาคารพาณิชย์ทั้งหมด 21 คูหา เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย มีการรื้อถอนออกไปแล้ว 14 คูหา ทั้งนี้ ทางเขตบางพลัด ได้สั่งการให้หยุดการรื้อถอนไว้ 7 วัน เพื่อให้ทำการปิดกั้นบริเวณดังกล่าวให้เรียบร้อย ก่อนให้วิศวกรสำนักการโยธา เข้าตรวจสอบว่าการผิดพลาดเกิดจากสาเหตุใด

ในส่วนของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว น.ส.อารียากล่าวว่าได้มีการไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.บางพลัด พร้อมกันกับผู้รับเหมาแล้ว โดยตกลงที่จะมีการออกค่าเช่าค่าพักอาศัยให้กับผู้เสียหายที่ต้องย้ายออกจากอาคารที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งทางผู้รับเหมาก็ยินดีที่จะรับผิดชอบทั้งหมด

ด้านนายสิทธิกร ลูกชายของผู้เสียหายได้พูดคุยกับผู้อำนวยการเขตบางพลัดว่า มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ต้องให้เกิดเรื่องก่อนถึงจะมีการแก้ไข เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีสแลนต์สีเขียวมากั้นเลย ความปลอดภัยของประชาชนไม่มี พร้อมกับกังวลด้วยว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและเรื่องเงียบไป

ซึ่งน.ส.อารียาตอบย้ำว่า “ผอ.เขตบางพลัดไม่ทิ้งประชาชนแน่นอน ให้ไปเช็กประวัติได้เลย”

“จากการตรวจสอบพบว่าเป็นวัสดุที่เกิดจากการรื้อถอนอาคารตกหล่นออกมาจากแนวป้องกันเล็กน้อย และฟุ้งกระจายลงบนถนนจรัญสนิทวงศ์ และอาคารข้างเคียง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการวิบัติของอาคาร ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน เบื้องต้นสำนักงานเขตบางพลัด ได้มีคำสั่งทางปกครองระงับการรื้อถอนอาคารเพื่อให้ดำเนินการจัดทำรั้วชั่วคราวที่ชำรุดเสียหาย และมีมาตรการป้องกันการรื้อถอนอาคาร ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ปัจจุบันผู้รับเหมาได้จัดเก็บวัสดุที่ร่วงหล่นบนทางเท้าและผิวจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์เรียบร้อยแล้ว” น.ส.อารียากล่าว

จากนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่บริเวณจุดอาคารที่รื้อถอนถล่ม บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 93 โดยนายชัชชาติกล่าวภายหลังพูดคุยกับผู้รับเหมา ว่า หลังจากนี้จะต้องไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจากที่ดูจากคลิปเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ เมื่อเกิดความผิดพลาดแล้วเป็นเรื่องที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และต้องถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ ส่วนการช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น กทม.มอบหมายให้สำนักงานเขตบางพลัด เป็นตัวกลางในการประสานระหว่างผู้รับเหมากับประชาชน ที่เดือดร้อน เรื่องของการเยียวยาความ เสียหาย

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีประชาชนละแวกใกล้เคียงร้องเรียนว่าได้รับผล กระทบจากการรื้อถอนอาคาร เนื่องจากมีเศษปูนกระเด็นออกมาบนพื้นผิวจราจร นายชัชชาติได้หันไปถาม น.ส.อารียา ผู้อำนวยการเขตบางพลัดว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาหรือไม่ ก่อนได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีการร้องเรียนเข้ามา

นายชัชชาติกล่าวย้ำว่า หลังจากนี้ ต้องกำชับความเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีการก่อสร้างหลายจุด โดยกำชับแต่ละสำนักงานเขตให้มีการตรวจตราว่าพื้นที่ใดมีการก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน

 

บรรยายใต้ภาพ

ตึกถล่ม ที่เกิดเหตุอาคารพาณิชย์ที่รื้อถอนผิดพลาดจนพังถล่มลงมา เศษปูนและฝุ่นฟุ้งไปทั่วถนนจรัญสนิทวงศ์ 93 ย่านบางพลัด กทม. ผอ.เขตสั่งระงับรื้อถอนทันทีและให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อ 8 พ.ค.

 



ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 9 พ.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200