Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567

กทม. เร่งแก้ปัญหาผู้ค้า-จอดรถกีดขวางการสัญจรในซอยราชปรารภ 6
 
นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์แชร์คลิปวิดีโอ พร้อมระบุถนนสาธารณะในซอยราชปรารภ 6 เขตราชเทวี มีรถจักรยานยนต์และรถเข็นขายของจอดกีดขวางการสัญจรว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่า บริเวณซอยราชปรารภ 6 เขตราชเทวี เป็นพื้นที่นอกจุดผ่อนผันทำการค้า นอกจากจะมีปัญหาการตั้งวางขายสินค้าแล้ว ยังมีปัญหาการจอดรถจักรยานยนต์กีดขวางการสัญจร โดยที่ผ่านมาเป็นการสัญจรของคนภายในซอย จึงได้ผ่อนผันและพูดคุยเพื่อหลีกทางให้สัญจรได้สะดวก อย่างไรก็ตาม สนท. จะประสานสำนักงานเขตราชเทวีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ทุกส่วนสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข โดยยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กทม. ได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้แก่ สนท. และสำนักงานเขตในการจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าหาบเร่แผงลอย โดยเน้นความสะดวกสบายและปลอดภัยในการสัญจรของประชาชนเป็นสำคัญ โดยจุดพื้นที่ทำการค้า หรือจุดผ่อนผัน จะต้องกวดขันให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ กทม. อย่างเคร่งครัด จุดใดที่สร้างปัญหาและไม่สามารถปรับแก้ไขได้ จะต้องยกเลิก เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชนสัญจร ส่วนนอกจุดทำการค้า หรือนอกจุดผ่อนผัน เป็นการทำการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้สำนักงานเขตบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยระหว่างที่ดำเนินการให้ยึดแนวทางตามหลักเกณฑ์ของ กทม. ปี 2563 มาปรับใช้โดยอนุโลม ตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วน จากการจัดทำทะเบียนเมื่อปี 2565 พบว่า มีจำนวน 726 จุด ผู้ค้า 15,858 ราย ซึ่งได้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ผลักดันให้ผู้ค้าเข้าไปขายในที่เอกชน Hawker Center และคืนพื้นที่่ทางเท้าให้ประชาชนได้สัญจรอย่างสะดวก ปลอดภัย ปัจจุบันคงเหลือจุดทำการค้านอกจุด จำนวน 440 จุด ผู้ค้า 11,834 ราย นอกจากนั้น ได้จัดหาพื้นที่เอกชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็นศูนย์อาหาร (Hawker Center) รองรับผู้ค้า พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่กวดขัน ตรวจตราพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง


นายกรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบบริเวณซอยราชปรารภ 6 พร้อมปรับพินัยผู้ทำการค้าและตั้งวางบนผิวการจราจร ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ผลักดันผู้ค้าที่ทำการค้าบนผิวการจราจรให้เคลื่อนย้ายสินค้า หรืออุปกรณ์ให้พ้นผิวการจราจรและพื้นที่สาธารณะต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พญาไท และสำนักการจราจรและขนส่ง เพื่อร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหา อำนวยความสะดวก เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สัญจร และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว

 

 

 

กทม. กวดขันมาตรการด้านสุขอนามัยผู้ค้าย่านสีลม-ลงพื้นที่ตรวจติดตามมาตรฐานแผงลอยบนทางเท้า
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าบริเวณถนนสีลม โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยของร้านค้า ตามที่มีข้อวิจารณ์ร้านข้าวเกรียบทอดแห่งหนึ่ง สภาพร้านหลังทำการค้าบริเวณรอบพื้นที่สกปรกไม่เป็นระเบียบว่า สนอ. ได้ประสานสำนักงานเขตบางรัก เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นทราบว่า ร้านดังกล่าวเป็นแผงลอยจำหน่ายอาหาร ตั้งอยู่นอกจุดทำการค้าตามประกาศ กทม. ว่าด้วยการกำหนดให้ที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้า ทั้งนี้ ได้ขอให้สำนักงานเขตฯ เพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าบริเวณถนนสีลม โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี  

        ปัจจุบัน กทม. ได้กำหนดพื้นที่ทำการค้า จำนวน 55 จุด โดยความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจรในพื้นที่ 14 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน เขตดุสิต เขตดอนเมือง เขตธนบุรี เขตบางขุนเทียน เขตบางคอแหลม เขตบางซื่อ เขตบางนา เขตประเวศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตพระนคร เขตลาดพร้าว และเขตสัมพันธวงศ์ ตามประกาศ กทม. เรื่อง กำหนดให้ที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้าฯ ซึ่ง สนอ. ร่วมกับสำนักงานเขตฯ พัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี ตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขมีการพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. กำหนดเป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร้อยละ 100 พร้อมทั้งจัดทำแผนและลงพื้นที่ตรวจประเมินติดตามกำกับมาตรฐานแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.-30 พ.ค. 67 โดย สนอ. จะแจ้งผลตรวจประเมิน ให้สำนักงานเขตทราบ หากกรณีพบข้อบกพร่องขอให้สำนักงานเขตให้คำแนะนำผู้ค้า เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง พร้อมติดตามกวดขันผู้ค้าแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. อย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ข้อกำหนดหลักเกณฑ์ที่แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีต้องรู้ในรูปแบบอินโฟกราฟิกผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์หน่วยงานของ กทม.

        นอกจากนั้น สนอ. ร่วมกับสำนักเทศกิจ จัดทำแผนการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ในพื้นที่ทำการค้าที่ได้รับอนุญาตและได้จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ในพื้นที่ทำการค้า จำนวน 55 จุด ใน 14 สำนักงานเขต เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้การควบคุม กำกับ สุขลักษณะและคุณภาพอาหารของการจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สนอ. จะแจ้งแผนการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ให้สำนักงานเขตนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานเขตตามแผนการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป

 

 

 

กทม. เร่งติดป้ายเตือน-จัดหาฝาบ่อพักร่องระบายน้ำอุโมงค์มไหสวรรย์ทดแทนที่ชำรุดสูญหาย

ว่าที่ร้อยตรี เดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีมีเหตุรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มในอุโมงค์ทางลอดมไหสวรรย์และผู้ขับขี่พลัดตกลงไปในร่องระบายน้ำเสียชีวิตว่า อุโมงค์มไหสวรรย์อยู่ในความดูแลของสำนักการโยธา กทม. ซึ่งโดยทั่วไปจะห้ามรถจักรยานยนต์ใช้ทางบนสะพานลอยข้ามแยกและอุโมงค์ทางลอด เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ เคยได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีมิจฉาชีพมาขโมยตะแกรงเหล็กรางระบายน้ำด้านในอุโมงค์ฯ จึงได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ จากการตรวจสอบพบว่า ตะแกรงเหล็กรางระบายน้ำสูญหาย ฝั่งขาออก 30 ช่อง ฝั่งขาเข้า 27 ช่อง ซึ่งได้ประสานแจ้งข้อมูลให้สำนักการโยธาทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย. ได้ตรวจสอบแล้วฝาบ่อพักร่องระบายน้ำในอุโมงค์ทางลอดแยกมไหสวรรย์ที่เป็นฝาตะแกรงเหล็กสูญหายในช่วงเดือน มิ.ย. 66 ประมาณ 200 ฝา โดยได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำผิดขโมยฝาตะแกรงเหล็กไว้แล้วที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) บุคคโล โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดและนำฝาที่ถูกขโมยกลับมาได้บางส่วน และได้ติดตั้งป้ายแจ้งเตือน ฝาบ่อชำรุดทั้งสองฝั่งในระหว่างที่จัดหาฝาร่องระบายน้ำใหม่มาทดแทน โดย สนย. จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ในบริเวณดังกล่าวและประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. บุคคโล เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงการเกิดอุบัติเหตุผู้ขับขี่พลัดตกลงไปในร่องระบายน้ำถึงสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป

ขณะเดียวกันได้ประสาน สนน. จัดหาฝาบ่อพัก เพื่อปิดฝาบ่อที่สูญหายทันทีภายในอุโมงค์ทางลอดแยกมไหสวรรย์ และจะเร่งจัดหาและเปลี่ยนฝาบ่อพักร่องระบายน้ำที่ชำรุดและสูญหายในอุโมงค์ รวมถึงสะพานข้ามแยกต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ โดยเร็ว ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดให้ใช้ฝาบ่อร่องระบายน้ำที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อป้องกันการถูกลักขโมย เนื่องจากมีน้ำหนักมากขนย้ายลำบาก ส่วนฝาตะแกรงเหล็กเดิมที่มีอยู่จะตรวจสอบการติดตั้งและยึดติดให้แน่นหนา เพื่อป้องกันการถูกขโมยซ้ำ

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ต.ค. 66 สนย. ได้ประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคาได้ผู้รับจ้าง เริ่มสัญญาวันที่ 22 มี.ค. 67 ซึ่งกำหนดให้มีงานสำรวจและจัดหา เปลี่ยนฝาบ่อพัก ฝาร่องระบายน้ำที่ชำรุดและสูญหายในอุโมงค์และสะพานข้ามแยกต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างผู้รับจ้างจัดหาฝาร่องระบายน้ำดังกล่าวเพื่อนำมาทดแทนฝาที่ชำรุดและสูญหายจากการถูกขโมย อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ สนย. จะปิดฝาบ่อที่สูญหายด้วยฝาบ่อชั่วคราวให้ครบทุกอุโมงค์ทุกแห่งในกรุงเทพฯ รวมทั้งจะเพิ่มความถี่การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย และบำรุงรักษาระบบต่าง ๆ ภายในอุโมงค์ทางลอดถนน สะพานข้ามทางแยก สะพานยกระดับ สะพานลอยคนข้าม เป็นเดือนละ 2 ครั้ง และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือน

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200