กทม. เดินหน้าปลูกต้นกล้าโกงกาง 107,000 ต้น – ก่อสร้างคันหิน 4.7 กม. แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กทม. และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง (ภายใต้โครงการจ้างปรึกษา ศึกษา ทบทวนความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กทม.) ว่า โครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ดำเนินการโดย สนน. ซึ่งเตรียมแผนการก่อสร้างคันหิน ความยาวประมาณ 4.7 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมถึงเป็นแนวป้องกันและที่ดักดินตะกอนที่จะช่วยให้พันธุ์ไม้ป่าตามชายเลนเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ หลังจากก่อสร้างคันหินแล้วเสร็จ จะดำเนินการปลูกป่าตามแนวชายเลนหลังคันหินให้เต็มพื้นที่ 572 ไร่ โดยใช้เวลาปลูกภายใน 2 ปี พร้อมกับดูแลซ่อมเสริมต่ออีก 5 ปี เพื่อให้ป่าชายเลนแผ่ขยายรวดเร็วขึ้น ทั้งช่วยยึดดินและป้องกันการกัดเซาะได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังมีเนื้องานปักไม้ไผ่ ซึ่งพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ ความยาวข้างละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร เพื่อลดความเร็วและความแรงของกระแสน้ำที่อาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบัน กทม. อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครจากสภา กทม. เนื่องจาก สนน. ได้รับงบประมาณตามข้อบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 แต่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในสัดส่วนของงบประมาณรัฐบาล คาดว่า ในปี 2567 จะสามารถดำเนินตามแผนการก่อสร้างได้ หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. แล้ว
นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือระหว่าง สนน. สำนักงานเขตบางขุนเทียน ภาครัฐ เอกชน และประชาชน จัดกิจกรรม “เพาะพันธุ์รักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน” เพื่อปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ ใช้ช่วยชะลอคลื่น หรือช่วยลดความแรงของคลื่นทะเลได้ ทั้งนี้ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่งก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์สามารถพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของ กทม. ต่อไป
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวว่า การดำเนินงานปลูกป่าชายเลนเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 – 2567 โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการปักไม้ไผ่ทำแนวชะลอคลื่นหน้าทะเลระยะทาง 2,200 เมตร ทำแปลงปลูกป่าชายเลน 12 แปลง ปลูกต้นกล้า 107,000 ต้น ปัจจุบันเพิ่มพื้นที่ได้ 233 ไร่ อย่างไรก็ตาม แปลงปลูกหน้าทะเลประสบปัญหาความแรงของคลื่นลมทะเล จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก โดยใช้การปลูกในท่อชีเมนต์ ขนาดสูง 2 เมตร ปากกว้าง 6 นิ้ว เพื่อยกระดับให้ต้นกล้าพ้นน้ำทะเล เลียนแบบการปลูกบนดินตามธรรมชาติ มีหน่วยงานให้การสนับสนุนท่อซีเมนต์ 90 หน่วยงาน รวม 27,139 ท่อ
ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้กำหนดเป้าหมายบำรุงรักษาต้นกล้าโกงกางให้เจริญเติบโต เพื่อคงพื้นที่ให้ได้ 233 ไร่ เพาะพันธ์ุต้นกล้าสำหรับซ่อมแซมและปลูกเสริมอย่างน้อย 70,000 ต้น และพัฒนานวัตกรรมกระบอกไม้ไผ่ 3R โดยนำขยะไม้ไผ่มาแปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์ ลดปัญหาขยะไม้ไผ่ตกค้างแนวชายฝั่ง ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ โดยสร้างศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน รวมถึงเพิ่มสวนทะเล 15 นาที และร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม. พัฒนาเพิ่มความสวยงามด้วยการทาสีสะพานเส้นทางเยี่ยมชมระบบนิเวศน์ป่าชายเลนบางขุนเทียนระยะทาง 4.7 กิโลเมตร ซึ่งในปี 2567 มีประชาชนมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมแล้วประมาณ 32,000 คน
กทม. ตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร ป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ เตรียมพร้อมหน่วยเบสท์รองรับพายุฤดูร้อน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนว่า กทม. โดย สนย. ได้ประสานและแนะนำเจ้าของอาคารตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากอิทธิพลพายุฤดูร้อนหากเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้องควบคุมป้ายให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัยในการใช้ป้าย ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมพร้อมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งรัดการรื้อถอน นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สปภ. ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรงและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำนักงานเขต เพื่อขอให้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ รวมทั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะและถนนสายต่าง ๆ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเบสท์ (BEST) เครื่องมือ และอุปกรณ์ กรณีเกิดเหตุป้ายโฆษณา ต้นไม้ฉีกหัก หรือโค่นล้มจากพายุฝนและลมกระโชก โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักและพื้นที่ชุมชนที่อาจส่งผลกระทบต่อการสัญจรและความปลอดภัยของประชาชน หากมีเหตุพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐอันเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ขอให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครดำเนินการตามมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว สำรวจความเสียหายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายและออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
กทม. ประเมินผล Lane Block จัดระเบียบจราจรหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ พบรถแท็กซี่-สามล้อเครื่องจอดแช่ลดลง
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ว่า สจส. ได้แก้ไขปัญหาการจราจรกรณีมีรถแท็กซี่ รถสามล้อเครื่องจอดแช่บริเวณป้ายรถโดยสารประจำทางหน้าศูนย์การค้าย่านราชประสงค์ ด้วยการติดตั้ง Lane Block เพื่อจัดระเบียบการจราจรในบริเวณดังกล่าวและให้รถประจำทางสามารถเข้าจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่บริเวณจุดจอดได้ โดยรถยนต์ทั่วไป หรือรถแท็กซี่ที่มีผู้โดยสารยังคงสามารถเข้ามาจอดรับ-ส่งได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถจอดแช่ในบริเวณดังกล่าวได้ ซึ่งจากการติดตามประเมินผลโดยประสานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและกรมการขนส่งทางบก พบว่า ผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกระทำผิดมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สจส. จะเร่งพัฒนาระบบและเพิ่มจำนวนกล้องระบบ AI ให้สามารถเก็บหลักฐานพฤติกรรมของผู้ฝ่าฝืนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
นอกจากนั้น สจส. ได้ลงพื้นที่และประสานการปฏิบัติกับสถานีตรวจนครบาล (สน.) ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ให้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรและลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อจัดระเบียบการจราจรและยกระดับการรักษาความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนที่ต้องการใช้บริการรถแท็กซี่ หรือรถสามล้อเครื่องในบริเวณดังกล่าวให้ไปเรียกใช้บริการ ณ จุดที่ศูนย์การค้าได้จัดเตรียมไว้ เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และได้รับบริการในราคาที่เป็นธรรม
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตปทุมวัน ร่วมกับผู้บริหาร กทม. สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ กรมการขนส่งทางบก สน. ลุมพินี และสมาคมผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานเขตฯ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมกับสำนักเทศกิจ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ต้องการใช้บริการรถแท็กซี่ หรือรถสามล้อเครื่องให้ใช้บริการในจุดที่ศูนย์การค้ากำหนด เพื่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยและได้รับบริการในราคาที่เป็นมาตรฐาน ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบการจอดรถแท็กซี่และรถสามล้อเครื่องให้ปฏิบัติตามกฎจราจรและมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด