Flag
Search
Close this search box.
กทม.บูรณาการหน่วยงานสาธารณูปโภค เร่งแก้ไขปัญหาฝาบ่อพักให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชม. หลังได้รับแจ้งเหตุ พร้อมพิจารณาใช้ฝาบ่อพักรูปแบบใหม่แทนฝาเหล็ก ป้องกันการสูญหาย

“กรุงเทพมหานครขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและครอบครัวจากเหตุพลัดตกบ่อพักของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณซอยลาดพร้าว 49 ทั้งนี้ทุกหน่วยงานต้องปรับปรุงมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะมาตรการเดิมใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว รวมถึงต้องนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาติดตามมาตรฐานบ่อพักทุกบ่อเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบรับเรื่องร้องเรียนให้มีความรวดเร็ว”

นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบ่อพักที่ไม่เรียบร้อยและการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชนร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค ในวันนี้ (7 พ.ค. 67) ณ ห้องประชุม สำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

รองปลัด กทม. กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานสาธารณูปโภค ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือมาตรการเตรียมการป้องกันแก้ไข หลังเกิดเหตุประชาชนพลัดตกบ่อพัก บริเวณซอยลาดพร้าว 49 เขตวังทองหลาง รวมถึงการแก้ไขปัญหาร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นการไฟฟ้านครหลวงได้เตรียมมาตรการป้องกันไว้แล้ว ได้แก่ ในเรื่องของการก่อสร้าง มีมาตรการการตรวจสอบเป็นรอบระยะเวลา ว่าสภาพของบ่อพักหรืองานก่อสร้างในส่วนใดที่ยังไม่เรียบร้อยและไม่ปลอดภัย ซึ่งเห็นร่วมกันว่ามาตรการการตรวจสอบเหล่านี้ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้บ่อพักและผิวจราจรมีสภาพที่สมบูรณ์ตลอดเวลา

นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวงได้พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบฝาบ่อพักที่ไม่ใช่ฝาเหล็ก และไม่สามารถนำไปขายได้ แต่มีความสามารถในการรับน้ำหนักได้แข็งแรงและปลอดภัย และนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง ส่วนเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue ที่กทม.ได้แจ้งไป ทางกฟน.รับไปดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชม. โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่ามาตรการก่อสร้างต่าง ๆ ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย ซึ่งแนวทางทั้งหมดที่หน่วยงานรายงานมา กทม.ได้รับไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ทางกฟน.แจ้งว่ายินดีและพร้อมให้ความช่วยเหลือ

นายสถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในโครงการก่อสร้างของกฟน. ว่า กฟน.ได้นำ AI เข้ามาใช้ตรวจสอบในจุดที่มีการก่อสร้างเพื่อ Monitor ผิวจราจรเป็นหลัก โดยจะทำการตรวจสอบจุดที่มีความเสี่ยงถนนทรุด ลดการทำงานในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งระบบจะแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขทันที ขณะนี้ได้นำร่องบริเวณถนนพระราม 3 และอยู่ระหว่างการทดลองใช้ หากดำเนินการได้ดีจะขยายผลไปยังพื้นที่ก่อสร้างอื่นต่อไป

ด้านนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า การไฟฟ้านครหลวงมีโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายในพื้นที่กทม.หลายจุด อาทิ ถนนพระราม 3 ถนนวิทยุ และถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งทางสำนักการโยธา กทม. จะเข้าไปตรวจสอบและกำกับให้เป็นไปตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ. 2551 อย่างใกล้ชิด

“ในเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่กทม.ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ทั้งหมดและประชาชนต้องร่วมกัน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต้องรีบแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้กทม.เร่งประสานแจ้งหน่วยงานแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมา กฟน.ก็ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ในเรื่องของการสื่อสารบางช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานกลับผลการแก้ไขว่ามีความเรียบร้อยหรือสมบูรณ์หรือไม่ เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันดูแล โดยภาพรวมของกทม.จะมีระบบที่เกี่ยวข้องคือระบบระบายน้ำที่มีความยาวท่อรวม 6,800 กม. และระบบระบายน้ำจะมีบ่อพักที่ต้องเปิดบำรุงรักษากว่า 5 แสนบ่อ กทม.ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต ช่วยกันดูและและตรวจสอบ หากพบเห็นเหตุชำรุดหรือฝาบ่อพักหายจะรีบดำเนินการแก้ไขภายใน 24 ชม.” รองปลัด กทม. กล่าว


* กฟน.เตรียมนำฝาบ่อพักรูปแบบใหม่มาใช้ ลดปัญหาฝาเหล็กสูญหาย และเสียงดัง

สำหรับระเบียบวาระการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณารายงานการตรวจสอบบ่อพักที่อยู่ในผิวจราจรและทางเท้า และมาตรการป้องกันอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรผ่าน ตลอดจนการติดตามการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชนในระบบ Traffy Fondue

โดยกฟน.รายงานการตรวจสอบบ่อพักในผิวจราจร ซึ่งปัจจุบันกฟน.มีบ่อพักในพื้นที่กทม.จำนวน 1,877 บ่อ มีทั้งบ่อที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากการตรวจสอบจุดฝาบ่อทั้งหมด รวมถึงในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ พบว่าฝาบ่อเหล็กที่เหลือทั้งหมดอยู่ในสภาพดี ส่วนฝาบ่อชั่วคราวก็เป็นไปตามมาตรการที่ได้เสนอเจ้าของพื้นที่ไว้แล้ว สำหรับรูปแบบการรายงานการตรวจสอบฝาบ่อพักชั่วคราวทั้งหมด จะมีทั้งการตรวจสอบรายวันในช่วงเช้าและบ่าย การสุ่มตรวจโดยผู้บริหาร กรณีพบปัญหาจะมีทีมแก้ปัญหาเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบโดยวิธีสแกน GPR ในช่วงกลางคืนด้วย โดยมีการรายงานสถานะของบ่อพักผ่าน Google Maps ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุประชาชนตกลงในบ่อพัก ทางกฟน.ได้เข้าไปดูแลครอบครัวทันที โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาของกฟน.

ในอนาคต กฟน.จะนำฝากลมคอนกรีต UHPC ปิดบ่อพักไฟฟ้าใต้ดิน (UHPC Manhole cover) มาใช้ เพื่อลดปัญหาฝาเหล็กถูกขโมย ลดปัญหาฝามีเสียงดังเมื่อรถวิ่งผ่าน โดยจะมีส่วนผสมของคอนกรีตและไฟเบอร์ สามารถนำไปแทนที่ฝาเหล็กเดิมได้ทันที จากการทดสอบความคงทนพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าฝาเหล็ก ทดลองติดตั้งถนนชัยพฤกษ์แล้ว ยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด และหากต้องการย้ายจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะเพื่อช่วยทุ่นแรงและเกิดความปลอดภัยสำหรับคนทำงาน นอกจากนี้ จะนำกล้อง AI มาตรวจสภาพสภาพผิวจราจร นำร่องถนนพระราม 3 เพื่อตรวจสอบถนนทรุด

กฟน.ได้รายงานข้อร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 67 พบมีเรื่องร้องเรียนจำนวน 537 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานในพื้นที่ทางเท้าและผิวจราจร มลภาวะจากการทำงาน และความปลอดภัย ซึ่งแนวทางแก้ไขได้กำชับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ. 2551 และควบคุมการคืนสภาพผิวจราจรชั่วคราว-ถาวรอย่างเคร่งครัด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงทราบก่อนดำเนินการก่อสร้างทุกครั้ง ทั้งนี้หากได้รับแจ้งปัญหา กฟน.จะพยายามเข้าพื้นที่เพื่อแก้ไขภายใน 24 ชม.

การประชุมวันนี้มีหน่วยงานร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรมทางหลวง
——————

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200