Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567

กทม. เตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัย ระงับเหตุอันตรายจากสารเคมี-วัตถุอันตราย

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันอุบัติภัยและระงับเหตุอันตรายที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สสล. ได้เตรียมความพร้อมภารกิจสนับสนุนและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย หากพบการลักลอบทิ้งในพื้นที่กรุงเทพฯ จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามระดับการจัดการสาธารณภัย ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนั้น ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้สังเกตและเฝ้าระวังการจัดเก็บและรวบรวมมูลฝอย หากพบวัตถุต้องสงสัยให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยด่วน เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

 

กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าแก้ไขปัญหาเด็กเช็ดกระจกและเด็กขายของริมถนน รวมทั้งขอทานต่างด้าวในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักพัฒนาสังคม สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ และ สน. ท่าเรือ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบเด็กเช็ดกระจกบริเวณสี่แยกไฟแดงเป็นประจำทุกวันระหว่างช่วงเวลา 16.00 – 18.00 น. อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่เข้มงวดกวดขัน และอาจปรับเปลี่ยนช่วงเวลากวดขันในแต่ละสัปดาห์
ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ พม. ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กทม. บ้านพักเด็กและครอบครัว กทม. สน. ทองหล่อ และ สน. ลุมพินี เพื่อหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กเช็ดกระจกบริเวณสี่แยกไฟแดง ส่วนกรณีคนไร้บ้าน สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ พม. และ สน.ทองหล่อ ลงพื้นที่ตรวจสอบขอทานบริเวณแนวถนนสุขุมวิท โดยนำคนไร้บ้านและขอทานที่ตรวจพบไปตรวจคัดกรองที่ สน. ทองหล่อ หากตรวจสอบพบว่า เป็นคนปกติทั่วไป และประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ พม. จะส่งไปที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความช่วยเหลือ กรณีที่เป็นผู้มีลักษณะอาการคล้ายจิตเวช เจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งตัวไปรักษาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา หากเป็นคนต่างด้าวจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองผลักดันกลับประเทศต่อไป

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ได้ตรวจสอบและกวดขันเด็กที่ประกอบอาชีพเช็ดกระจกบริเวณสี่แยกต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงบริเวณแยกคลองเตยอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดแผนการสำรวจเด็กที่ประกอบอาชีพดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขต 50 เขต ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร ฯลฯ รวมถึงให้ข้อมูลแก่ผู้ปกครองที่บุตรหลานประกอบอาชีพ หรือมีพฤติกรรมดังกล่าวในที่สาธารณะที่อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขต 50 เขต จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจตราพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดจำนวนกลุ่มเด็ก หรือกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพเดินเร่ขายของ หรือเดินเช็ดกระจกรถบริเวณสี่แยกในพื้นที่กรุงเทพฯ
สำหรับการแก้ไขปัญหาเด็กเช็ดกระจกและเด็กขายของริมถนน สพส. ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กรมกิจการเด็กและเยาวชน ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 บ้านพักเด็กและครอบครัว กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเขต องค์กรภาคเอกชน โดยจัดทีมเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัว ตั้งแต่การสำรวจปัญหา เยี่ยมบ้านของเด็กและครอบครัว โดยใช้กระบวนการสหวิชาชีพแก้ไขปัญหารายครอบครัว เพื่อไม่ให้ครอบครัวนำเด็กมาประกอบอาชีพขายพวงมาลัย หรือเช็ดกระจกอีก รวมถึงนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาและวางแผนให้ความช่วยเหลือในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงด้านรายได้ เช่น การฝึกอาชีพ การแนะนำช่องทางประกอบอาชีพ ฯลฯ รวมทั้งสนับสนุนช่วยเหลือในด้านอื่นที่จำเป็น ตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 หรือจากกองทุนคุ้มครองเด็ก เป็นต้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาขอทานต่างด้าว ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่จัดระเบียบในพื้นที่ที่มีผู้ทำการขอทานบริเวณสี่แยก บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ฯลฯ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต ฯลฯ โดยฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขต 50 เขต ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่จะบูรณาการ สนับสนุน อำนวยความสะดวก ประสานงาน และดำเนินการในพื้นที่เขต ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 กรณีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา หรือสร้างความไม่สะอาดในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ

 

กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนให้กับคนไทยแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนคนไทย 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ประกอบด้วย หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี) เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และชนิด 4 สายพันธุ์ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สตรีตั้งครรภ์ และยังมีจำหน่ายโดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก โดยทั้ง 2 ชนิดให้ผลดีทั้งสิ้น ซึ่งจะเริ่มบริการฉีดวัคซีนในวันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค. 67 โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกได้
ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้ประชาชนทุกกลุ่มเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และเข้ารับการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามกำหนด พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเชื้อโรคต่าง ๆ และแนะนำฉีดวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรค ซึ่งเชื้อไวรัสต่าง ๆ สามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น
นอกจากนั้น สนอ.ยังมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สำหรับเด็กชั้น ป.1 – ป.3 ให้นักเรียนสังกัด กทม. และจัดทำแนวทางหากพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนสังกัด กทม. ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเด็กนักเรียนและการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200