ก่อนจะเข้าสู่ปีกระต่าย 2566 ปีที่เราคาดว่าจะพร้อมวิ่งไปข้างหน้าแบบ “กระต่ายร่าเริง” แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นวิ่งสะดุดหรือยังอ่อนเพลียอยู่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมายอมรับเลยว่าเสือดุจริงๆ ทำคนกรุงบาดเจ็บกันทั่วถึง ทั้งเชื้อโควิดร้ายกลายพันธุ์ส่งผลให้ยอดติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมา เศรษฐกิจตกต่ำ การเงินการลงทุนฝืดเคืองไปหมด อากาศฝุ่นพิษที่ส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่ ที่คนกรุงต้องเผชิญ
แต่ดูเหมือนหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผ่านพ้นไปคนกรุงได้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่สามารถสร้างสถิติใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กวาดไปกว่า 1,386,215 คะแนน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดนับแต่ที่มีการเลือกตั้งมา ก็ทำให้บรรยากาศของเมืองหลวงคึกคัก มีความหวัง ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะตัว “ชัชชาติ” ฉีกกฎการทำงานให้ประชาชนมีส่วนร่วมเกิดการรับรู้ มีการไลฟ์เฟซบุ๊กในทุกกิจกรรมที่ได้ทำ สัญจรเขต ลงไปกินข้าวรับฟังปัญหากับลูกจ้าง กทม. อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือนมีอะไรเกิดขึ้นกับความคืบหน้าโครงการ 9 ด้าน พร้อมกำหนดทิศทางพัฒนาเมืองกรุงและคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ในปี 2566
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า ตอนที่เข้ามาเราเริ่มจาก Vision หลัก คือการทำเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน กับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี มี 216 Action Plan ที่จะทำภายใน 4 ปี ส่วนใหญ่เดินหน้าไปแล้วมีทั้งเริ่มดำเนินการและเสร็จแล้ว มีที่ยังไม่เริ่ม 31 แผน ด้วยเหตุผล เช่น อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย ขาดความพร้อมในแง่งบประมาณ ขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ กทม. ไม่เคยดำเนินการมาก่อน และเริ่มศึกษา 37 แผน อยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษาถึงความเหมาะสมและแนวทางดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลกำลังอัพเดตข้อมูล ในปีหน้าจะเห็นชัดเจนว่าความคืบหน้าแต่ละแผนเป็นอย่างไร
“การทำงานเป็นไปด้วยดี ลักษณะการทำงานเรากระจายให้รองผู้ว่าฯ ทั้ง 4 เป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก และเราคอยติดตาม ตอนที่เราเข้ามามีคนพูดว่า 216 แผนเยอะไปไหมไปๆ มาๆ อาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะ กทม.มี 16 สำนัก 50 เขต มีคน 8 หมื่นคน ข้อดีคือพอเราเข้ามาทุกโครงการดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องรอไปคิดแผน หลายโครงการก็ได้ผลเลยเช่นเรื่องปลูกต้นไม้ พื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ เรื่องป้องกันน้ำท่วม เข้ามาก็เริ่มขุดลอกท่อทันที” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
ทั้งหมดที่ผ่านมาก็เดินหน้าไปได้ดี แต่ที่กังวลมากสุดก็เรื่องหาบเร่แผงลอย เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องมิติเดียว จะไปไล่ทุกคนนั้นทำได้ไม่ยาก แต่ปากท้องของคนที่มีผลกระทบ การแก้อาจต้องหาทางออกให้เขาด้วย โดยไปคุยกับผู้ประกอบการเช่นที่สีลมหาตำแหน่งงานว่าง เช่น แม่บ้าน รปภ.ให้เป็นทางเลือกกับหาบเร่แผงลอยได้ทำงานประจำในพื้นที่เดียวกันหรือไปหาที่หน้าตึกเอกชนให้หาบเร่ถอยออกจากที่สาธารณะแต่ต้องเป็นระเบียบ ที่ยากคือ เราไม่ได้จะจ้องจับเขาอย่างเดียวแต่เรามองเขาในฐานะชีวิตเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกันที่มีครอบ
ครัวมีลูกที่ต้องดูแล บางจุดอาจไม่ทันใจหลายๆ คน แต่อยากให้มองในมิตินี้
อีกเรื่องคือ สายสื่อสารลงดิน เกี่ยวกับหลายหน่วยงานหลายคนอยากเห็นผล แต่เราจะไปรื้อไปตัดเองก็ไม่ได้ มีกฎหมาย กสทช.กำกับอยู่ หน้าที่เราคือไม่ให้เพิ่ม รับว่าผิดหวังเป็นเรื่องที่หนักใจ ซึ่งต้องประสานงานให้เข้มข้นขึ้น
ที่ยากอีกเรื่องคือ ‘บีทีเอส’มีความซับซ้อนในแง่ของกฎหมาย ถ้ามันไม่ซับซ้อนป่านนี้จบไปนานแล้ว ไม่ค้างที่ ครม.มา 3 ปี เรื่องการจ่ายเงิน สภาฯชุดที่แล้วก็ไม่จ่าย เราไม่ตั้งใจเอาเปรียบเอกชน เราเข้าใจว่าเขาเป็นตัวสร้างเศรษฐกิจ เขาเดินรถให้เราก็เห็น แต่การจะเอาเงินของหลวงไปจ่ายต้องมีขั้นตอนที่ถูกต้อง เป็นเรื่องไม่ง่าย มองว่าหลายเรื่องมีขั้นตอน ไม่ครบถ้วน เช่นส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้เข้าสภาฯ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ผู้ว่าฯ ไม่มีสิทธิ์เอาเงินมาใช้ถ้าไม่ได้อยู่ในงบประมาณเราก็เห็นใจเอกชน ต่อให้ด่าเราอย่างไรก็ไม่สามารถ ทำผิดขั้นตอนได้ ต้องรอบคอบ ขอให้เข้าใจว่าเราเองไม่ได้เป็นคนก่อปัญหานี้ แต่ก็พยายามแก้
ส่วนเรื่อง “ทุจริตคอร์รัปชั่น” เป็นเรื่องที่เราต้องยืนให้มั่นๆ ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง วิธีแก้คือ ให้ประชาชนเข้ามาใกล้เรามากขึ้น มีสิทธิ์เข้ามาตรวจสอบเรามากขึ้น อย่างหนึ่งที่เราทำคือ “ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์” เป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนไปของการให้บริการของ กทม. โดยให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบ ทำมา 6-7 เดือนกว่า มีคนแจ้งเข้ามา 1.9 แสนเรื่อง แก้ให้ได้ 1.3 แสนเรื่อง เป็นตัวเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ กทม. ทุกเขตทำงานแอ็กทีฟมากขึ้น เห็นใจประชาชนมากขึ้น ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของความโปร่งใสจะเกิดขึ้น
ที่ผ่านมาสิ่งที่เราขาดไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่คือความไว้ใจจากประชาชน ช่วงแรกเราได้สร้างความไว้ใจ เอาจริงเอาจัง ฟังประชาชน ให้ประชาชนเป็นใหญ่ เปิดเผยข้อมูลการที่ประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาแสนเก้าหมื่นเรื่องเพราะไว้ใจเรา ผมว่าเรามาถูกทางแล้ว การที่เราสร้างความไว้ใจกับประชาชนได้ ทำให้เรามีแนวร่วมมหาศาล เช่นปลูกต้นไม้ มีคนมาร่วมกับเราแล้วล้านหกแสนต้น ปลูกไปแล้ว สองแสนต้นโดยไม่ได้ใช้งบประมาณเลย
“มั่นใจเราไปถูกทาง แต่ก็น้อมรับคำติ คนที่ติเราก็มีเยอะก็พยายามเอามาปรับปรุงให้ดีขึ้น และพยายามเป็นกลาง เข้ามาแล้วก็เป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน รับใช้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ได้คิดว่าจะไปช่วย ไปนิยมพรรคไหน ดูแลทุกคนเพราะเป็นคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน บางเรื่องอาจไม่ถูกใจคน แต่อย่างน้อยนโยบายที่เราทำก็ทำไปได้เยอะแล้ว ฟังจากกระแสประชาชนมีข้อติแต่ก็ไม่ได้ด่ามาก คงไม่มีอะไรดีที่สุด ทุกอย่าง ก็มีข้อที่ต้องปรับปรุง เช่นเรื่องการประสานงานกับสภา กทม. ที่คิดว่าง่ายแต่ไม่ใช่ อาจต้องประสานให้มากขึ้น เป็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง จุดแข็งเราเรื่องการแต่งตั้ง เป็นเรื่องสำคัญ เราพยายามใช้ระบบผลงานประสบการณ์เป็นตัวตัดสิน ให้ความยุติธรรมกับเพื่อนร่วมงาน มีหลักเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งทั้งอาวุโสและผลงาน ตั้งแต่งระดับปลัด รองปลัด ไปจนถึงคนกวาดถนน เป็นตัวแทนเราที่จะตั้งใจทำงานให้กับเมือง”
เมื่อถามว่า จะให้คะแนนประเมินตัวเองในช่วง 6-7 เดือนนี้ และปีหน้าจะทำอะไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ก็คงได้ซักครึ่ง ไม่ถึงกับสอบตก แต่ก็ไม่ถึงกับดีเลิศ อยากจะมีเวลาเพิ่มอีก 48 ชั่วโมง มีเรื่องที่อยากจะทำอีกเยอะ มีคำพูดที่ผมชอบว่า ‘ให้นึกเสมอว่าคนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ’ คือคิดคนเกลียดเรามีเยอะ เราจะได้ไม่เหลิง แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำดีแล้วก็จะไม่ปรับปรุงตัว ให้คะแนนแค่ผ่าน จะได้ปรับปรุงตลอด
สำหรับปีหน้า 2566 ต้องผลักดันงานที่มีอยู่ให้หมด เรื่องการศึกษากับสาธารณสุขเป็นหัวใจ ต้องปรับให้ดีขึ้นเพราะคือพื้นฐานของการลดความเหลื่อมล้ำ ทุกสำนักทุกเขตต้องลุยงานของตัวเอง ทั้งเส้นเลือดฝอย และเส้นเลือดใหญ่ที่ยังขาดอยู่ต้องขับเคลื่อนทุกเรื่อง ปีหน้าจะดีขึ้น เพราะคนของเราเข้าที่แล้ว รู้ว่าต้องการอะไร เชื่อว่าลุยได้ดีขึ้น งบประมาณก็จะไปลงเขตมากขึ้นงบปี 67 จะเป็นการใช้งบประมาณ 100% ครั้งแรกของเรา จะเริ่มเห็นโครงการที่ต้องมีการลงทุน งบเดิมๆต้องดูใหม่ทบทวนใหม่หมดงบสำนักต่างๆ ก็จะให้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ลงเขตมากขึ้นเพราะยังเชื่อในเส้นเลือดฝอย
ภาพรวมในปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 กทม. มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนหรือเส้นเลือดฝอย โดยมุ่งเป้าใหญ่ คือ การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการศึกษา จราจร และสาธารณสุข เป็นหัวใจที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำตลอดมาว่าเมืองจะเจริญและน่าอยู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมือง ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่านมามีการก่อสร้างโครงการใหญ่มากมาย ใช้งบประมาณสูง ขณะเด็กหลายคนในกทม.เข้าไม่ถึงการศึกษา ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ไร้บ้าน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และการจราจรที่เสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นพื้นฐานหลักของการพัฒนาเมืองในแบบของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งมีนโยบายรุกเข้าหาประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนเข้าหาอย่างเดียว
อีกเรื่องที่ให้ความสำคัญมากคือ “ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์”คือสัญลักษณ์ให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ มีอำนาจสั่งการแก้ไข มีอำนาจร้องเรียน เป็นการสร้างความไว้ใจระหว่างประชาชนกับ กทม. เมื่อประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเขาจึงอยากมีส่วนในการพัฒนามากขึ้น ที่ผ่านมา กทม.ในสายตาประชาชนคือผู้ควบคุม จับ ปรับ เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้อนุญาตในเรื่องต่างๆ หรือไม่ รวมถึงมีเรื่องเรียกรับเงินประชาชน ทำให้ภาพของ กทม. เอนเอียงไปในทางลบมากกว่าทางบวก ในฐานะหัวเรือใหญ่ นายชัชชาติจึงมุ่งหน้าสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ กทม.ด้วยตนเอง และย้ำว่า หากสร้างความไว้ใจต่อประชาชนไม่ได้ การทำงานของ กทม.อาจลุล่วงได้ยากอย่างไรก็ตาม ในปี 2566 คงจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
..สุดท้ายผู้ว่าฯ ชัชชาติฝากถึงคนกรุงเทพฯ ว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีพลังมาก หน้าที่ กทม.คือต้องทำเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หัวใจของกรุงเทพฯ คือเศรษฐกิจ ต้องเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจที่ดี มีงานที่ดีที่ดึงคนเก่งมาอยู่ที่เมือง สุดท้ายก็จะมีรายได้กลับคืนมาสู่เมือง ก็จะดูแลประชาชนได้ดีขึ้นเราต้องร่วมมือกัน เป็นพันธสัญญาของสังคม ประชาชนเองก็ฝากให้ดูแลตัวเองด้วยในเรื่องความเรียบร้อยขยะต่างๆกทม. ก็ดูแลงานของตัวเองให้เต็มที่ สุดท้ายเมืองก็เดินไปได้กรุงเทพฯ ยังมีโอกาสอีกมากมาย คนต่างชาติมั่นใจในกรุงเทพฯ อยากมาอยู่กับเรา ต้องช่วยกัน รับรองปีหน้ามั่นใจว่าดีขึ้นแน่..
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 ธ.ค. 2565