ทีมข่าวชุมชนเมือง/รายงาน
“โค้งสุดท้ายปี 2565” นอกจากวันพักผ่อน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นอีก “หมุดหมาย” ที่หลายคนเสาะหา โดยเฉพาะสถานที่ทำกิจกรรมสร้างสิริมงคลอย่าง “วัด” หรือ ศาสนสถานต่าง ๆ มัก ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในช่วงส่งท้ายปีเก่า เพื่อต้อนรับปีใหม่ สิ่งดี ๆ ใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามา
ดังนั้น หลายสถานที่มงคลเหล่านี้จึงมักมีประชาชนแวะเวียนขอพรคึกคัก หนึ่งในนั้น “ทีมข่าวชุมชนเมือง” วันนี้นำเสนอพิกัด “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” หรือ วัดสุทัศน์ วัดหลวงคู่บ้านคู่เมือง ตั้งในเขตพระนครชั้นใน มี “เสาชิงช้า” ตระหง่านทางด้านหน้าของวัด
ปีนี้วัดสุทัศน์ วัดเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นับรวมครบรอบ 215 ปี
ปลายปีนี้จึงมีงานสมโภชใหญ่ เนื่องในโอกาสสถาปนาครบ 215 ปี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 65-1 ม.ค. 66 บริเวณวัดสุทัศน์ และลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) โดยนอกจากงานสมโภช ยังมีกิจกรรมเป็นตัวเลือกเหมาะกับวันพักผ่อนในช่วง สิ้นปีที่ กทม.มีอากาศเย็นสบาย
มาดูเส้นทางเริ่มต้นมุ่งหน้าภายในพระอุโบสถ ซึ่งจัดว่าเป็นพระอุโบสถยาวที่สุดในประเทศไทย โดยพระประธานที่อยู่ภายในคือ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระอุโบสถและพระประธานสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังด้านในของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดเจดีย์ มีลักษณะแปลกตาและงดงาม
ภายในวัดยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ประดิษฐานอยู่ และมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี เมื่อปี 2493 ซึ่งในทุกวันที่ 9 มิ.ย. ของทุกปี จะมีการจัดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราช กุศลคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ด้วย
เดินชมความวิจิตรงดงามของวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว มุ่งหน้าต่อไปยังโซนกิจกรรม ซึ่งจัดไว้หลายโซนทั้งภายในวัด เสาชิงช้า และลานคนเมือง อาทิ นิทรรศการพิเศษสุทัศน์นุสรณ์ โซนยลศิลป์ถิ่นวัดสุทัศน์ ที่มีการจัดแสดงศิลปะช่างแขนงต่าง ๆ ที่ประกอบร่างเป็นศิลปะทางพุทธศาสนาและศาสนสถาน เช่น ช่างปั้น ช่างจิตรกรรม ช่างเขียนกระเบื้อง ช่างลายรดน้ำ ช่างประดับมุก ฯลฯ
กิจกรรมนำชมรื่นรมย์วัดสุทัศน์ การประกวดโต๊ะหมู่ การสาธิตทางวัฒนธรรมและกิจกรรมเวิร์กช็อป จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารและสินค้า ของดี 50 เขต และจุดถ่ายรูปที่ระลึก
หากใครมาท่องเที่ยวช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค. สามารถอยู่ต่อยาว ๆ เพื่อร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เพื่อความเป็นสิริมงคลได้ด้วย
ส่วน “ไฮไลต์” เวทีใหญ่ มีกิจกรรมบนเวทีไม่ซ้ำในแต่ละวัน ทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรม โขน ฉ่อยหน้าม่าน งิ้ว ลิเก ละครนอก เสวนา ศิลปินเพลงเอก ฯลฯ เปิดความสนุกทุกวันเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น. และบริเวณลานคนเมืองยังสามารถชมการแสดงดนตรี โดยกองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการ ท่องเที่ยว กทม. และร้านค้ามากมายรายรอบเวทีการแสดงอีก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า วัดสุทัศน์เป็นวัดสำคัญที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง คู่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลานานถึง 215 ปีแล้ว ซึ่งท่านเจ้าคุณได้อธิบายให้ฟังว่าจุดนี้เป็นเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล สมัยนั้น รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างวัดพระแก้ว และวัดโพธิ์ แต่เมื่อวิเคราะห์ชัยภูมิแล้ว บอกว่าศูนย์กลางของ กทม.อยู่ใต้ฐาน “ชุกชี” ของพระพุทธศรีศากยมุนีที่อยู่ในพระวิหารหลวงนี้
กล่าวกันว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็เป็นเหตุที่เรามี เสาชิงช้าอยู่ข้างหน้า เป็นที่รับพระอิศวรลงมาเยือนโลกมนุษย์ เพราะตรงนี้คือศูนย์รวมพลัง และพระพุทธศรีศากยมุนีก็ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ถือว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง คู่ กทม.มายืนยาว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
พอรู้ที่มาที่ไปและความสำคัญคร่าว ๆ แล้ว หยุดยาวใครที่ยังไม่มีแพลนเดินทางออกนอกกรุง ก็ลองแวะมาฉลอง 215 ปีวัดสุทัศน์ ที่เดินทางไม่ยุ่งยาก เพราะอยู่ใกล้ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า และโบสถ์พราหมณ์ ใครขับรถก็ปักหมุดง่าย แต่อาจจะหาที่จอดรถยาก ซักนิด ทางที่ดีไม่ต้องกังวลเรื่องหาที่จอดรถก็เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะได้หลายสาย อาทิ 12, 15, 42, 48, 73 หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน ลงสถานี MRT สามยอด แล้วเดินต่อมาอีกนิดก็ถึงวัดสุทัศน์
อย่างไรก็ตาม ด้วยพิกัดวัดสุทัศน์ ที่ตั้งอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ ละแวกใกล้เคียงจึงมีแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ใช้เวลาคุ้มค่าตลอดวัน ยกตัวอย่าง
โลหะปราสาท ภายในวัดราชนัดดารามวรวิหาร, เดินชิมช้อปถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง, ถนนคนเดินเยาวราช, พาหุรัด, หรือเปลี่ยนบรรยากาศไปชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่ใกล้ ไม่ไกลทั้งบริเวณสะพานพุทธ และสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
หากนั่งรถต่อไปอีกนิดก็จะเจอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มิวเซียมสยาม ศาลหลักเมือง และพระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้ หลังงานสมโภช 215 ปี วัดสุทัศน์จบลง นักท่องเที่ยวก็ยังสามารถเข้าสักการะ และเยี่ยมชมวัดได้ทุกวัน โดยชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท การแต่งกายควรสุภาพ
บริเวณวัด เปิดระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. พระอุโบสถ เปิดเวลา 08.00-17.00 น. และพระวิหารหลวง เปิดเวลา 07.00-21.00 น.
ผ่านมรสุมทั้งโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจหนัก ๆ มาทั้งปีแล้ว นอกจากพลังกาย การเติมพลังใจก็สำคัญ โอกาสนี้ ทีมข่าวชุมชนเมืองขอ “สวัสดีปีใหม่ 2566” หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะใช้ห้วงเวลาพักผ่อนอย่างมีความสุขเต็มที่.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 ธ.ค. 2565