Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจ้งข่าวร้องเรียนประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2567

กทม. ประสานความร่วมมือขนย้ายกากแคดเมียม เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นที่บางซื่อ


  นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขนย้ายกากแคดเมียมที่ตรวจพบในโรงงานในพื้นที่เขตบางซื่อ เพื่อนำไปกำจัดยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตากว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ. ได้ประสานความร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน ซักซ้อมความเข้าใจ และเตรียมการกากแคดเมียมที่ตรวจพบในโรงงานในพื้นที่เขตบางซื่อ เพื่อนำไปกำจัดยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 67 ตามแผนดำเนินการของ อก. โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยในเส้นทางการขนย้ายและระหว่างการขนย้ายออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ โดยได้ซักซ้อมการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมและจำลองการขนย้ายเสมือนจริงในวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย. 67 ซึ่งมี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักอนามัย และเจ้าหน้าที่สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 19 วงศ์สว่าง สำนักอนามัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทีมกู้ชีพฉุกเฉินโรงพยาบาลวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ สำนักงานเขตบางซื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักปลัด กระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ดำเนินการซักซ้อมการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม จำลองการขนย้ายเสมือนจริง รวมถึงทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนขนย้ายนำกลับไปยังจังหวัดตาก ในวันที่ 29 เม.ย. 67 

        สำหรับการขนย้ายในวันจันทร์ที่ 29 เม.ย. 67 ได้ปิดคลุมรถพ่วง 18 ล้อ คันแรก และดูดฝุ่นล้อรถคันแรกก่อนที่พนักงานขับรถจะนำรถออกจากโรงงาน โดยนำรถคันแรกไปจอดรอที่จุดพักรถที่สถานประกอบการเตรียมไว้ภายในซอยเดียวกัน (จุด C) จากนั้นรถคันที่ 2 ถอยเข้าโรงงานเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการขนส่งตรวจหาแคดเมียมภายในโรงงานอีกครั้ง เพื่อทำให้โรงงานปราศจากแคดเมียมในปริมาณที่เกินมาตรฐาน โดยใช้กระบวนการเดียวกัน มีการซีลถุง ปิดคลุมรถ และดูดฝุ่นล้อรถจนถึงคันที่ 6 ดูดฝุ่นภายในโรงงาน นำฝุ่นภายในโรงงานใส่ถุงซีลให้เรียบร้อยและนำขึ้นรถคันที่ 6 ปิดคลุมรถและดูดฝุ่นล้อ ก่อนนำรถคันที่ 6 ไปจอดพักในสถานที่พักรถ (จุด C) เพื่อเตรียมออกเดินทางไปยังจุดนับพบ (บางบัวทอง) หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จะตรวจหาแคดเมียมภายในโรงงานอีกครั้ง เพื่อทำให้โรงงานปราศจากแคดเมียมในปริมาณที่เกินมาตรฐาน รวมทั้งร่วมกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความถูกต้องรถทุกคัน จอดรอภายในสถานที่พักรถที่เตรียมไว้ (จุด C) พื้นที่เขตบางซื่อ โดยมีรถนำของตำรวจนำขบวนและปิดท้ายขบวนคาราวานรถขนกากแคดเมียม

        นอกจากนี้ สนอ. ได้ร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีที่จำเป็นให้แก่เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ กทม. เพื่อรองรับการปฏิบัติงานระหว่างการขนย้ายกากแคดเมียมออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ โดย สปภ. ได้เตรียมอุปกรณ์และชุด PPE สำหรับตอบโต้เหตุฉุกเฉินขณะดำเนินการจนเสร็จขบวนการ และเดินทางร่วมไปกับขบวนรถขนกากแคดเมียมด้วย ส่วน สนอ. เตรียมชุด PPE และเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นแคดเมียม เพื่อสำรวจความเข้มข้นของฝุ่นแคดเมียมที่คงค้างอยู่ในพื้นที่ไม่ให้มีค่าที่เกินมาตรฐาน ส่วนแนวทางติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตบางซื่อและพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางการขนย้ายกากแคดเมียม สนอ. ได้สั่งให้ปิดคลุมรถพ่วงที่ขนส่งกากแคดเมียม ซีลถุงบรรจุกากแคดเมียมอีกชั้นและดูดฝุ่นที่ล้อรถพ่วง รวมทั้งตรวจการปนเปื้อนแคดเมียมที่ล้อรถพ่วงทุกคันก่อนเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ สนอ. และกรมควบคุมมลพิษ จะตรวจสอบการปนเปื้อนของแคดเมียมภายในสถานประกอบการและพื้นที่ใกล้เคียงหลังจากขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม โดยตรวจประเมินผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางดิน น้ำ น้ำผิวดิน และในบรรยากาศอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ปราศจากการปนเปื้อนแคดเมียมในปริมาณที่เกินมาตรฐานภายในสถานประกอบการและพื้นที่ใกล้เคียง หากประชาชนมีความกังวลว่า จะได้รับสัมผัสฝุ่นแคดเมียมสามารถเข้ามาตรวจคัดกรองสุขภาพที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 วงศ์สว่าง ขณะเดียวกัน สนอ. ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เรื่อง “อันตรายจากสารแคดเมียม” เพื่อให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อมูลทั่วไปของสารแคดเมียม ความเป็นอันตราย รวมถึงการปฐมพยาบาลผ่านช่องทางสื่อออนไลน์และจุดประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ

 

 

กทม. ตั้งเป้าปรับปรุงทางเท้าตามมาตรฐานใหม่ 76 เส้นทางภายในปี 68


นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงทางเท้าให้สามารถสัญจรได้สะดวก ปลอดภัย เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่มว่า สนย. ได้กำหนดแบบมาตรฐานงานทางล่าสุดเมื่อปี 2565 ซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิด Universal Design เอื้อต่อประชาชนทุกเพศทุกวัยให้เข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกันและทำให้ทางเท้ามีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น มีความแตกต่างของมาตรฐานทางเท้าใหม่ฯ โดยเปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกสบาย ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้าเป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย รวมถึงวางแนวทางการ จัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า การวางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาและปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น
     
ทั้งนี้ สนย. มีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าตามมาตรฐานใหม่ 76 เส้นทางภายในปี 2568 โดยในระยะแรกตั้งเป้าหมายไว้ 1,000 กิโลเมตร  ซึ่งมีทั้งการทำใหม่ทั้งเส้นทาง การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า ดังนี้ (1) แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องเรียนใน Traffy Fondue (2) พัฒนาปรับปรุงตามแนว BKK Trail 500 กิโลเมตร (3) ภายในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้าต้องดี (4) ปรับปรุงในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่นตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า และ (5) คืนสภาพจากหน่วยงานสาธารณูปโภค โดยติดตามเร่งรัดการจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้เกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า เช่น ประปา ไฟฟ้า และการนำสายไฟลงดิน ตลอดจนการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุดในเบื้องต้น กทม. จะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย BEST) ออกดำเนินการซ่อมแซมชั่วคราวให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนใช้งานได้อย่างปลอดภัย

 

 

กทม. กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจป้องกันผลกระทบสุขภาพระหว่างปฏิบัติงานกลางแดดร้อนจัด


   นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวถึงการติดตามดูแลสุขภาพบุคลากร กทม. ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพจากภาวะอากาศร้อนว่า สนท. ได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจในระหว่างการออกปฏิบัติงานในภาวะเสี่ยงกลางแดดร้อนจัด หรือมีอากาศร้อนจัดให้เพิ่มความระมัดระวังและเพิ่มการป้องกันอย่างเข้มข้น พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัด หากมีอาการเสี่ยงให้ปรึกษาแพทย์โดยด่วน อีกทั้งให้เฝ้าระวังสอดส่องประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทั่วไปให้ปฏิบัติเช่นกันด้วย  

 


 

 


 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200