กทม. เตรียมพร้อมรองรับดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 เน้นย้ำมาตรการป้องกันส่วนบุคคล
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 20 เม.ย. 67 มีผู้ป่วยโรคโควิด 19 สะสมจำนวน 82,315 คน เป็นคนไทย 79,793 คน ต่างชาติ 2,522 คน ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ร้อยละ 92.18 ทั้งนี้ มาตรการป้องกันส่วนบุคคลยังเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก และเมื่ออยู่ในพื้นที่ หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด 19 ตลอดจนป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาด
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตียงรักษา ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงระบบการส่งต่อ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ง่าย
กทม. จัดมาตรการเชิงรุกให้คำแนะนำประชาชนทุกกลุ่มดูแลรักษาสุขภาพช่วงอากาศร้อนจัด
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพในช่วงสภาพอากาศร้อนจัดว่า กทม. ได้จัดทำแผนการรับมือสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 และดำเนินมาตรการเชิงรุก เน้นย้ำ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนทุกกลุ่มเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนที่สภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ตลอดจนบุคลากรของ กทม. ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งอย่างใกล้ชิด เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย พนักงานในสวนสาธารณะที่ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียวของ กทม. ในช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนผ่านช่องทางไลน์ทุกวัน
สำหรับสวนสาธารณะของ กทม. 51 แห่ง ที่เปิดให้บริการประชาชนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมนันทนาการ ทำกิจกรรมการแจ้ง การออกกำลังกาย กทม. ได้แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) พร้อมจัดเจ้าหน้าที่กวดขันตรวจตราให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มาออกกำลังกายควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลากลางวันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ และวิธีสังเกตอาการเพลียแดด ป้องกันผลกระทบและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพจากภาวะอากาศร้อนในขณะปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) แดด รวมถึงวิธีสังเกตอาการและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร โดยทีมโฆษกศูนย์และทีมประชาสัมพันธ์ของสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ประสานสำนักการแพทย์เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรก และแนะนำวิธีการดูแลสุขอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ป่วยสามารถแจ้งสายด่วน 1669 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการพยากรณ์อากาศจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th และอินโฟกราฟิกค่าดัชนีความร้อน (HEAT INDEX) ผ่านเพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
กทม. เดินหน้ากวดขันจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย คืนพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชน
นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย บนทางเท้าว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ) ได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้แก่ สนท. และสำนักงานเขตในการจัดระเบียบทางเท้า โดยเน้นความสะดวก สบาย ปลอดภัย ในสัญจรของประชาชนเป็นสำคัญ จุดพื้นที่ทำการค้า หรือจุดผ่อนผัน จะต้องกวดขันให้พื้นที่และผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ กทม. อย่างเคร่งครัด จุดใดที่สร้างปัญหาและไม่สามารถปรับแก้ไขได้จะต้องยกเลิก เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชนสัญจรต่อไป
ส่วนนอกจุดทำการค้า หรือนอกจุดผ่อนผัน ซึ่งเป็นการทำการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและมีจำนวนมากให้สำนักงานเขตบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ในระหว่างที่ดำเนินการให้ยึดแนวทางตามหลักเกณฑ์ของ กทม. มาปรับใช้โดยอนุโลม โดยให้ลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ จากการจัดทำทะเบียนควบคุมเมื่อปี 2565 มีจำนวน 726 จุด ผู้ค้า 15,858 ราย ปัจจุบันได้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ผลักดันให้ผู้ค้าเข้าไปขายในที่เอกชน Hawker Center และคืนพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนได้สัญจรอย่างสะดวก ปลอดภัย คงเหลือจุดทำการค้านอกจุด 440 จุด ผู้ค้า 11,834 ราย รวมถึงให้เจ้าหน้าที่กวดขัน ตรวจตราพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สนท. ได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทม. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปนำเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผ่านคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ กทม. พิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางการประกาศอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทำการค้า เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งผู้ค้าและประชาชนผู้ใช้ทางเท้า พร้อมทั้งมีความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ ขณะเดียวกัน กทม. ได้จัดหาพื้นที่ของ กทม. พื้นที่เอกชน รัฐวิสาหกิจ เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center รองรับผู้ค้าของ กทม.
กทม. จัดทีมปฏิบัติการตอบโต้เหตุสารเคมี-สนับสนุนการขนย้ายกากแคดเมียมออกจากกรุงเทพฯ
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานระหว่างการขนย้ายกากแคดเมียมออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สปภ. ได้ดำเนินการซักซ้อมความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนขนย้าย โดย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ สปภ. จัดรถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย พร้อมทีมปฏิบัติการตอบโต้เหตุสารเคมีและวัตถุอันตราย และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ชุดป้องกันอันตรายในการปนเปื้อนสารเคมี Level A และ C , หน้ากากแบบเต็มหน้าพร้อมตลับกรอง หรือหน้ากากไม่ต่ำกว่า N95, เครื่องเตือนภัยส่วนบุคคล, เครื่องดูดสารเคมี และเครื่องช่วยหายใจ SCBA สนับสนุนการซักซ้อมกระบวนการนำถุงกากตะกอนแคดเมียมขึ้นรถบรรทุกในพื้นที่โรงงานของบริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล จำกัด และรองรับการปฏิบัติงานในระหว่างการขนย้ายกากแคดเมียมออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด ตามแนวทางและวิธีการที่คณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสีกำหนด โดยทีมปฏิบัติการตอบโต้เหตุสารเคมีและวัตถุอันตรายของ สปภ. จะเตรียมพร้อมจนกว่ากระบวนการขนย้ายจะเสร็จสิ้น เพื่อลดความวิตกกังวลและสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเหตุเกี่ยวกับสารเคมี หรือวัตถุอันตราย สามารถแจ้งผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง