Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567

กทม. ร่วมตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วไหลในโรงงานย่านจอมทอง พร้อมเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ-น้ำบริเวณใกล้เคียง
 
นายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผู้อำนวยการเขตจอมทอง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเหตุสารเคมีรั่วไหลภายในโรงงานแห่งหนึ่ง ซอยพระราม 2 ซอย 20 (ซอยจันทร์พริ้ง) ถนนพระรามที่ 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตจอมทอง ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุสารเคมีรั่วไหล ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักอนามัย และศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร พบว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นสถานประกอบกิจการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ โดยสารเคมีที่รั่วไหล คือ THIOUREA DIOXIDE ใช้บำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมกระดาษ สารเคมีมีลักษณะเป็นผลึกผงสีขาว ขนาดบรรจุถังละ 50 กิโลกรัม จำนวน 23 ถัง คุณสมบัติของสารเคมี มีฤทธิ์เป็นกรด มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง เมื่อเกิดการรั่วไหลออกจากภาชนะบรรจุ จะทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้น้ำเร่งปฏิกิริยาของสารเคมีและนำถังบรรจุสารเคมีที่รั่วไหลออกมาไว้ด้านนอกอาคาร เพื่อรอการจัดเก็บไปทำลายอย่างถูกวิธี 

        สำหรับการตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยตรวจวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ บริเวณภายในและภายนอกสถานประกอบการรัศมี 100 เมตร ผลการตรวจวัดไม่พบก๊าซทั้ง 2 ชนิด รวมถึงตรวจวัดคุณภาพน้ำจากบ่อพักน้ำที่อยู่ภายในโรงงานทั้งหมด 3 จุด พารามิเตอร์ที่ตรวจ ได้แก่ ค่า pH, BOD, COD, ไนเตรท และไนไตรท์ ขณะเดียวกันได้เก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รอผลการตรวจวัดประมาณ 10-15 วัน นอกจากนั้น ได้สำรวจข้อมูลประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ในเบื้องต้นได้กำหนดมาตรการให้สถานประกอบการดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดเก็บกากของเสียของสารเคมีที่รั่วไหลภายใน 7 วัน (2) ดูแลช่วยเหลือประชาชนใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากสารเคมีรั่วไหล (3) แจ้งมาตรการ หรือแผนปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสถานประกอบการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสารเคมี และ (4) จัดทำแผนการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสถานประกอบการ ทั้งนี้ ให้สถานประกอบการแจ้งผลการดำเนินการทั้งหมดให้สำนักงานเขตฯ ทราบภายใน 7 วัน


นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ร่วมกับสำนักงานเขตจอมทอง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อากาศและน้ำ บริเวณภายในสถานประกอบการ และภายนอกสถานประกอบการ รัศมี 100 เมตร โดยมีผลการตรวจสอบ ดังนี้ คุณภาพอากาศ ตรวจไม่พบก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของไทโอยูเรียไดออกไซด์ ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศต่อไป คุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจคุณภาพน้ำในเบื้องต้น โดยวิเคราะห์ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ (pH) ผลการวิเคราะห์ได้ค่า pH=7 ซึ่งมีความเป็นกลาง พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทราบผลการวิเคราะห์ภายใน 15 วัน ส่วนการเคลื่อนย้ายสารเคมีดังกล่าวไปจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย สำนักงานเขตจอมทองได้สั่งการให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากสารเคมีไปกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใน 7 วัน พร้อมให้รายงานผลการเคลื่อนย้ายให้สำนักงานเขตทราบ

ขณะเดียวกันศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร จะตรวจคัดกรอง ดูแล และช่วยเหลือประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว) ส่วนการติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ และกรมควบคุมมลพิษได้เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณภายในและภายนอกสถานประกอบการไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว จะทราบผลการวิเคราะห์ภายใน 15 วัน

นอกจากนี้ สนอ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการและตอบโต้อุบัติภัยสารเคมี โดยบูรณาการกับหน่วยงานภายใน ได้แก่ สำนักงานเขต และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมทั้งหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจแนะนำความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สนอ. ได้กำหนดแผนการลงตรวจสถานประกอบการดังกล่าวระหว่างวันที่ 15 พ.ค. – 31 ก.ค. 67 

ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันอันตรายและแผนเผชิญเหตุป้องกันสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายระดับกรุงเทพมหานคร ระดับเขต จัดอบรมการตอบโต้เหตุฉุกเฉินสารเคมีและวัตถุอันตราย สั่งการให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการของ กทม.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตและฝึกซ้อมแผนของหน่วยงาน และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์วิธีดูแลและป้องกันตนเอง รวมถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และสำนักอนามัย รวมทั้งประสานสำนักงานเขตให้เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์วิธีดูแลและป้องกันตนเอง รวมถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากเหตุดังกล่าวให้กับประชาชนได้รับทราบ


นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดชุดปฏิบัติการตอบโต้สารเคมีและวัตถุอันตราย พร้อมรถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตรายเข้าระงับเหตุสารเคมีรั่วไหลภายในบริษัทประกอบกิจการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ โดยลักษณะที่เกิดเหตุเป็นโกดังชั้นเดียว จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า เป็นเป็นสารอินทรีย์ที่มีกำมะถัน หรือออร์กาโนซัลเฟอร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเคมีไทโอยูเรีย (กลุ่มของสารเคมีที่มีโครงสร้างทั่วไปในทางการเกษตร) เจ้าหน้าที่ได้เก็บกู้เรียบร้อยและนำถังที่เกิดการรั่วไหลออกจากอาคารและนำมาไว้บริเวณลานด้านนอกอาคาร พร้อมทั้งอุดท่อระบายน้ำของโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และปิดกั้นพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อรอการขนย้ายและจัดเก็บต่อไป โดยมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นสาเหตุสารเคมีรั่วไหลเกิดจากการสะสมความร้อน ทำให้เกิดแรงดันภายในถังและมีการรั่วไหลของสารเคมีดังกล่าว ในที่เกิดเหตุไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเหตุเกี่ยวกับสารเคมี หรือวัตถุอันตราย สามารถแจ้งผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 

กทม. ประสาน กสทช. – กฟน. เร่งจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นไปตามแผน
 
    นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตหลายพื้นที่ยังมีสายสื่อสาร-สายโทรคมนาคมไม่เป็นระเบียบว่า ปัญหาสายสื่อสาร-สายโทรคมนาคมไม่เป็นระเบียบในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ส่วน กทม. เป็นผู้ประสานงาน ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม จากการประสาน กสทช. และ กฟน. ทราบว่า การแก้ไขปัญหาโดยการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน ได้ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว เป็นระยะทางรวม 193 กิโลเมตร และจะดำเนินการในปี 2567 ระยะทาง 369 กิโลเมตร ปัจจุบันการนำสายสื่อสารลงดินดำเนินการแล้วระยะทาง 6 กิโลเมตร ตามกำหนดแผนการดำเนินการในจุดที่มีความเร่งด่วนและมีปัญหากระทบกับความปลอดภัยของประชาชนก่อน จะดำเนินการในปี 2567 เป็นระยะทาง 61 กิโลเมตร ทั้งนี้ กทม. จะประสาน ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดภูมิทัศน์ของเมืองที่สวยงามและส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเมืองที่ดีขึ้นต่อไป

 

 

กทม. ขอความร่วมมือเจ้าของที่ดินทำแนวกันไฟ-แนะ ปชช.แจ้งเหตุเพลิงไหม้หญ้าโดยเร็ว ป้องกันการลุกลาม

นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้หญ้าบริเวณซอยลาดปลาเค้า 72 แยก 14 เขตบางเขนว่า สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับสมาชิกสภาเขตบางเขนลงพื้นที่อำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงาน กทม. และอาสาสมัครต่าง ๆ ที่มาสนับสนุนนำรถน้ำช่วยดับเพลิงและป้องกันการลุกลามเข้าบ้านเรือนประชาชน เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ได้ลุกลามไปยังซอยรามอินทรา 8 แยก 10-12 โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางเขนจึงควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้หญ้าได้

จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า สถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า เจ้าของที่จึงได้ปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้และบริเวณดังกล่าวเคยเกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง แต่ไม่หนักเท่าครั้งนี้ ประกอบกับช่วงอากาศร้อนแห้ง อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ โดยสำนักงานเขตฯ จะได้ประสานเจ้าของ หรือผู้ที่ครอบครองที่ดินที่ปล่อยให้รกร้าง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกันยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำและประสานความร่วมมือกับชุมชนร่วมตรวจตรา เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายจากเหตุเพลิงไหม้ ตลอดจนช่องทางการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้หญ้าในซอยลาดปลาเค้า 72 แยก 14 เป็นเหตุเพลิงไหม้หญ้าบริเวณกว้างติดกับบ้านเรือนประชาชน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนจากควันไฟ เขม่า หรือขี้เถ้าที่มากับควันไฟ โดยการเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้หญ้าดังกล่าว เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยจากสถานีดับเพลิงบางเขน สายไหม และลาดพร้าว รวมรถดับเพลิง 5 คัน พร้อมด้วยรถบรรทุกน้ำจากสำนักงานเขตบางเขนและเขตลาดพร้าว 5 คัน และเครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดหาบหามของอาสาสมัครอีก 4 เครื่อง ได้ร่วมกันดับจนเพลิงสงบ โดยคาดว่า สาเหตุเกิดจากการลักลอบจุดไฟเผาขยะพร้อมกันหลายจุดและลุกลามไปยังป่าหญ้าบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเพลิงไหม้หญ้าและขยะจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนบริเวณใกล้เคียงเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้เองทั้งหมด จำเป็นต้องอาศัยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแจ้งเหตุมายังสถานีดับเพลิงพื้นที่ หรือแจ้งเหตุมายังศูนย์วิทยุพระราม โทร.199 โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เพลิงไหม้หญ้าลุกลามขยายตัวออกเป็นวงกว้าง และขอให้เจ้าของที่ดินที่มีพื้นที่ติดกับบ้านเรือนประชาชนช่วยกันจัดทำแนวกันไฟประมาณ 5-10 เมตร ซึ่งจะสามารถป้องกันการลุกลามไปยังบ้านเรือนประชาชนที่มีพื้นที่ติดต่อกันได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนั้น ได้ประสานสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเจ้าของที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า มิให้เผาหญ้าและขยะ ตลอดจนประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่กวดขันจับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้า หรือขยะ และลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า หากประชาชนพบเหตุไฟไหม้หญ้า กองขยะ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุทางสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 

กทม. ประสาน กฟน. เร่งแก้ไขฝาบ่อพักท่อชำรุดเชิงสะพานข้ามแยกเสนานิคม

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและแก้ไขฝาท่อชำรุดบริเวณเชิงสะพานข้ามแยกเสนานิคมว่า สนย. ได้ตรวจสอบฝาบ่อพักที่มีการทรุดตัวไม่เรียบ พบว่า เป็นฝาบ่อพักของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่บริเวณเชิงสะพานข้ามแยกเสนานิคมฝั่งขาเข้า ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร จึงได้ประสาน กฟน. ดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ กฟน. ได้แก้ไขชั่วคราวแล้วและจะเร่งแก้ไขอย่างถาวรต่อไป

 

 

 

เขตจตุจักรกำชับเจ้าหน้าที่ให้บริการงานทะเบียนทุกประเภทในจุดบริการเดียว

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การติดต่อราชการที่สำนักงานเขต เจ้าหน้าที่กดบัตรคิวให้ 3 ใบ ทั้งที่ควรให้บริการในจุดเดียวว่า สำนักงานเขตฯ ขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กรณีดังกล่าวเกิดจากความประสงค์ดีของเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่ต้องการให้ผู้รับบริการได้รับบริการโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเห็นว่า ขณะนั้นมีประชาชนรับบริการเต็มทุกช่องบริการ อีกทั้งยังมีที่รอรับบริการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ช่องบริการใดจะเรียกคิวของผู้รับบริการเป็นลำดับแรก จึงกดบัตรคิวให้ผู้รับบริการทั้ง 3 ประเภทงาน แต่ไม่ได้สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้รับบริการให้ชัดเจนว่า ผู้รับบริการสามารถเข้ารับบริการทั้ง 3 ประเภทงานได้จากคิวใดคิวหนึ่งที่เรียกคิวรับบริการก่อน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการให้บริการของสำนักงานเขตที่กำหนดให้ผู้รับบริการสามารถรับบริการคัดสำเนาเอกสารทางทะเบียนทุกประเภทงานได้ในจุดบริการเดียว ประกอบกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการไม่ทราบ จึงมิได้สอบถามความต้องการทั้งหมดของผู้รับบริการ ก่อให้เกิดเหตุความผิดพลาดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความใส่ใจในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาจะกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

 

 

เขตสาทรเพิ่มความถี่จัดเก็บขยะในซอยจันทน์ 18/7 แยก 8 แก้ปัญหาขยะตกค้าง

นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร กทม. กล่าวกรณีประชาชนผู้พักอาศัยในซอยจันทน์ 18/7 แยก 8 เขตสาทร ร้องเรียนรถเก็บขยะไม่เข้าไปเก็บขยะในซอย ทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้างว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งจัดเก็บขยะที่ตกค้างเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มความถี่การจัดเก็บขยะ เพื่อเก็บขยะทุกวันไม่ให้ตกค้างอีกต่อไป

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200