Flag
Search
Close this search box.
จัดเสริมทักษะทำCPR/ใช้เครื่องAED หวังครู-บุคลากรช่วยคนอื่นต่อได้

 เสริมทักษะ CPR/การใช้เครื่องกระตุกหัวใจฯ AED บุคลากร กทม. ขยายผลช่วยชีวิตคนกรุงฯ เหตุฉุกเฉินได้ปลอดภัย

วันที่ 22 เม.ย.2567 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมพัฒนาความรู้ผู้สอนการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) มี พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ผู้บริหาร สำนักการแพทย์ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) หน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. เขตพระนคร โดยรองปลัดกทม. กล่าวว่า เป็นกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรต้นแบบ พัฒนาศักยภาพบุคลากรกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะครู บุคลากรทางการศึกษา หรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีความรู้ในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้น พื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) โดยนำความรู้ ที่ได้รับไปถ่ายทอดขยายผลต่อไปยัง กลุ่มบุคคลอื่นๆ ได้ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ได้จัดขึ้นเพื่อฝึกทักษะการปฏิบัติที่ถูกต้อง ในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน โดยการปั๊มหัวใจด้วยวิธีการกดหน้าอก (CPR) และการใช้เครื่องช่วยกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (AED) เน้นการฝึกปฏิบัติแบบเสมือนจริงตามแนวคิดในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในเรื่อง Public AED ซึ่งจะทำให้ผู้เจ็บป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือเป็นการปฏิรูปการเรียนการสอนและสร้างบุคลากรต้นแบบให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนหรือประชาชนทั่วไปได้อีกทางหนึ่ง

การอบรมจัดระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2567 แบบไป-กลับ จำนวน 10 รุ่น รุ่นละครึ่งวัน อบรมให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนสังกัดกทม. 409 แห่ง ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 813 คน พยาบาลวิชาชีพและบุคลากรทางการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 137 คน รวมผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 950 คน โดยบุคลากรสังกัดศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เป็นวิทยากรผู้บรรยายและฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือตามที่สาธารณะต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งหลายหน่วยงานรวมถึงสำนักการแพทย์ ได้นำเครื่องช่วยกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ไปติดตั้งในที่สาธารณะต่างๆ เช่น สนามบิน สวนสาธารณะ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง และส่วนราชการต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถนำเครื่อง AED ไปใช้ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยที่เกิด ภาวะหัวใจหยุดเต้น

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 23 เม.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200