กระจายทักษะ’CPRขั้นพื้นฐาน’ขยายผลฟื้นชีพผู้ป่วยยามฉุกเฉิน

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกทม. เปิดเผยถึงการพัฒนาความรู้ผู้สอนการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) ว่า เป็นการพัฒนาต้นแบบ โดยเฉพาะครู บุคลากรทางการศึกษา หรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวม 950 คน ให้มีความรู้พื้นฐานไปถ่ายทอดขยายผลต่อ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานบุคลากรให้ขยายผลกว้างออกไปยังหน่วยงานอื่นได้

ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาศักยภาพความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นแก่บุคลากรสังกัด กทม. โดยเน้นฝึกปฏิบัติแบบเสมือนจริงตามแนวคิดพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินเรื่อง Public AED ซึ่งทำให้ผู้เจ็บป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับความช่วยเหลือถูกต้องและรวดเร็ว

“ถือเป็นการปฏิรูปการเรียนการสอนและสร้างบุคลากรต้นแบบให้สามารถ นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนหรือประชาชนทั่วไปได้อีกทางหนึ่ง”

สำหรับปัจจุบันพบผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่สาธารณะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เนื่องจากไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยการช่วยฟื้นคืนชีพอย่างถูกต้องและทันท่วงที โดยประเทศที่มีการพัฒนาทางการแพทย์ฉุกเฉินก้าวหน้าแล้วจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถนำเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติไปช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุได้

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยหลายหน่วยงานรวมถึงสำนักการแพทย์นำเครื่องช่วยกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ไปติดตั้งในที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สนามบิน สวนสาธารณะ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง และส่วนราชการต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่มีความรู้ความ สามารถนำเครื่องไปใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200