Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567

กทม.เร่งประสาน ขบ.ปรับปรุงข้อมูลเลขสายรถเมล์ เดินหน้าติดตั้งป้าย-ศาลาที่พักรูปแบบใหม่

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพป้ายหยุดรถโดยประสารประจำทาง ป้ายโอสถศาลา บริเวณถนนพญาไท เขตปทุมวัน แสดงหมายเลข รถโดยสารประจำทางไม่ถูกต้องว่า จากการตรวจสอบเลขสายรถโดยสารประจำทาง พบว่า ยังไม่ได้ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการเดินรถโดยสารอยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงเลขสายรถโดยสารประจำทาง ตามเส้นทางปฏิรูปใหม่ 269 เส้นทางของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อย่างไรก็ตาม สจส.จะประสานเร่งรัดกรมการขนส่งทางบก ผู้ให้ใบอนุญาตเดินรถโดยสารประจำทางในการให้ข้อมูลและกำหนดการเปลี่ยนแปลงเลขสายหยุดรถโดยสารประจำทางต่อไป

ทั้งนี้ สจส.มีแผนการตรวจสอบ ปรับปรุง และบำรุงรักษาป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง ศาลาที่พักผู้โดยสารประจำทางที่อยู่ในกำกับดูแลของ กทม.จำนวน 4,472 ป้าย และศาลาที่พักผู้โดยสาร จำนวน 2,332 หลัง แบ่งเป็น กรณีให้สิทธิเอกชน 1 สัญญา จำนวน 691 หลัง และกรณี กทม.ดูแล 5 สัญญา จำนวน 1,641 หลัง โดย สจส.ได้ออกแบบป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารแบบใหม่ที่มีรูปแบบทันสมัย เหมาะสมต่อขนาดพื้นที่ทางเดินเท้า รวมทั้งมีข้อมูลการเดินทางด้วยการเชื่อมต่อระบบ GPS จากตัวรถ เพื่อสามารถทราบข้อมูลของรถโดยสารประจำทางทุกสายที่ผ่านป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารประจำทางแบบ Real Time ซึ่งจะทยอยติดตั้งป้ายและศาลารูปแบบใหม่ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ปีงบประมาณ 2566 ก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 30 หลัง 2) ปีงบประมาณ 2567 ก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 89 หลัง และ 3) ปีงบประมาณ 2568 อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 100 หลัง และป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางรูปแบบใหม่จำนวน 200 ป้าย

 

 

กทม.รุกมาตรการเฝ้าระวัง-ป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งเป้าทำหมัน-ฉีดวัคซีน 200,000 ตัวในปี 67
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยพบการระบาดว่า กทม.มีมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข 46 กันตารัติอุทิศ เขตลาดกระบัง ศูนย์บริการสาธารณสุข 44 ลำผักชี เขตหนองจอก สำนักงานเขตหนองจอกและสำนักงานเขตลาดกระบัง ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อปริมณฑลที่พบโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2566 ได้ร่วมประชุมวางแผนและกำหนดแนวทางดำเนินการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในคนและสัตว์ ในพื้นที่รัศมี 5 ตารางกิโลเมตร โดยมีศูนย์ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า กทม.และปริมณฑล บูรณาการข้อมูลเมื่อมีรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้า โดยจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง และดำเนินการ ดังนี้ 1) บูรณาการข้อมูลการพบโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดปริมณฑลอย่างรวดเร็ว เมื่อมีรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดย กทม.จะประสานกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างทันท่วงที 2) สอบสวน เฝ้าระวังโรคในคน ค้นหาติดตาม ผู้สัมผัสโรคและกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบชุดทุกราย 3) ร่วมกันสอบสวน ค้นหาติดตามสัตว์สัมผัสโรค ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ฉีดวัคซีนให้สัตว์ในรัศมีรอบพื้นที่พบโรคในพื้นที่ของตน หากการพบโรคมีรัศมีข้ามรอยต่อจังหวัด รวมทั้งลงพื้นที่เชิงรุกรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเดือน มี.ค.และเดือน ก.ย.ของทุกปีให้กับสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพฯ 

        ขณะเดียวกัน สนอ.ได้ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง อาสาสมัครสาธารณสุข และสำนักงานเขต 50 เขต สำรวจจำนวนสุนัขและแมวทั้งมีเจ้าของและจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 พบว่า มีสุนัขและแมวทั้งหมด 204,536 ตัว แบ่งเป็น สุนัข 70,985 ตัว แมว 133,551 ตัว และในปี 2567 อยู่ระหว่างสำรวจประชากรสุนัขและแมวเพื่อวางแผนการดำเนินงานทำหมันควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังได้ประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (soi dog foundation) มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อจัดบริการหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ตามพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ โดยให้บริการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมว รวมทั้งลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (soi dog foundation) สร้างความร่วมมือในการออกหน่วยผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2564-2566 ไปแล้ว 131,048 ตัว และดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขต และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายปี 2567 ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมว 200,000 ตัว โดยเป็นการฉีดวัคซีนฯ 165,000 ตัว
       
นอกจากนี้ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานเขต และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า การเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ การดูแลสุขภาพสุนัขและแมวอย่างถูกวิธี กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงและดูแลสัตว์ รวมถึงประชาสัมพันธ์แผนการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก : กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 ศูนย์ สำนักอนามัย และสำนักงานเขต 50 เขต รวมทั้งปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์และการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสนับสนุนหนังสือ “ZERO Rabies ภารกิจพิชิตพิษสุนัขบ้า” ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1,320 เล่ม ให้แก่สำนักการศึกษา กทม.เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200