Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567

กทม.ออกแบบทางเดินเชื่อมสวนหลวง ร.9 กับสวนฯ ศูนย์กีฬาบึงหนองบอนตามมาตรฐานการใช้งานสอดคล้องแนวรั้วกั้นระหว่างสวน

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตโครงการก่อสร้างทางเชื่อมสวนหลวง ร.9 กับสวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน เขตประเวศ ออกแบบและก่อสร้างทางเชื่อมสวนสาธารณะเป็นบันได อาจไม่เหมาะสมกับผู้ใช้งานบางกลุ่มว่า กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงทางเดินวิ่งภายในสวนฯ บึงหนองบอน โดยจะยกระดับทางเดิน-วิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ความลาดชันของทางลาดจุดนี้ลดลง มีความสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น ทั้งนี้ แนวก่อสร้างทางเชื่อมได้กำหนดให้สอดคล้องกับแนวรั้วกั้นระหว่างสวน ทำให้มีระยะก่อสร้างทางลาดจำกัด แต่ยังคงอยู่ในมาตรฐานการใช้งาน ส่วนบันไดทางเดินผ่านประตูทางเชื่อม มีระยะลูกตั้งที่มีความสูงน้อย (ลูกตั้ง 15 เซนติเมตร (ซม.) ความสูงลูกตั้งตามกฎหมายควบคุมอาคาร ไม่เกิน 17 ซม.) และมีลูกนอนกว้าง (กว้าง 50 ซม.ความกว้างลูกนอนตามกฎหมายความคุมอาคารไม่น้อยกว่า 22 ซม.) ทำให้เป็นบันไดที่เดินได้อย่างเหมาะสม ส่วนงบประมาณดำเนินการจัดสร้างทางเดินเชื่อมดังกล่าว ประกอบด้วย อาคารซุ้มประตู ประตูรั้วเปิด/ปิด ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเก็บของ พื้นที่ทางเดิน และทางลาดคนพิการ พร้อมทั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และป้ายชื่อสวน

กทม.รุกสำรวจกิจการสัตว์เลี้ยงขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แนะประชาชนซื้อจากร้านที่ได้มาตรฐาน
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ถึงการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงในตลาดนัดจตุจักรเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ว่า สนอ.ได้ดำเนินมาตรการควบคุมกำกับติดตามและป้องกันผลกระทบทางด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 โดยผู้ประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยงจะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (อภ.1) จากสำนักงานเขต ส่วนมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาดในสัตว์จะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยผู้ประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยงจะต้องขอใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลาง ซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ (ร.10) จากสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพฯ กรณีการค้าขายสัตว์ป่า ผู้ประกอบกิจการต้องขออนุญาตให้ค้าสัตว์ป่า จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 
        สำหรับกิจการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน กทม.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยให้สำนักงานเขตสำรวจกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เพื่อลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของกิจการมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน สนอ.ได้แนะนำประชาชนในการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีความรับผิดชอบ โดยผู้ที่สนใจจะซื้อสัตว์มาเลี้ยงควรพิจารณาเลือกซื้อสัตว์จากร้านจำหน่าย หรือฟาร์มที่ได้มาตรฐานและมีใบอนุญาตถูกต้อง เพื่อความมั่นใจว่า สถานประกอบการนั้นไม่มีโรคระบาด ถูกสุขลักษณะสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ลูกสัตว์ที่ยังมีอายุน้อย จะมีภูมิคุ้มกันไม่สูงเท่าช่วงโตเเต็มวัยและง่ายต่อการรับเชื้อเข้ามาในร่างกาย เมื่อเกิดความเครียดจากการเปลี่ยนที่อยู่ หรือเจ้าของใหม่ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง ทำให้ติดเชื้อและป่วยได้ง่าย หากติดเชื้อที่มีความรุนแรง อาจทำให้สัตว์เสียชีวิต ดังนั้น เมื่อซื้อสัตว์ใหม่มาเลี้ยงควรนำไปตรวจสุขภาพและรับวัคซีนป้องกันโรคจากสัตวแพทย์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้
        นอกจากนี้ สนอ.ยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงให้ดำเนินการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ กรณีสัตว์ป่าให้ขอใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสถานประกอบการ ป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขลักษณะสิ่งแวดล้อมและปัญหาโรคระบาดสัตว์ การจัดการด้านสถานที่ของสถานประกอบกิจการให้ถูกต้องตามสุขลักษณะและหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการดูเเลสัตว์ในสถานประกอบกิจการควรคำนึงถึงความหนาแน่นของสัตว์ต่อพื้นที่ การจัดหาอาหารและน้ำที่สะอาด เพียงพอและมีสารอาหารที่ตรงกับความต้องการของสัตว์ การป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิตามโปรเเกรมที่เหมาะสม ตลอดจนคัดเเยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ปกติ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดสัตว์ โดยขอคำปรึกษาและอยู่ในความดูเเลของสัตวเเพทย์ ทั้งนี้ สุนัขควรฉีดฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง การควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 เพื่อใช้ยืนยันตัวตนของสุนัขและสามารถตามหาเจ้าของได้เมื่อเกิดการพลัดหลงซึ่งสามารถรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 8 แห่ง และหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของ กทม.ที่จะออกให้บริการในพื้นที่ 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ โดยสามารถติดตามข้อมูลการออกหน่วยฯ ได้ที่เพจเฟชบุ๊ก : สำนักอนามัย เพจเฟซบุ๊ก : สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข และเพจเฟซบุ๊ก : กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
 
กทม.เดินหน้าเปิดหลักสูตรใหม่-ปรับภูมิทัศน์ศูนย์ฝึกอาชีพและ รร.ฝึกอาชีพในสังกัด
 
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาและยกระดับการให้บริการของศูนย์ฝึกอาชีพและโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.ว่า สพส.ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านหลักสูตร ได้จัดทำหลักสูตรใหม่และปรับปรุงหลักสูตรเดิมที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ทันสมัย และมีความหลากหลาย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก เช่น ภาคเอกชนต่าง ๆ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้จัดทำหลักสูตรพนักงานแม่บ้านโรงแรมระดับต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหลักสูตรพนักงานขับรถยนต์สามล้อไฟฟ้าในสำนักงานและบริการสาธารณะ โดยจะเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 กำหนดเปิดอบรมวันที่ 13 พ.ค.67 ณ โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ม้วน บำรุงศิลป์) และสำหรับรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จัดอบรม ณ โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(ดินแดง 1) มีผู้จบการอบรม 65 คน และมีงานทำ 65 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย.67) ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม สถานที่ฝึกอบรมวิชาชีพของกรุงเทพมหานครในสังกัด สพส.ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.ทั้ง 10 แห่ง และศูนย์ฝึกอาชีพสัญจร 5 แห่ง โดยปรับปรุงอาคารเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(ประเวศ) โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(ดินแดง 1) และโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ) ให้มีความสะดวก สะอาด และปลอดภัย และการออกให้บริการฝึกอาชีพสัญจรตามพื้นที่เขต เช่น สำนักงานเขต ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ตามวิชา หรือหลักสูตรที่มีการร้องขอ 
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ฝึกอาชีพ กทม.ที่อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตอีก 10 แห่ง กระจายให้บริการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและผู้ที่รับการฝึกอบรมวิชาชีพ สำหรับวิทยากรส่งเสริมอาชีพที่เดิมปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม.สวนลุมพินี ปัจจุบันได้ออกปฏิบัติงานตามสถานที่ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการขอสนับสนุนการฝึกอาชีพและการให้บริการมายัง สพส. เช่น สำนักงานเคหะนครหลวง สาขาดินแดง 2 สำนักงานเคหะนครหลวง สาขาห้วยขวาง ชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 อาคาร จี และพาราไดซ์ พาร์ค เขตประเวศ เป็นต้น 
      ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่าน www.bmatraining.ac.th หรือติดต่อโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครทั้ง 10 แห่ง ดังนี้ โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(ดินแดง 1) โทร. 0 2246 1592 โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(บางรัก) โทร. 0 2236 6929 3) โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(ดินแดง 2) โทร. 0 2246 5769 โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(ประเวศ) โทร. 0 2251 7950 โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (อาทร สังขะวัฒนะ) โทร. 0 2426 3653 โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุปถัมภ์) โทร. 0 2429 3573 7 โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(คลองเตย) โทร. 0 2240 0009 โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (ม้วน บำรุงศิลป) โทร. 0 2514 1840 โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.(หนองจอก) โทร. 0 2543 2903 และโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (กาญจนสิงหาสน์ อุปถัมภ์) โทร. 0 2410 1012 หรือที่กลุ่มงานพัฒนาการฝึกอาชีพ ส่วนการฝึกอาชีพ สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สพส. โทร. 0 2247 9496
 
กทม.เร่งรัดงานก่อสร้างทางเท้าซอยเอกมัย 27 ลดผลกระทบประชาชน-สถานประกอบการ

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การก่อสร้างทางเท้าซอยเอกมัย 27 สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและผู้ประกอบการว่า สนย.ได้ตรวจสอบพบว่า การก่อสร้างบริเวณดังกล่าวเป็นงานปรับปรุงคันหินและทางเท้าถนนเอกมัย ช่วงจากถนนสุขุมวิทถึงสะพานข้ามคลองแสนแสบพื้นเขตวัฒนา เริ่มสัญญาวันที่ 26 ต.ค.66 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 พ.ค.67 ระยะเวลา 200 วัน ซึ่งก่อนดำเนินการได้ติดป้ายประชาสัมพันธ์โครงการฯ บริเวณปากซอย กลางซอย และท้ายซอยสุขุมวิท เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในซอยได้รับทราบถึงการปรับปรุงทางเท้าของ กทม.ในบริเวณดังกล่าว
ส่วนปัญหาการทำงานล่าช้าเนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะทำงานในเวลากลางวัน เพราะซอยเอกมัยเป็นซอยที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวอาศัยอยู่หนาแน่น มีรถสัญจรในเวลากลางวันจำนวนมาก จึงต้องดำเนินการเฉพาะเวลากลางคืน ทำให้สถานประกอบการที่เปิดบริการในเวลากลางคืนได้รับผลกระทบทางเสียงและความไม่สะดวกทางกายภาพ ส่งผลให้การทำงานรื้อพื้นทางเท้าเดิมทำได้ปริมาณงานน้อยในแต่ละคืน จึงใช้เวลานานกว่าจะรื้อพื้นทางเท้าเดิมเสร็จในแต่ละช่วง ส่วนการกั้นพื้นที่ได้ติดตั้งราวธงไว้เป็นระยะหลังจากที่รื้อคันหินทางเท้าแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว สนย.ได้มีหนังสือเร่งรัดการทำงานของผู้รับจ้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง โดยหลังจากที่ผู้รับจ้างได้รื้อพื้นทางเท้าเดิมเสร็จแล้ว ได้เทพื้นฐานคอนกรีต เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินได้อย่างสะดวก พร้อมเก็บเศษวัสดุที่กีดขวางทางเดินให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
 
 
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200