พรประไพ เสือเขียว
เมื่อพาตัวเองเข้าไปสู่โลกโซเชียลจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม องค์ความรู้และการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านจะทำให้เรารู้เท่าทันกับข่าวปลอม หรือการเลือกเสพข่าวจากสื่อกระแสข่าวหลัก เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้รู้เท่าทันข่าวปลอม
วันที่ 2 เมษายนของทุกปี กำหนดให้เป็น “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” หวังกระตุ้นให้คนทั่วโลกตื่นตัวตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ก่อนส่ง ต่อ และเข้าใจอันตรายที่เกิดขึ้นจากข่าวลวง สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วม กับภาคีโคแฟค ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานสัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (Inter national Fact-Checking Day 2024)” ภายใต้หัวข้อ “Cheapfakes สู่ Deepfakes : เตรียมรับมืออย่างไร ให้เท่าทัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
คนไทยโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์
อันดับหนึ่งในเอเชีย
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากรายงานประจำปี 2566 ของ ฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่า ปี 2566 คนไทยโดนหลอกจากสายโทรฯเข้าและส่งข้อความหลอกลวง 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจาก ปี 2565 ที่มี 66.7 ล้านครั้ง คิดเป็น เพิ่มขึ้น 18% โดยเฉลี่ยคนไทย 1 คน ได้รับเอสเอ็มเอสหลอกลวง 20.3 ข้อความ ถือว่าไทยถูกหลอกลวงมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง
“จากผลการดำเนินงานของ โคแฟค ประเทศไทย ที่ สสส. ร่วม ผลักดันสนับสนุนให้โคแฟคเป็นพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนสื่อออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2563-2567 โคแฟค ได้บริการตรวจสอบข่าวลวง 7,672 บทความ ช่วยปกป้องคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพผ่านการอบรมตรวจสอบข้อมูลกว่า 5,000 คน สสส. มุ่งหวังให้ทุกคนเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ มีความสามารถในการตรวจสอบข่าวได้ด้วยตนเอง จนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังตรวจสอบข้อมูล และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมา ช่วยกันตรวจสอบข่าวลวงได้ โดยเชื่อว่า “Everyone is a fact checker” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
น่ากลัว!!แพลตฟอร์มออนไลน์
หนุนข่าวปลอม
ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในช่วง Lightning Talk ว่า สรุปในรอบปี 66 ข่าวลวงมักมากับเรื่องใกล้ตัว ข่าวที่เกี่ยวกับสุขภาพ ตัวอย่างข่าวปลอมที่เป็นเรื่องเบสิก คือเรื่อง “ดื่มนม” ขณะที่มีกระแสรณรงค์เรื่องดื่มนมวัวไม่ดีต่อสุขภาพ ระยะหลัง ๆ มักมีอ้างว่าแพทย์ หรือแพทย์ทางเลือกออกมาบอกผลร้ายของการดื่มนม ที่น่าห่วงปัจจุบันข่าวปลอมไม่ใช่ข่าวปลอมธรรมดา แต่เป็นข่าวปลอมที่ทำให้เสียทรัพย์ด้วย ตัวอย่างเช่นให้กด เฟซบุ๊กเชิญชวนคนไปลงทุน ที่น่ากลัวแพลตฟอร์มไม่ได้ช่วยเอาข่าวปลอมออก แต่กลับกลายเป็นว่าช่วยสนับสนุน การแอบอ้างชื่อบริษัทใหญ่ ๆ มีชื่อเสียง ชักชวนให้ลงทุนจึงไม่ใช่หลอกลวงคนอื่นเอาฮาเอาสนุกเหมือนเดิมอีกต่อไป
ตั้งแต่ปี 63 ถึงปี 65 ข่าวปลอมที่มามากสุดคือเรื่องของ โควิดตั้งแต่ก่อนเข้าไทยแม้จะมีการฉีดวัคซีคแล้วแต่ก็มี คนกระตุ้นนำข่าวโควิดออกมา ยิ่งถ้าคนที่โพสต์เป็นหมอเป็นอาจารย์จะยิ่งเสริมความน่าเชื่อถือ แต่ข้อดีคือคนที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขรวมตัวกันค่อนข้างเข้มแข็งเมื่อมีเรื่องเหล่านี้จะมาเชื่อมโยงกัน จึงทำให้ง่ายต่อการรับมือ อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนกระแสหลักยังเป็นตัวปั่นข่าวพาดหัวข่าว ให้คนแตกตื่นตกใจ กรณีมีโรคระบาดเกิดขึ้นโพสต์ข่าว เสียจนน่าตกใจ ตัวอย่างของแบคทีเรียกินเนื้อคนเมื่อวันก่อน หรือความเชื่อเรื่องฟ้าผ่า ใช้มือถือโดนฟ้าผ่าตาย ซึ่งไม่จริง ใส่สร้อยคอทองคำโดนฟ้าผ่าตายไม่จริง
“สิ่งที่น่าห่วงคนจำนวน มากเข้ามาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ใน ติ๊กต็อก สร้างคอนเทนต์ผิดมาก ตัวอย่างมีการโพสต์เรื่องฟ้าผ่าผิดเป็นจำนวนมาก บอกว่ายืนขาเดียวแล้วโดนฟ้าผ่าตาย ไม่จริง กินด่างทับทิมไม่เป็นอันตราย สถานการณ์ในติ๊กต็อกสื่อที่เร้าใจ มันชนะเรา”ศ.ดร.เจษฎา กล่าว
สสส. จับมือ กทม.ป้องกันภัยคุกคามออนไลน์
นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า งานสัมมนาระดับชาติฯ ที่จัดขึ้น สสส. หวังสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะในประเด็นการตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อหรือแชร์ด้วยเครื่องมือดิจิทัล ประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ และรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงการตรวจสอบข้อมูล นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะให้ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป โดย สสส. วางเป้าหมายพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะที่ส่งผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมการใช้สื่อเพื่อสุขภาวะ เสริมทักษะรู้ เท่าทันสื่อ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดสื่อสุขภาวะและปกป้องผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกช่วงวัย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร (กทม.) กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทช่วยให้การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ไม่ว่าจะด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ ทุกคนสามารถเป็น ผู้ผลิตและเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้ง่าย ๆ แต่ความเสี่ยงต่อการถูกหลอก สร้างความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง ถูกหลอกให้ลงทุนและโอนเงินออกจากบัญชี ก็เกิดขึ้นให้เห็นทุกวัน
‘กทม. ให้ความสำคัญการป้องกันภัยคุกคามจาก ออนไลน์ทุกรูปแบบ จึงร่วมกับ สสส. เร่งสร้างการรับรู้ ภัยอันตรายที่เกิดจากข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งเครือข่ายโคแฟค ประเทศไทย จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้คน ในสังคมได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวหลอกลวงที่เกิดขึ้นร่วมกัน และขยายผลความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชน เตรียมรับมือได้อย่างเท่าทัน” นายชัชชาติ กล่าว
ชวนฝึกตรวจข่าวเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนไทยถูกมิจฉาชีพใช้ชีพเฟคหลอกลวงมากกว่าดีพเฟค สอดคล้องกับสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565-15 มี.ค. 2567 มีประชาชนแจ้งความออนไลน์มากกว่า 400,000 คดี โดยการหลอกลวง 3 ประเภทที่พบสูงสุด ได้แก่ 1.ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงิน
“ปีนี้ โคแฟค จึงบูรณาการภาครัฐและเอกชนอบรมสร้างทักษะการตรวจสอบข้อมูลในยุคเอไอทั่วประเทศมีผู้เข้าร่วม 2,500 คน และสร้างคอนเทนต์ในอินฟลูเอนเซอร์สายตรวจสอบข่าว และพัฒนาให้เกิดศูนย์ตรวจสอบ ข่าวลวงภูมิภาคกว่า 7 แห่ง อาทิ อีสานโคแฟค มหาวิทยาลัยบูรพา สามจังหวัดชายแดนใต้ และจะเปิดรับภาคีใหม่มาทำกิจกรรมตรวจสอบข่าวและสร้างพลเมืองทุกคนให้เป็น fact-checker ต่อไป และสุดท้าย ขอชวนประชาชนทุกคนฝึกตรวจสอบข่าวเช็กให้ชัวร์ก่อนเผยแพร่ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะในยุคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง สามารถเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ cofact.org” น.ส.สุภิญญา กล่าว
ทั้งนี้บทลงโทษสำหรับผู้ที่ผลิต ข่าวปลอม ตามกฎหมาย ผู้ที่ผลิตข่าว เท็จ บิดเบือน และนำเผยแพร่บนโซเชียลยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คือนำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้าง ความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้นและมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 เม.ย. 2567 (กรอบบ่าย)