ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว ในปี 2563 ขณะที่การสำรวจปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุพบว่าร้อยละ 51.07 หรือ กว่าครึ่งของผู้สูงอายุมีโรคฟันผุและร้อยละ 12.2 ของผู้สูงอายุมีโรคปริทันต์ระดับรุนแรง ที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบ กับ การเคี้ยวอาหาร การกลืน การพูด และการเข้าสังคม ดังนั้นการรักษาสุขภาพในช่องปากทำให้ผู้สูงอายุ ไม่เจ็บปวด ไม่มีกลิ่นปาก กินอาหารได้ตามปกติ ลดความรุนแรงของโรค เบาหวาน และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะปัญหาปอดติดเชื้อจากการสำลัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
นางกรกมล นิยมศิลป์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวถึงโครงการ “80 ปี ฟันดี 20 ซี่” ว่า เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จัดทำแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุไทยเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยตั้งเป้าไว้ร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุ มีฟันแท้ 20 ซี่ หรือ 4 คู่สบฟันหลัง ภายในปี 2580
“80-20 เป็นแนวทางในการดำเนินการด้าน ทันตสุขภาวะในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยนำต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เหตุผลที่ควรมีฟัน 20 ซี่ เพราะจะเป็นการประกันว่าในช่องปากมีจำนวนฟันเพียงพอต่อการใช้งาน การนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยเราคาดหวังว่าให้ผู้สูงอายุจะรักษาสุขภาพช่องปากที่ดี ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่เด็ก วัยทำงาน จนสูงวัย ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับกลุ่มผู้สูงวัยรวมทั้งครอบครัวด้วยว่า เมื่ออายุมากแล้วฟันหลุดง่ายไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ เพราะหากดูแลได้ดีฟันก็จะสามารถอยู่กับเราได้จนตลอดชีวิต การที่ผู้สูงอายุมีฟันเหลือน้อยจะส่งผลต่อสุขภาวะโดยรวม เนื่องจากพอเคี้ยวไม่ได้ก็จะเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ผักเคี้ยวไม่ขาดก็ไม่อยากจะรับประทาน ซึ่งจะทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งการยิ้ม การพูดคุย เมื่อไม่มีฟันก็ไม่อยากจะเข้าสังคม ไม่อยากจะสื่อสารกับใคร”
ด้าน ทพ.เธียรชัย วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครตามนโยบายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการทำงานเชิงรุกทั้งให้รถทันตกรรมเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตามชุมชน เพิ่มเติมจากเดิมที่จะไปตามโรงเรียนและชุมชนที่มีการร้องขอเข้ามา ทั้งยังให้ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ทั้ง 69 แห่ง มีการอบรมติดอาวุธเพิ่มให้กับทีมเยี่ยมบ้าน อสส. ในด้านทันตกรรมด้วย โดยทำงานร่วมกับเครือข่าย ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging) ในชมรม ผู้สูงอายุใน กทม. 410 แห่ง และชมรมในความดูแลของสำนักอนามัย 259 แห่ง พร้อมอบรมแกนนำชมรมผู้สูงอายุในส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เช่น การตรวจคัดกรอง การสอนและฝึกทักษะการดูแลสุขภาพช่องปากแก่สมาชิกชมรม การจัดกิจกรรมแปรงฟันในชมรมผู้สูงอายุ
“จากการลงพื้นที่คัดกรองในชุมชน พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ของ กทม. ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป มีจำนวนฟันเหลือ 20 ซี่ ไม่ถึงครึ่ง ทั้งยังพบปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างปัญหาการบดเคี้ยวเนื่องจากสูญเสียฟัน ปัญหาฟันผุ ฟันสึก รากฟันผุ และปัญหาโรคปริทันต์อักเสบ คนไข้ส่วนใหญ่จะตระหนักถึงสุขภาพฟันก็ต่อเมื่อมีอาการรุนแรงแล้วจนไม่อาจรักษาฟันไว้ได้ ทางทีมจึงพยายามทำความเข้าใจโดยเน้นเสริมความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาให้มากที่สุด เพราะการป้องกันดีกว่าการรักษา โดยรณรงค์ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เด็กเล็กที่ฟันเริ่มขึ้น ก็เพื่อจะนำไปสู่ผู้สูงอายุวัย 80 ปีที่จะมีฟัน 20 ซี่ได้ ซึ่งนอกจากการดูแลช่องปากทั้งการแปรงฟันให้ถูกวิธี ไปจนถึงอุปกรณ์เสริมอย่างไหมขัดฟันและแปรงซอกฟันแล้ว การมาตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้ฟันคงอยู่ไปนานๆ”
ขณะที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สิงห์บุรี 1 ใน 10 พื้นที่ต้นแบบ ที่ขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่”จนประสบผลสำเร็จ จาก 10 พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ แพร่, ลำพูน, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, นครปฐม, สิงห์บุรี, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี และ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.)
ทพญ.วังจันทร์ กิตติภาดากุล รอง สสจ. สิงห์บุรี กล่าวว่า จ.สิงห์บุรี เป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 20 เช่นที่ ต.พิกุลทองมีประชากรทั้งหมด 3,000 คน มีผู้สูงอายุมากถึง 600 คน จึงได้ขยายงานดูแลสุขภาพฟันด้วยการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสะดวกต่อการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพช่องปาก ส่งสริมให้กลุ่ม อสม. มีศักยภาพความสามารถ ความรู้ด้าน เป็นเครือข่ายทันตกรรม สามารถคัดกรองเก็บข้อมูลและส่งคืนข้อมูลได้อย่างเข้าถึง ตรงจุด ถูกต้องและรวดเร็ว และเป็นบัดดี้ดูแลไปตลอดการรักษา โดยขยายเครือข่ายบุคลากร เพื่อให้ อสม.เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม จำนวน 25 คน
“การทำให้ผู้สูงอายุ 80 ปี ให้มีฟันครบ 20 ซี่เป็นเรื่อง ที่ยากมาก เพราะเมื่อเจอกับการรักษาที่ยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายก็จะปล่อยปละละเลย หรือฟันโยกนิดหน่อยก็มักจะถอนออก โดยการดำเนินงานทั่วไปจะประสบปัญหาผู้สูงอายุไม่เข้ารับการรักษาและขาดความรู้ที่เพียงพอ”
นางงามจิต พระเนตร พยาบาลวิชาชีพ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี พิกุลทอง หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เสริมว่า การทำงานของ อสม. จะเริ่มตั้งแต่การสแกนพื้นที่เป้าหมาย ลงพื้นที่สำรวจด้วยกระบวนการคัดกรองผู้สูงวัยกับสุขภาพในช่องปาก ได้มากถึงร้อยละ 95 จากจำนวนผู้สูงอายุ 600 คนที่รับผิดชอบ จนได้กลุ่มสีเขียว ถือว่ามีสุขภาพในช่องปากที่ดี ร้อยละ 40 จำนวน 236 ราย กลุ่มสีเหลือง มีปัญหาฟันปลอมหลวม ซ่อมฟันปลอม รากฟันเทียม ร้อยละ 32.71 จำนวน 193 ราย และ กลุ่มสีแดง ร้อยละ 27.28 จำนวน 161 ราย คือกลุ่มที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ปริทันต์ ฟันโยก ฟันคลอน หรือบางรายเป็นฝีมาหลายเดือนไม่ได้รับการรักษา เราพบเคสก็พามารักษาจนหายกลับมาใช้ปากได้ปกติ
สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการสูญเสียฟัน ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน วัยผู้สูงอายุ รักษาความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ โดยแปรงฟันตามสูตร 222 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ 1,500 ppm ไม่ต้องบ้วนน้ำตาม หรือหากบ้วนน้ำให้ทำเพียงเล็กน้อย แปรงนานอย่างน้อย 2 นาที และไม่ทานอาหาร 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟัน รับประทานอาหารที่เหมาะสม เลี่ยงอาหารหวานเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปริทันต์ งดอาหารเหนียว แข็ง อย่างถั่ว กระดูกอ่อน
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การใช้ฟันผิดวิธี การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เคี้ยวหมาก เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำปีละ 1-2 ครั้ง และหมั่นบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า ลิ้น และนวดกระตุ้นต่อมน้ำลาย โดยการใช้นิ้วนวดที่บริเวณกระพุ้งแก้มและใต้กราม เพื่อให้กล้ามเนื้อใบหน้ามีความ แข็งแรงพอที่จะช่วยเสริมการบดเคี้ยวและการกลืนอาหาร โดยควรบริหารอย่างน้อยวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ : ฟันยังดี หรือ Line Official : @funyoungdee
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 14 เม.ย. 2567