“เดินทางดี” นโยบายผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” นำเทคโนโลยี ITMS ช่วยจัดการจราจรแก้รถติด เดินหน้าขยายเชื่อมโครงข่ายระบบควบคุมสัญญาณไฟ ACT ตั้งศูนย์ควบคุมฯจราจรและความปลอดภัย มุ่งสู่ Bangkok Smart City
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวถึงการบริหารจัดการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) ว่า จากปัญหาการจราจรในพื้นที่ 1,500 ตร.กม. ของกรุงเทพมหานคร ที่มีประชากร 15 ล้านคนอาศัยอยู่ด้วยความหนาแน่นสูงมาก ประกอบกับวิถีชีวิตชาวเมืองเปลี่ยนแปลงไปมีการใช้รถส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น หรือใช้ไรเดอร์สั่งอาหารออนไลน์ ทำให้มียานพาหนะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่มีถนนใช้สัญจรเท่าเดิม การจะขยายถนนรองรับเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด
การบริหารจัดการจราจรให้เดินทางดีปลอดภัยดี ของกรุงเทพมหานครเป็นนโยบายสำคัญของผู้ว่าฯกทม.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงทั้งในด้านโครงข่ายและการกวดขันวินัยจราจร ซี่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการจราจรให้เหมาะสมกับสภาพและปริมาณการจราจรที่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่นั้นๆ โดยได้นำระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ หรือ ITMS (Intelligent Traffic Management System) เข้ามาใช้จัดการจราจรในพื้นที่นำร่อง ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) มีภารกิจดำเนินการใน 2 ส่วน คือ การควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (Area Traffic Control : ATC) และการบังคับใช้กฎหมายจราจรอัตโนมัติ (Automation Traffic Enforcement: ATE)
ในส่วนการควบคุมสัญญาณไฟจราจรปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทางแยก 537 แห่งถูกควบคุมด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร 2 แบบคือ 1. แบบ Fix Time เป็นระบบที่กำหนดเวลาการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรไว้ล่วงหน้าแบบคงที่ จำนวน 466 แห่ง และ 2. แบบ Loop Detector ปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟอัตโนมัติแบบเก่า จำนวน 71 แห่ง
กรุงเทพมหานครได้มีความร่วมมือกับJICA (Japan International Cooperation Agency) ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ ATC (Area Traffic Control)โดยใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ คือAdaptive Signaling ที่สามารถปรับเปลี่ยนจังหวะเวลาสัญญาณไฟได้ตามสภาพการจราจรณ เวลานั้นๆ ได้นำร่องติดตั้งระบบ ATC ให้กับทางแยกในพื้นที่บนถนนพหลโยธิน ถนนประดิพัทธ์ ถนนพระรามที่ 6 และถนนราชวิถีจำนวน 13 ทางแยก ผลปรากฏว่า ความล่าช้าในการเดินทาง (Delay Time) ในชั่วโมงเร่งด่วน ลดลง 10% และนอกเวลาเร่งด่วน ลดลง30% ตามลำดับ ซึ่งได้ผลดี กทม. จึงมีแผนจะเพิ่มสัญญาณไฟจราจรแบบ Adaptive Signaling ในปีนี้อีก 72 ทางแยก ปีหน้าและปีต่อไปอีกปีละ 100 แห่ง เพิ่มความคล่องตัวของการจราจรดีขึ้น ซึ่งระบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการจราจรด้วย ITMS ที่มีไว้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจรและการบริหารจัดการจราจรครอบคลุมให้ทั่วกรุงเทพฯ
นายไทภัทร กล่าวอีกว่า นอกจากจะใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรในการบริหารจัดการจราจรแล้ว เรายังใช้ระบบกล้อง CCTV ในการบังคับใช้กฎหมายจราจรอัตโนมัติ (Automation Traffic Enforcement : ATE) โดยติดตั้ง AI กับกล้อง CCTV ให้สามารถตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และเครื่องหมายจราจรบริเวณทางแยก ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 22 ทางแยก และยังมีระบบกล้อง CCTV เสริมสร้างความปลอดภัยให้คนเดินข้ามในบริเวณทางแยก ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 20 แห่ง และมีแผนในการขยายจุดติดตั้งเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆไป
การนำระบบกล้อง CCTV มาช่วยในการบังคับใช้กฎหมายจราจร ไม่เพียงเฝ้าตรวจดูพฤติกรรมผู้ขับขี่บนถนนเท่านั้น แต่ได้มีการตรวจจับการฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้าด้วย ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 15 จุด สามารถตรวจจับได้มากกว่า62,000 รายการ ส่งให้สำนักเทศกิจและฝ่ายเทศกิจเขตออกหนังสือเรียกผู้กระทำผิดมาพบเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ.2535 เพื่อว่ากล่าวตักเตือนหรือจับปรับเพื่อลดพฤติกรรมการกระทำผิดในพื้นที่นั้นๆอย่างไรก็ดี การติด AI ให้กล้อง CCTV เป็นการลงทุนกับเทคโนโลยี จึงต้องทำพื้นที่นำร่องเพื่อทดสอบก่อนให้มั่นใจว่าใช้งานได้ผลจริงโดยทำแล้วที่ราชประสงค์โมเดลได้ผลดี จึงได้นำเสนอของบประมาณขยายไปพื้นที่อื่นๆ ให้ทั่วกทม.
ทั้งนี้ ระบบ ITMS จะเข้ามาช่วยจัดการจราจรของกรุงเทพฯ มากขึ้น ข้อมูลจราจรทุกทางแยกจะส่งมารวมที่ศูนย์ IOC (Intelligent Operation Control) เป็นการควบคุมการปฏิบัติการอัจฉริยะ ข้อมูลทุกอย่างจะส่งมารวมที่ศูนย์นี้ โดย สจส. ได้รับงบประมาณดำเนินโครงการติดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีจราจรและความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร (Command Center Room) ระยะที่ 1 ขึ้นที่ อาคารธานีนพรัตน์กทม.2 เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของระบบต่างๆของสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองรวมถึงสำนักสิ่งแวดล้อมในส่วนสภาพอากาศและสถานการณ์ฝุ่น มารวมไว้ เพื่อให้การบริหารจัดการจราจรเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงประโยชน์จะเกิดกับประชาชนในการใช้ข้อมูลเพื่อการเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย และให้ประชาชนได้ปรับตัวค่อยๆ เข้าสู่ Smart City ในอนาคต
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 15 เม.ย. 2567