Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567

กทม.เร่งตรวจสอบแก้ปัญหาคนเร่ร่อน-ขอทานในพื้นที่สาธารณะ พร้อมจัดบริการสวัสดิการสังคม-รณรงค์งดให้เงินขอทาน
 
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพคนเร่ร่อนบริเวณริมถนนพระรามที่ 1 หัวมุมแยกปทุมวัน พร้อมตั้งข้อสังเกตพบขอทานและคนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นในย่านปทุมวันว่า สำนักงานเขตปทุมวันได้ประสานสำนักเทศกิจ กทม.ตรวจสอบแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนและขอทานบริเวณริมถนนพระรามที่ 1 หัวมุมแยกปทุมวัน และบริเวณซอยหลังสวน ตลอดจนบริเวณตามแนวสถานีรถไฟฟ้า หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยกวดขันและผลักดันให้ออกจากที่สาธารณะ พร้อมทั้งเก็บประวัติข้อมูล กรณีเป็นคนไทย จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสม หากเป็นชาวต่างชาติจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจัดทำประวัติและประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันส่งกลับประเทศต่อไป

      ขณะเดียวกันได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราและเพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่เขตปทุมวันและประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการอาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ รวมถึงตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางสัญจร โดยบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้กลุ่มคนเร่ร่อนและขอทานกลับมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นบุคคลเร่ร่อน หรือไร้ที่พึ่งในพื้นที่สาธารณะ สามารถแจ้งปัญหาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือต่อไป
       
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวว่า สพส.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขบัญหาขอทานและคนเร่ร่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดบริการสวัสดิการสังคม (Drop In) สำหรับคนไร้บ้าน 2 แห่ง บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและตรอกสาเก เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ บริการตรวจสุขภาพ บริการรถทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่ บริการห้องสุขา บริการซัก อบ อาบจากมูลนิธิกระจกเงา ฯลฯ ซึ่ง สพส.ได้จัดทำฐานข้อมูลคนไร้บ้านของ กทม. โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล เพื่อจำแนกประเภทปัญหาและความต้องการของคนไร้บ้านที่ประสงค์รับการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดระเบียบคนเร่ร่อนและผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่เป็นผู้ทำการขอทานคนไทยและคนต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในพื้นที่ที่มีผู้ทำการขอทานและบริเวณเขตปทุมวันและพื้นที่ใกล้เคียงอื่น เช่น บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS บริเวณสี่แยกถนนในเขตปทุมวัน พร้อมทั้งสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ การทำความเข้าใจกับผู้ที่เข้ามาพักอาศัยหลับนอนหรือใช้พื้นที่สาธารณะ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติงดให้เงินแก่คนขอทานตามแนวสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่สาธารณะของ กทม.

        นอกจากนั้น ได้มีหนังสือสั่งการไปยังฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขต 50 เขต ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นหน่วยบูรณาการ สนับสนุน อำนวยความสะดวก ประสานงาน และดำเนินการในพื้นที่เขต ตามอำนาจหน้าที่ กรณีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา หรือสร้างความไม่สะอาดในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ โดยสำนักงานเขตจะสำรวจผู้ทำการขอทานในพื้นที่และรายงานผลผ่าน Google Forms โดยสแกน QR Code ให้ สพส.ทราบทุกวันจันทร์ เพื่อลงพื้นที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
      อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กทม.ได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนและผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นบริเวณพื้นที่ปทุมวัน ถนนพระรามที่ 1 ซอยหลังสวน และพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ โดยในปี 2567 กทม.มีนโยบายเปิดบริการ “บ้านอิ่มใจ” ในรูปแบบ Emergency Shelters เพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราวและจัดบริการสวัสดิการสังคมสำหรับคนไร้บ้าน ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยลดจำนวนคนเร่ร่อนและผู้ทำการขอทาน รวมถึงพัฒนาพื้นที่สาธารณะของ กทม.ให้มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น

 

 

 

กทม.เดินหน้าปรับปรุงจุดเสี่ยงไปแล้ว 47 จุด เพิ่มประสิทธิภาพกล้อง CCTV ป้องกัน-ลดอุบัติเหตุจราจร
 
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สจส.ได้สำรวจและตรวจสอบจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) โดยใช้ข้อมูลดังกล่าวพิจารณาจัดลำดับจุดที่มีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและพิจารณาตรวจสอบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและได้เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านช่องทาง https://opendata.data.go.th/ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เสนอแนะให้ กทม. ตรวจสอบปรับปรุงบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงได้ด้วย โดยในปี 2567 สจส.ได้เร่งปรับปรุง เพื่อลดความเสี่ยงเป็นลำดับแรกก่อนจำนวน 125 จุด ปัจจุบันได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จแล้ว 47 จุด เช่น การปรับปรุงกายภาพพื้นที่ การเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง การติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย ปรับปรุง หรือจัดทำเครื่องหมายจราจร การติดตั้งสัญญาณไฟจราจร การประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันวินัยจราจร เป็นต้น ส่วนกรณีหมุดสะท้อนแสงที่ชำรุดและหลุด สจส.จะเร่งรื้อถอนและติดตั้งเทปจราจรสะท้อนแสงทดแทนต่อไป


      นอกจากนั้น ยังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เฝ้าระวังจุดเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คัดเลือกจุดมาจากเรื่องร้องเรียนของประชาชนในระบบ Traffy Fondue หรือจากสำนักงานเขต สำนักเทศกิจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เป็นต้น และในปี 2568 สจส.ได้ขอจัดสรรงบประมาณติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อเฝ้าระวังอาชญากรรมทั่วบริเวณชุมชน โดยนำเทคโนโลยีระบบ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกล้อง CCTV อาทิ การทดลองติดตั้งระบบตรวจจับการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า การส่งภาพถ่ายพร้อมทะเบียนรถของผู้กระทำผิดให้สำนักเทศกิจ เพื่อค้นหาผู้ครอบครองรถ เพื่อดำเนินการจับปรับตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พร้อมทั้งตรวจสอบบำรุงรักษากล้อง CCTV ระบบการเชื่อมต่อสัญญาณให้พร้อมใช้งาน 24 ชั่วโมง รวมถึงปรับมุมกล้อง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับการประมวลผลของระบบ AI เพื่อเฝ้าระวังและเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200