กทม.เดินหน้าทำหมันลิงแสมในเขตบางขุนเทียน วางแผนจัดพื้นที่ Zoning ที่เหมาะสมให้ลิง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการแก้ไขปัญหาลิงแสมในพื้นที่เขตบางขุนเทียน โดยรับลิงไปทำหมันและปล่อยกลับที่เดิมไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนว่า การทำหมันเป็นการลดอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรลิงที่ได้รับการยอมรับตามหลักสากล ประชากรลิงจะลดลงตามอายุขัยในที่สุด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาจึงจะเห็นผล อีกทั้งเมื่อประชากรลิงลดลง การรุกล้ำพื้นที่ที่ประชาชนอาศัย จะลดน้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตบางขุนเทียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อควบคุมประชากรลิง ด้วยการผ่าตัดทำหมัน ซึ่งจากการสำรวจประชากรลิงในพื้นที่เขตบางขุนเทียน มีประมาณ 550 ตัว ทำหมันแล้ว 3 ครั้ง รวม 283 ตัว
ส่วนการแยกลิงออกจากบริเวณที่มีบ้านเรือน กทม.ได้จัดหาที่ดิน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและอนุรักษ์ฝูงลิงแสม เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการปัญหาลิงเขตบางขุนเทียน โดยจัดการประชุมและวางแผน เพื่อจัดรูปแบบ Zoning ที่เหมาะสมให้กับลิงในเขตบางขุนเทียน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เสนอแนะรูปแบบจังหวัดเพชรบุรี รูปแบบกรงขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นได้จัดสถานที่ให้อาหารลิงที่ห่างออกไปจากชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหาร Hungry Monkey ช่วยสนับสนุนพื้นที่และอาหารร่วมกับสำนักงานเขตบางขุนเทียน จัดหาอาหารให้บางส่วน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนจากลิงเข้าไปหาอาหารและทำลายข้าวของประชาชน ส่วนในระยะยาวอยู่ระหว่างการหารือกับทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ ยังได้รณรงค์ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับลิงแสมที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว
กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ-เครื่องจักรกล-หน่วย BEST รองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนน.ได้จัดเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำของ กทม. เช่น อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และบ่อสูบน้ำที่ระบายน้ำช่วยในท่อ 357 แห่ง ขณะเดียวกันได้ลดระดับน้ำในแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (หน่วย BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก พร้อมตรวจสอบเร่งระบายน้ำตามจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง และบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ รวมถึงให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อให้ไหลได้สะดวกรวดเร็ว จัดเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำเครื่องผลักดันน้ำ การจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม นอกจากนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติงานภายในศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังสภาพอากาศตามการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และตรวจสอบติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม.
นอกจากนี้ หน่วยงานของ กทม.และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ยังเฝ้าระวังและติดตามรายงานสภาวะอากาศจากศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม พร้อมทั้งตรวจสอบจุดก่อสร้างที่จะมีผลกระทบกับการระบายน้ำ พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ระบบไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ และบุคลากร เพื่อเข้าพื้นที่ได้ทันที เตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ตรวจอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเตรียมรถดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัย เครื่องมือ และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย และจัดเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุลมกระโชกแรงและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ จัดรถสายตรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือประชาชนจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังและจัดเตรียมกำลังคน เครื่องมือ ออกปฏิบัติการแก้ไขเหตุต้นไม้หักโค่นล้มกีดขวางถนนและการจราจร หรือกระทบต่อบ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน และให้สำนักงานเขตจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย Best) และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยเหลือประชาชนอำนวยความสะดวกด้านการจราจร หากเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และเมื่อมีเหตุต้นไม้หักโค่น ป้ายโฆษณาล้ม ให้ดำเนินการแก้ไขทันที
สำหรับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนน.ได้ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน.ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.ต่อไป อีกทั้งยังได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนและอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุ เพื่อขอรับความช่วยเหลือหากประสบเหตุสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจากพายุฤดูร้อนผ่านเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th/, https://pr-bangkok.com/, Facebook:@BKK.BEST และ X(Twitter):@BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue
กทม.เร่งแก้ปัญหาคนเร่ร่อน-เพิ่มถังขยะบริเวณสวนลุมพินี
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณสวนลุมพินีว่า สสล. โดยสวนลุมพินี ได้ประสานสำนักงานเขตปทุมวัน เพื่อลงพื้นที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนใช้พื้นที่ด้านหน้าสวนลุมพินีเป็นที่พักอาศัยหลับนอน และการทิ้งขยะไม่เป็นที่บริเวณด้านหน้าประตูสวนสาธารณะ ขณะเดียวกันได้มีมาตรการตรวจสอบผู้ใช้บริการสวนลุมพินี ระหว่างเวลา 04.30 – 22.00 น. ให้ปฏิบัติตามระเบียบสวนฯ อย่างเคร่งครัด ห้ามนำอาวุธ และสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในสวนฯ รวมทั้งตรวจค้นบุคคลต้องสงสัยเป็นประจำ สำหรับบุคคลเร่ร่อนได้ประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ตรวจสอบและเชิญไปฝึกอาชีพตามความสมัครใจอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันสวนลุมพินีได้ประสานสำนักงานเขตปทุมวันพิจารณาเพิ่มถังรองรับมูลฝอยแบบแยกประเภทให้เพียงพอกับความต้องการและตั้งวางให้เหมาะสมกับสถานที่ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการสวนสาธารณะทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าวให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สำหรับพื้นที่สวนหย่อมด้านข้างตลาด สวนลุมพินีได้ดูแลและปรับปรุงให้มีความสวยงาม ทั้งนี้ สสล.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันดูแลพื้นที่โดยรอบสวนลุมพินีอย่างต่อเนื่อง
กทม.เสริมความรู้ผู้ปฏิบัติงานควบคุม-ตรวจสอบอาคาร เตรียมติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนอาคารในสังกัด
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความปลอดภัยและการควบคุมดูแลอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา สนย.ได้ประสานหน่วยงานในการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานควบคุมและตรวจสอบอาคารอย่างสม่ำเสมอ โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ย.66 สนย.ร่วมกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (สวคท.) จัดสัมมนา “การออกแบบและเสริมกำลังอาคารต้านแผ่นดินไหว” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการออกแบบอาคาร การเสริมกำลังอาคาร รวมถึงการเสริมกำลังสะพานต้านแผ่นดินไหวให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปฏิบัติงานตรวจสอบ ควบคุมอาคารให้มีความถูกต้องและประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลอาคารที่ออกแบบตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว พบว่า อาคารตามกฎกระทรวงแผ่นไหว ปี 2550 (ปี 2551- 2564) จำนวน 2,887 อาคาร อาคารตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว ปี 2564 (ปี 2565-2566) จำนวน 259 อาคาร รวม 3,146 อาคาร และอาคารก่อนกฎกระทรวงแผ่นดินไหว (ปี 2531-2550) จำนวน 11,482 อาคาร (อาคารตั้งแต่ 6 ชั้นขึ้นไป)
นอกจากนี้ สนย.ได้จัดทำโครงการงานจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัด กทม. โดยจะดำเนินการติดตั้งชุดเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำรายงานประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวของอาคารสูงในสังกัด กทม. ตามกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 และจัดทำรายงานการตรวจวัดระดับการสั่นสะเทือนของพื้นอาคารสูงในสังกัด กทม. ในรูปแบบของความเร่งและแสดงค่าระดับความเร่งของพื้นแต่ละทิศทาง รวมถึงระบบแสดงค่าความเร่งสูงสุดของพื้นในแต่ละช่วงเวลาในรูปแบบของระบบออนไลน์ โดยระบบสามารถแจ้งเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทันที กำหนดสถานที่ดำเนินการ ได้แก่ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง อาคาร 72 พรรษา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ อาคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลตากสิน อาคารธนบุรีศรีมหาสมุทร โรงพยาบาลตากสิน อาคารเพชรรัตน์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และอาคารคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการขออนุมัติจัดสรรงบประมาณ คาดว่า จะได้รับงบประมาณภายในเดือน พ.ค.67 และเริ่มกระบวนการจัดจ้างได้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้
กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง-ป้องกันกากแร่แคดเมียมรั่วไหลที่ จ.สมุทรสาคร
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุป้องกันกากแร่แคดเมียมรั่วไหล เพื่อป้องกันเหตุอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตใกล้เคียง จ.สมุทรสาคร ว่า สปภ.ได้เตรียมความพร้อมทีมปฏิบัติการตอบโต้เหตุสารเคมีและวัตถุอันตราย รวมทั้งยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าระงับเหตุ อาทิ ชุดป้องกันสารเคมี เครื่องช่วยหายใจ (SCBA) เครื่องมือตรวจวัดชนิดของสารเคมี อุปกรณ์การตรวจสอบและการเฝ้าระวังพื้นที่ชนิดเคลื่อนที่ได้ ชุดทดสอบสารเคมีเบื้องต้น (Hazmat kit) น้ำยาโฟมดับเพลิง เป็นต้น เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันเหตุอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตใกล้เคียง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้แก่ เขตหนองแขม เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน รวมทั้งพร้อมสนับสนุนทีมปฏิบัติการตอบโต้เหตุสารเคมีและวัตถุอันตรายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อ หรือใกล้เคียงเมื่อได้รับการร้องขอ นอกจากนั้น จะได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ตรวจสอบโรงงาน หรือสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผลิต เก็บ ครอบครอง หรือมีการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเหตุเกี่ยวกับสารเคมีหรือวัตถุอันตราย สามารถแจ้งผ่านโทรศัพท์สายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง