Search
Close this search box.
เสนอแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังสปสช.ปรับโมเดลให้บริการใหม่

 

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (3 เม.ย.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาของประชาชนในการเข้ารับบริการของหน่วยปฐมภูมิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร

เนื่องจากวันที่ 1 มี.ค.67 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลหรือรูปแบบการให้บริการ ทำให้ประชาชนและการให้บริการสาธารณสุขประสบปัญหาในการรักษา ประชาชนได้รับความทุกข์ยากในการส่งตัว ถูกปฏิเสธสิทธิ์ โมเดล 5+2 ที่นำมาใช้หลังจาก 1 มี.ค. รูปแบบใหม่ทำให้ประชาชนถูกย้ายสิทธิ์โดยที่ไม่รู้ตัว และต้องเสียเวลาในการเดินทางไปรักษาพยาบาล ในขณะที่คลินิกไม่อยากรับการส่งตัวเพราะจะมีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ทางแก้หลัก ผู้ว่าฯ ในฐานะคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ควรดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้ตั้งกองทุนส่งตัวสำหรับประชากรในกรุงเทพฯ โดยคำนวณจากประชากรแฝงด้วย 2.ปรับรายการบริการและอัตราจ่ายแบบ Fee Schedule ของคลินิกร่วมปฐมภูมิ ให้ใกล้เคียงกับคลินิกปฐมภูมิต่างจังหวัด

จากนั้น นายนริสสร แสงแก้ว สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางเขน ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.อยู่ภายใต้สปสช. การปฏิบัติจึงต้องอยู่ภายใต้แนวทางของสปสช. ขอชี้แจงว่าศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ไม่ได้ไล่คนไข้ เราใช้คำว่าชี้แจงตามแนวปฏิบัติของสปสช. หากเข้ามาเราจะรักษาให้และreferให้ แต่เข้าใจว่าสปสช.มีปัญหาการเงิน จึงเปลี่ยนโมเดลใหม่ จึงเป็นที่มาที่ไปว่าใบส่งตัวเดิมใช้ไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่คลินิกปฐมภูมิของคนไข้ และจะไม่มีผู้กลับไปจ่ายเงินให้ กทม.ยินดีที่จะนำปัญหาไปเสนอสปสช. เพราะมีหลายฝ่ายที่ต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วการย้ายสิทธิ์ของผู้ป่วยทำไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่ยินยอม การย้ายสิทธิ์ต้องถามประชาชนก่อน
ที่ผ่านมาคือก่อนวันที่ 1 มี.ค. ศบส.ที่รับผู้ป่วยจะเป็นผู้ออกใบส่งตัวแทนคลินิกอบอุ่นให้ ทำให้คนไข้ที่ไม่เคยไปคลินิกอบอุ่นเลยอาจจะเข้าใจว่าใบส่งตัวของตนเองอยู่ที่ศบส. เมื่อมาถึงวันที่ 1 มี.ค.และต้องไปรพ. ทางรพ.จะไม่รับใบส่งตัวนี้ ทำให้ต้องกลับมาที่ศบส. และต้องให้ประชาชนกลับไปยังคลินิกอบอุ่นต้นทางจริง ๆ เพื่อขอใบส่งตัวตามหลักของสปสช. กรณีที่ประชาชนอยากเปลี่ยนสิทธิ์ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเช็คสิทธิ์หรือเปลี่ยนสิทธิ์ได้ที่ สายด่วนสปสช. โทร . 1330 หรือศูนย์บริการของโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยกรณีการเปลี่ยนสิทธิ์ ประชาชนผู้ที่มีภูมิลำเนาอื่น ท่านผู้ว่าฯได้ให้เราตอบรับทั้งหมด ซึ่งในกทม.มีผู้ที่มีภูมิลำเนาอื่นประมาณ 2 ล้านคน ขณะนี้คลินิกปฐมภูมิดูแลประชาชน 1.9 ล้านคน ศบส.ดูแลประชาชน 9 แสนคน โดยขณะนี้สปสช.ได้ออกแนวทางให้คลินิกปฐมภูมิออกใบส่งตัวให้อย่างน้อย 90 วัน เนื่องจากบางโรคที่ซับซ้อน ต้องมีการปรับยาและเงื่อนไข จึงไม่สามารถให้ระยะยาวได้ เมื่อใบส่งตัวหมดอายุต้องขอให้กลับไปที่หน่วยปฐมภูมิเดิมเพื่อขอใบส่งตัวใหม่ก่อน ทั้งหมดนี้กทม.ได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอด โดยขณะนี้หากประชาชนมารับบริการที่สถานพยาบาลของกทม. เราจะรับรักษาให้แต่หากใบส่งตัวหมดอายุขอให้ทำตามแนวทางที่สปสช.กำหนดคือการกลับไปที่หน่วยปฐมภูมิที่แท้จริง เพื่อออกใบส่งตัวใหม่
—————–

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200