นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการประชุมหารือเรื่องกฎหมายเพื่อกำหนดเส้นทางจักรยานและจักรยานไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยที่ประชุมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางจักรยาน สิทธิการใช้จักรยานบนถนน และสิทธิการใช้จักรยานบนทางเท้า ซึ่งจากข้อมูลสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.)พบว่า เส้นทางปั่นจักรยานของแต่ละเขต ในระยะทาง 10 กม.นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีรูปแบบการใช้งานร่วมกับรถยนต์และคนเดินเท้าซึ่ง กทม.ได้ลดขนาดช่องจราจรลงและตีเส้นกำหนดทางเท้าชั่วคราวเพื่อเพิ่มทางเลือกในการสัญจรแก่ประชาชน นำร่องแล้ว 7 เส้นทาง ได้แก่ ถนนตะนาว ถนนดินสอ ถนนมหรรณพ ถนนบำรุงเมืองซอยสำราญราษฎร์ ถนนราชบพิตร ถนนเฟื่องนคร
นายศานนท์กล่าวว่า ในทางปฏิบัติพบปัญหาการจอดรถไม่เป็นระเบียบ ทางเท้าแคบหลายย่านยังจำเป็นต้องมีจุดจอดรถริมถนน และต้องมีการสัญจรทางเท้าควบคู่ไปด้วย เช่น ถนนมหรรณพแหล่งพาณิชยกรรม มีร้านอาหารจำนวนมาก หรือถนนราชบพิตรเป็นย่านที่มีโรงเรียนและตลาดตรอกหม้อ มักมีการตั้งสิ่งกีดขวางทางเท้า จึงต้องมีการตีเส้นกำหนดจุดจอดและทางเท้าเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีนักเรียนและประชาชนเดินเท้าจำนวนมากรวมถึงมีการกำหนดจุดห้ามจอด เช่น ช่วงถนนราชบพิตรเข้าถนนเฟื่องนคร ถนนบางช่วงแคบ ไม่มีทางเดินเท้า กทม.จึงยกเลิกจุดจอดเดิม เพื่อใช้เป็นทางเท้าทดแทน เป็นต้น
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ดังนั้นจากนี้ต้องมาศึกษาว่าเส้นทางใดบ้างที่มีการประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรไปแล้วแต่กลับไม่มีความเหมาะสมในการใช้งาน จะพิจารณายกเลิก ขณะเดียวกัน สจส.ต้องประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)ก่อนเพื่อพิจารณาว่าเส้นทางใดที่จะประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรเพื่อทำให้เส้นทางจักรยานนั้นปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานโดยต้องดำเนินการควบคู่กันไประหว่างกฎหมายกับการปรับปรุงกายภาพทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สจส.ไปประสานกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในการกำหนดเส้นทางจักรยานในเขตพื้นที่รับผิดชอบก่อนเสนอ ตร.พิจารณาเพื่อให้การเกิดเส้นทางจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับคนกรุงเทพฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม กทม.จะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปั่นจักรยานมากขึ้นและต้องทำการสื่อสารไปยังผู้ขับขี่บนท้องถนนให้ทราบด้วยว่าสามารถใช้เส้นทางร่วมกันได้เพื่อเพิ่มความระมัดระวังการใช้ถนนร่วมกัน.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1 เม.ย. 2567