คชก.กทม.พร้อมพิจารณาข้อห่วงกังวลการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยโรงหนังกรุงสยาม
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนที่พักอาศัยบริเวณโรงภาพยนตร์กรุงสยาม เขตบางเขน รวมกลุ่มคัดค้านกลุ่มทุนซื้อที่ดินภาระจำยอม เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมเนื่องจากเกรงจะได้รับความเดือดร้อนเรื่องทางสัญจร ทางหนีไฟ และพื้นที่จอดรถว่า จากการตรวจสอบโครงการอาคารคอนโดมิเนียมขนาด ๒๙๐ ห้อง บริเวณที่ดินข้างโรงภาพยนตร์กรุงสยาม ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน ยังไม่พบว่า ผู้พัฒนาโครงการได้ยื่นเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่อย่างใด จึงยังไม่มีข้อมูลและรายละเอียดของรายงาน EIA เนื่องจากโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) จึงยังไม่ได้รับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๕๐ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ทั้งนี้ หากโครงการนำเสนอรายงาน EIA เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ คชก.กทม.แล้ว จะนำข้อห่วงกังวลดังกล่าวเสนอต่อ คชก.กทม.เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป และจะเปิดโอกาสให้ผู้ห่วงกังวลเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลต่อ คชก.กทม.ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ผู้ห่วงกังวลสามารถเข้าร่วมการประชุมชี้แจงตามที่โครงการจัดให้มีได้ โดยร่วมแสดงความคิดเห็น หรือข้อห่วงกังวลที่มีต่อการพัฒนาโครงการ เพื่อให้โครงการนำความคิดเห็น หรือข้อห่วงกังวลไปกำหนดเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับแนวทางการพิจารณารายงาน EIA คชก.กทม.ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ จะพิจารณารายงาน EIA บนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิชาการ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอาจใช้ดุลยพินิจทางวิชาการพิจารณาประกอบด้วย ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณารายงานดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับ การให้โครงการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้อย่างครอบคลุม หากมีการร้องเรียนจะต้องดำเนินการตามผังแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยมาตรการต่าง ๆ ในรายงานโครงการจะถูกกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้าง หรือรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร ซึ่งโครงการจะต้องถือปฏิบัติ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานฯ จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคาร
ส่วนการติดตามตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามมาตรการในรายงานฯ มีทั้งการติดตามตรวจสอบโดยหน่วยงานที่อนุญาต ได้แก่ สำนักการโยธา และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ นอกจากนี้ เจ้าของโครงการจะต้องจัดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการในการรายงานฯ ให้ กทม.เพื่อส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีละ ๒ ครั้งด้วย
กทม.สนับสนุนค่าอาหารกลางวันตามมติ ครม.ตรวจสอบคุณภาพอาหารผ่านระบบ Thai School Lunch for BMA
นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการด้านการสนับสนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนในสังกัด กทม.หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ว่า กรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ระดับชั้นเด็กเล็ก-ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียนตามมติ ครม. และจัดสรรงบประมาณ กทม.สมทบเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก-ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดังนี้ (1) โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล 36 บาท/คน/วัน (2) โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล 27 บาท/คน/วัน (3) โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล 24 บาท/คน/วัน กทม.สมทบ 1 บาท/คน/วัน รวมเป็นเงิน 25 บาท/คน/วัน (4) โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล 22 บาท/คน/วัน กทม. สมทบ 3 บาท/คน/วัน รวมเป็นเงิน 25 บาท/คน/วัน (5) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จัดสรรงบประมาณ กทม. 25 บาท/คน/วัน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กทม.เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เงินอุดหนุนรัฐบาล เพื่อเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาสังกัด กทม.จำนวน 109 โรงเรียน ตามอัตราขนาดโรงเรียน จำนวน 40,867 คน ๆ ละ 22 บาท จำนวน 200 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 179,814,800 บาท
นอกจากนี้ กทม.ยังมีมาตรการกำกับดูแล ติดตาม และควบคุมตรวจสอบคุณภาพอาหารเช้า/อาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน กทม.ได้ใช้ระบบ Thai School Lunch For BMA จัดรายการอาหารเช้าและอาหารกลางวันให้กับนักเรียนทุกวันที่มีการเรียนการสอน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารอย่างมีคุณภาพ และถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดย สนศ.ร่วมกับ NECTEC พัฒนาระบบ tsl for bma and for catering ให้มีการส่งมอบวัตถุดิบและอาหารปรุงสุกเรียบร้อยแล้วด้วยภาพถ่ายและสามารถใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ
ดำเนินการได้ผ่านระบบ tsl รวมถึงการตรวจรับรายการอาหารในแต่ละมื้อ/วัน ในระบบ tsl และผู้ประกอบการสามารถพิมพ์ใบส่งของและใบแจ้งหนี้ให้กับโรงเรียน เพื่อเบิกจ่ายเงินเมื่อคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างตรวจรับในระบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป้าหมายใช้ระบบดังกล่าวครบถ้วน 437 โรงเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ สำนักงานเขต สำนักอนามัย หรือโรงเรียน ยังได้สุ่มตรวจตัวอย่างอาหารโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนและเชื้อโรคในอาหาร รวมทั้งตรวจประเมินสถานที่ปรุงอาหารให้ถูกสุขอนามัย จัดให้มีการประเมินคุณภาพอาหารตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของนักเรียน อีกทั้ง สนศ.ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการการจัดการอาหาร/อาหารเสริม (นม) ในโรงเรียนสังกัด กทม. คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับ ควบคุม และให้ข้อแนะนำ แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับสำนัก กำหนดนโยบาย อำนวยการ กำกับ ดูแล ควบคุมการดำเนินการด้านอาหาร ระดับสำนักงานเขต ตรวจสอบ ติดตามประเมินผล ตามระบบ tsl for bma และรายงานผลให้ สนศ.ภาคเรียนละ 1 ครั้ง และระดับโรงเรียน ควบคุมการจัดอาหารตามแนวทางการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา ตามระบบ tsl และตรวจวัตถุดิบ ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (test kit) เดือนละ 2 ครั้ง และรายงานผลให้สำนักงานเขต เดือนละ 1 ครั้ง ประชาชนทั่วไปสามารถดูรายการอาหารเช้าและอาหารกลางวันของโรงเรียนสังกัด กทม. 437 โรงเรียน จากเว็บไซต์ https://bma.thaischoollunch.in.th/ โดยคลิกมุมบนขวา Photo (รูปกล้อง)
เขตบางกอกใหญ่แจงแนวทาง-ขั้นตอนรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน
นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการรับเรื่องร้องเรียนของสำนักงานเขตบางกอกใหญ่บางส่วนล่าช้าว่า สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ มีแนวทางและขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน โดยมีจุดบริการการรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงผ่านเจ้าหน้าที่ประสานงานบริการประชาชน (ฝ่ายปกครอง) หากมีการร้องเรียนโดยประชาชนมาด้วยตนเอง ฝ่ายปกครองจะลงรับหนังสือ ซึ่งมีเลขรับเรื่องให้ประชาชนไว้ติดตามเรื่องต่อไป และเอกสารได้รับมานั้น ฝ่ายปกครองจะส่งเรื่องไปฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้บังคับบัญชาสั่งการ หากเรื่องไปถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จะส่งเรื่องให้กับผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป
ส่วนกรณีประชาชนระบุว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้ไปร้องเรียนกับผู้อำนวยการเขตโดยตรงและจะได้รับการแก้ไขที่รวดเร็วนั้น ประชาชนอาจไม่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการรับเรื่องโดยตรง ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ไม่มีความรู้ในการรับเรื่องร้องเรียน ทำให้ได้ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนไม่ได้ทำเป็นเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ประสานงานบริการประชาชน (ฝ่ายปกครอง) จึงทำให้เรื่องร้องเรียนตกหล่นได้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ ระบบ Traffy Fondue เพจเฟซบุ๊กสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ และจดหมาย ที่อยู่ 1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ 10600 หรือ e-mail [email protected] โทรศัพท์ 0 2457 0069 ต่อ 5705-5707 (ฝ่ายปกครอง) หรือประชาชนมาด้วยตนเอง หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว จะตอบกลับประชาชนทันทีผ่านช่องทางที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา โดยสำนักงานเขตฯ มิได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแต่อย่างใด ทั้งนี้ จะเร่งรัดการทำงานให้มีความรวดเร็วมากขึ้นต่อไป