Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567

กทม.เข้มป้องกัน-ตรวจสอบการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา กำชับ 7 มาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่ 


นายธนกร  ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวว่า จากกรณีสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ระบุผลการเฝ้าระวังการจัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต พบร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า (ประเภทมีหน้าร้านถาวร) มากถึง 70 ร้าน นั้น ที่ผ่านมา สนศ.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันและตรวจสอบการจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากุ บารากุไฟฟ้า หรือตัวยาบารากุ น้ำยาสำหรับเติมบารากุไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโดยรอบสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเด็กนักเรียนและประชาชน ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในและนอกสังกัด กทม.จัดทำโครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยา หรือสารเสพติดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กัญชง และกระท่อม นอกจากนี้ ยังมีหนังสือแจ้งเรื่องการตรวจตราจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ โดยให้สำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องป้องกันการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณรอบโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนสอดส่องดูแลไม่ให้เยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยา หรือสารเสพติดทุกรูปแบบ

นอกจากนั้น สนศ.ได้กำชับโรงเรียนในสังกัด กทม.ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาภายใต้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) ประกาศนโยบาย “โรงเรียน…ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงเรียน 2) จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น 3) จัดให้มีการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและการทำบ้านให้ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าแก่ผู้ปกครอง 4) ให้ดำเนินงานตาม 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้ง สนศ.อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชากัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขของโรงเรียนในสังกัด กทม. 


สำหรับแนวทางส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติดทุกประเภทให้แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. สนศ.ได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตาม 7 มาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างเคร่งครัดและให้โรงเรียนรายงานผลให้ สนศ.ทราบทุกปีการศึกษา พร้อมนำเข้าข้อมูลอัตราการใช้ยาหรือสารเสพติดของนักเรียนผ่านทางระบบดูแลและติดตามการใช้ยาและสารเสพติดในสถานศึกษา (CATAS System : Care And Trace Addiction in School System) อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) ให้มีการกำหนดนโยบาย “โรงเรียน…ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” ของโรงเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร และถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 2) ให้มีการบริหารจัดการภายในโรงเรียนให้ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยจัดตั้งคณะทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่และกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน 3) ให้มีการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 4) ให้มีการสอดแทรกความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าและผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตรแก่นักเรียนทุกระดับชั้น 5) ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมประกวดสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ในช่องทางที่หลากหลาย 6) ให้มีกระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการคัดกรอง ป้องกัน นักเรียนให้คำปรึกษา กรณีพบนักเรียนติดบุหรี่ไฟฟ้าให้มีการส่งต่อนักเรียนเข้าสู่ระบบบริการเลิกบุหรี่ตามความเหมาะสม และ 7) ให้มีการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักเรื่องโทษและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน

นายสุนทร  สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ สนอ.ได้จัดประชุมชี้แจงนโยบายและแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคจากปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อมในเขตกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.67 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ความรู้ความเข้าใจของการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพิ่มเติมของ กทม. เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการยึด อายัดบุหรี่ไฟฟ้า และส่งดำเนินคดีในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน นอกจากนั้น สนอ.ยังได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานตาม 7 มาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ตามโครงการ กทม.เขตปลอดบุหรี่ เพื่อส่งเสริมป้องกันเด็กและเยาวชน ไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของสถานศึกษาสังกัด กทม. จำนวน 437 โรงเรียน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยและสำนักงานเขต 50 เขต สำรวจสถานที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลการเฝ้าระวังและดำเนินการตามกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ สนอ.ได้จัดทำประกาศคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กทม. เรื่อง แนวทางปฏิบัติเพื่อการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนาม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 ก.พ.67 โดยมุ่งเน้นให้ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ 1) การสร้างความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ โทษ และพิษภัยของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กและเยาวชน 2) การสร้างพื้นที่ปลอดภัยรอบสถานศึกษาเพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3) การควบคุมสถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ เป็นเขตปลอดบุหรี่และปลอดบุหรี่ไฟฟ้า 4) การบังคับใช้กฎหมาย 5) การบำบัดรักษาผู้สูบบุหรี่ และสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 6) การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

 

 

กทม.เดินหน้าแก้หนี้นอกระบบต่อเนื่อง เตรียมจัด “มหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ ครั้งที่ 2”

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในกรุงเทพฯ ว่า กทม.เตรียมจัดกิจกรรม “มหกรรมตลาดนัดแก้หนี้กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2” เพื่อให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมถึงธนาคารได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันและเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในระยะยาว โดยที่ผ่านมา สพส.ได้มอบหมายให้สำนักงานเขต 50 เขต ประชาสัมพันธ์วิธีการและขั้นตอนการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตลอดจนรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 – 29 ก.พ.67 ปรากฏว่า มีผู้ลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ 10,609 ราย เจ้าหนี้ 9,489 ราย มูลหนี้ 1,126,332,690.50 บาท

ส่วนการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท สำนักงานเขตได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบระดับเขต เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบระดับเขต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในภาพรวมทั้ง 50 เขต ผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 18 มี.ค.67 มีลูกหนี้ที่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 229 ราย มีเจ้าหนี้ที่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 114 ราย มีข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 117 ข้อพิพาท มีข้อพิพาทที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 105 ข้อพิพาท มีมูลหนี้เดิม (สุทธิก่อนการไกล่เกลี่ย) 12,275,612 บาท มีมูลหนี้ใหม่ (สุทธิหลังจากการไกล่เกลี่ย) 7,919,000 บาท และมีมูลหนี้ลดลง 4,356,612 บาท

ทั้งนี้ สพส.ได้ประสานสำนักงานเขตให้เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งการติดตามข้อมูลจากการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบถ้วน การติดตามให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยให้ได้ร้อยละ 100 ของการลงทะเบียนที่มีข้อมูลเจ้าหนี้และลูกหนี้ครบถ้วนและสามารถติดต่อได้ รวมถึงดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการส่งข้อมูลต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาญา เช่น การข่มขู่ใช้ความรุนแรง โดยประสานความร่วมมือกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการมีปัญหาอุปสรรคบางประการ เช่น ไม่สามารถตามเจ้าหนี้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยได้และลูกหนี้ลงข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่ง กทม.ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทั้งการส่งจดหมายถึงลูกหนี้ เจ้าหนี้ จำนวน 2 ครั้ง การส่งต่อข้อมูลลูกหนี้เข้าไกล่เกลี่ยตามความประสงค์หรือตามภูมิลำเนา ทั้งนี้ กทม.ได้จัด “มหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.67 ณ มูลนิธิพุทธรังษี วัดฝอกวงซัน เขตคลองสามวา กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การรับลงทะเบียนขอความช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของลูกหนี้และเจ้าหนี้ การสร้างงานสร้างอาชีพ การจัดตลาดแรงงาน การฝึกอาชีพโดยโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร และกระทรวงแรงงาน การรับคำขอเพื่อพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและให้คำปรึกษาด้านการเงิน โดยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร การให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล

 

 

กทม.บูรณาการความร่วมมือตั้งศูนย์บริการประชาชนอำนวยความสะดวกการจราจรช่วงสงกรานต์

นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีประชาชนทยอยเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมาก อาจจะส่งผลกับสภาพการจราจรโดยเฉพาะวันเดินทางไปและวันเดินทางกลับ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ด้วย ดังนั้น เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร สนท.จึงได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงาน กทม.และหน่วยงานภายนอกจัดเจ้าหน้าที่พร้อมกำหนดแผนการดำเนินการในช่วงเทศกาล โดยจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวก อำนวยการจราจร ประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยในการเดินทาง ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ การให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนที่เดินทางไปต่างจังหวัดทั้งเดินทางไปและเดินทางกลับ ในเส้นทางหลักและเส้นทางรองที่มีความสำคัญ หรือเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรในการเดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมทั้งนำข้อมูลทั้งหมดสรุปรายงานอุบัติเหตุและนำเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อดำเนินการแก้ไขจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุในระยะเร่งด่วนต่อไป ได้แก่ บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ หมอชิต สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) สายใต้เก่า (ปิ่นเกล้า) และเอกมัย จุดบริการประชาชน ได้แก่ สถานีรถไฟดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต ใต้สะพานข้ามแยกมหานคร ถนนสุวินทวงศ์ หน้าสำนักงานเขตลาดกระบัง ถนนลาดกระบัง หน้าสถานีบริการน้ำมันบางจาก กม.4 + 800 ถนนบางนา – ตราด สถานีบริเวณน้ำมันคาลเท็กซ์ ถนนบรมราชชนนี หน้าสำนักงานเขตหนองแขม ถนนเพชรเกษม สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนพระรามที่ 2 กม.12

ขณะเดียวกันได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลตั้งจุดตรวจความมั่นคงและความปลอดภัย เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยง รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ลาดตระเวนพื้นที่ และประชาสัมพันธ์รณรงค์ ความปลอดภัยบนเส้นทางเสี่ยงอันตราย อีกทั้งประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงร่วมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนที่มาร่วมงานพื้นที่จัดกิจกรรม กรณีภาคเอกชนจัดกิจกรรมในพื้นที่ โดยเน้นย้ำมาตรการการควบคุมดูแลการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเล่นแป้ง กระบอกฉีดน้ำแรงดันสูง การแต่งตัวโป๊ วาบหวิว การเล่นน้ำสงกรานต์ต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200