Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567

คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม.เห็นชอบ 5 มาตรการลดผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์ ปี 67
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณาการความร่วมมือเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันและแนวทางลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง เหตุทะเลาะวิวาท อาชญากรรมและคุกคามทางเพศในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบมาตรการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ของ กทม. ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ (1) มาตรการขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด กทม. (2) มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (3) มาตรการด้านสังคมและชุมชน (4) มาตรการด้านกฎหมาย และ (5) มาตรการขอความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะประสานสำนักงานเขต 50 เขต และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบูรณาการร่วมกับแนวทาง/มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ร่วมกันดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมาร่วมงานสงกรานต์จำนวนมาก ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น พื้นที่ถนนสีลม เป็นต้น

      ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 มี.ค.67 โดยมีนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานที่ประชุม ได้นำประเด็นที่ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแจ้งต่อที่ประชุม และขอให้ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาลนำข้อเสนอเรื่องการเพิ่มโทษเมาแล้วขับพิจารณาดำเนินการต่อไป ส่วนการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง ซึ่ง กทม.ยินดีให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้น กรมการปกครองได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามและประเมินผลกรณีขยายเวลาของสถานบริการ ซึ่งมีผู้แทน กทม.ร่วมเป็นคณะทำงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.เกี่ยวกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุหลังขยายเวลาเปิดสถานบริการเวลา 04.00 น. และจะวิเคราะห์ผลโดยคณะทำงานดังกล่าวในช่วงเดือน เม.ย.67


นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวว่า กทม.ตระหนักและให้ความสำคัญในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยทุกเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ จะกำหนดแผนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและควบคุมการจำหน่ายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ กรมการขนส่งทางบก กองบัญชาการตำรวจนครบาล อาสาสมัคร สำนักอนามัย รวมถึงตรวจตรา สอดส่อง และบังคับการตามอำนาจหน้าที่ โดยการตั้งหน่วยบริการประชาชนและจุดตรวจความมั่นคงบริเวณสถานที่จัดงานประเพณี เพื่อป้องปรามและป้องกันการจำหน่ายและดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะบริเวณสถานศึกษาและบริเวณโดยรอบสถานบริการต่าง ๆ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเทศกิจคอยออกตรวจตรา สอดส่องพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม

 

 

 

กทม.แนะกลุ่มเปราะบางป้องกันดูแลสุขภาพ ลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
 
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ของสถานพยาบาลในสังกัด กทม.ว่า สนพ.ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้และข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ของสถานพยาบาลสังกัด กทม.โดยจัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้น ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลในสังกัด ดังนี้ โรงพยาบาลกลาง โทร.02 220 8000 โรงพยาบาลตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร.099 170 5879 และโรงพยาบาลสิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200