(25 มี.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมการการบริหารจัดการสุนัขและแมวในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ โรงแรม MeStyle Museum เขตห้วยขวาง
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า กทม. มุ่งมั่นจัดการปัญหาหมาแมวจรจัด ด้วยความตั้งใจที่จะลดจำนวนสัตว์จรจัด ดูแลสุขภาพสัตว์ และสร้างชุมชนที่ปลอดภัย ได้จัดหน่วยทำหมันสุนัขและแมวฟรีทุกวันโดยสัตวแพทย์ กทม. ทำงานร่วมกับเครือข่าย สามารถทำหมันหมาแมวได้วันละ 60 – 70 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ ในระยะต่อไปจะนำกรงคอนโดพักคอยไปที่สำนักงานเขตเพื่อใช้เป็นพื้นที่รอปล่อยแมวกลับที่เดิมหลังจากผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 – จนถึงปัจจุบัน มีทีมสัตวแพทย์ ทำหมัน ฉีดวัคซีน /ฉีดไมโครชิป สุนัข/แมว ไปแล้วกว่า 31,441 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค.67)
ทั้งนี้ การจัดการประชากรสุนัขและแมวในกรุงเทพมหานครแบ่งการดำเนินงานแก้ไขปัญหาออกเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ต้นน้ำ ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสัตว์ การจดทะเบียนสุนัข การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและการปรับปรุง (ร่าง) ข้อบัญญัติฯ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์มีเจ้าของเป็นสัตว์จร
กลางน้ำ การผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจากเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการควบคุมการเพิ่มจำนวนและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ปลายน้ำ การบริหารจัดการสถานพักพิงและการอุปการะสัตว์จากศูนย์ควบคุมสุนัข (ประเวศ) เป็นการหาบ้านใหม่ให้สัตว์จรลดจำนวนสุนัขในศูนย์ฯ ลดการซื้อสัตว์ใหม่มาเลี้ยง
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการควบคุมจำแนกแมวจรจัดในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 เขตนำร่อง ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตวังทองหลาง เขตบางแค เขตบางรัก เขตบางกอกน้อย เขตดอนเมือง และเขตลาดกระบัง โดยขั้นตอนจะดักจับแมวจรจัด ในชุมชน สำนักงานเขตนำแมวที่จับได้เข้ารับการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทำสัญลักษณ์ พักฟื้นในกรงพักคอย 1 วัน จากนั้นปล่อยแมวกลับที่เดิมเพื่ออยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งดำเนินโครงการในเดือน พ.ย. 66 และได้มีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานเพื่อถอดบทเรียนในการดำเนินงานให้ครบคลุมทั้ง 50 เขตต่อไป
ด้วยมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) เป็นองค์กรการกุศลและองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพของสุนัขและแมวในภูมิภาคเอเชีย เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทั้งสัตว์และสังคมมนุษย์ สร้างสังคมที่ปราศจากสัตว์จรจัด และเพื่อยุติการกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์โดยสิ้นเชิง มูลนิธิฯ และ Dogs Trust Worldwide (DTW) ร่วมมือกันในการดำเนินโครงการทำหมันที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการทำสถิติโลกผ่านโครงการ CNVR ในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเป้าหมายคือ การลดลงของอุบัติการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ความหนาแน่นของประชากรสุนัขจรจัดที่ลดลง การพัฒนาของสวัสดิภาพสัตว์ และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับมนุษย์ เริ่มดำเนินการในช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 และได้ทำหมันฉีดวัคซีนสัตว์จนเกือบถึงยอด 500,000 ตัวในสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 โครงการนี้ได้ใช้วิธีแบบหมุนเวียนความเข้มข้นสูง (a high-intensity rotational approach) โดยมุ่งเน้นที่การดำเนินการในพื้นที่เขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และทุกตำบลในแต่ละจังหวัดโดยรอบจนบรรลุยอดทำหมันสุนัขจรจัดได้ถึง 80% จึงจะย้ายไปยังเขต/ตำบลถัดไป หลังจากที่ปฏิบัติงานในแต่ละเขต/ตำบลจนครบแล้ว จึงจะเวียนกลับเข้าไปยังเขตตำบลแรกที่เริ่มโครงการเพื่อดำเนินงาน CNVR ในรอบถัดไป
ในการนี้ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย Dogs trust worldwide สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ คณะคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย สำนักงานปศุสัตว์ (จังหวัดนนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ) สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร CP ALL The international companion animal management coalition (ICAM) มูลนิธิเดอะวอยซ์ Four paws foundation Lanta animal welfare สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (จังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี ปทุมธานี) องค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
—————–