ผู้ว่าฯสัญจรSS2ลุยเขตบางเขน

 “ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” นำทีมลุยเขตบางเขน เร่งงานระบายน้ำ ตรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม เพื่อคนกรุงเทพฯ อุ่นใจเมื่อฝนตกหนัก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะ ผู้บริหาร สำนักงานเขตบางเขน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร (รอบ 2)” เพื่อตรวจสอบ ความคืบหน้าการทำงานตามนโยบายพร้อมเร่งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผน ติดตามปัญหาชุมชนเส้นเลือดฝอยที่ได้รับการร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue โดยกล่าวว่า หลังจากได้ลงพื้นที่ กิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร season แรกครบทั้ง 50 เขตแล้ว ใน season 2 นี้ จะเน้นไปลงพื้นที่เพื่อตามดูความคืบหน้า ที่ได้สั่งการไว้ ที่ผ่านมา เป็นการดู ชุมชนจัดตั้งตามระเบียบ แต่ยังมีชุมชนที่ยังเข้าไม่ถึงคือพวกหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ซึ่งจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น ความต้องการเรื่องจุดพักขยะ การขาดตัวแทนชุมชนเพื่อเจรจาเรื่องต่างๆ ปัญหาการเชื่อมต่อการจราจรที่ยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน ซึ่งเราต้องเข้าไปดูแลและพยายามรับฟังให้มากขึ้น

ปัญหาหลักหลังจากที่มีชุมชนหมู่บ้านเกิดมากขึ้นจนเบียดพื้นที่เกษตรกรรม ก็มีเรื่องการระบายน้ำ การเชื่อมระบบระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อย ออกมา ซึ่งการควบคุมให้แต่ละหมู่บ้านต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียของตัวเอง เพื่อคุณภาพน้ำที่ปล่อยออกมาจะได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนกับคนรอบนอก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับเขตบางเขนที่เมื่อก่อนมีเพียงแค่การเกษตร ตอนนี้เริ่มมีหมู่บ้านจัดสรรเข้ามามากขึ้น ทำให้มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำและเรื่องน้ำเสีย ต้องฝากเขตดูแลเรื่องการระบายน้ำ การขุดลอกคูคลอง รวมทั้ง ต้องลงไปตรวจตัวอย่างน้ำและเข้มงวดเรื่องการบำบัด ส่วนผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ ในชุมชนก็ต้องตรวจเยี่ยมใกล้ชิด สนับสนุน ผ้าอ้อมและดูแลเรื่องอาหารผู้ป่วย

นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณถนนสารสิน ว่า เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีการค้าขายเดิมกว่า 24-25 ปี กทม.ใช้โอกาสที่ต้องมีการปรับปรุงทางเท้านี้ ย้ายผู้ค้าไปจุดอื่นที่เตรียมไว้ให้ เพราะหัวใจสำคัญคือคนต้องเดินได้สะดวก สิ่งแวดล้อมต้องดี และได้มอบนโยบายในการปรับปรุงทางเท้าใน กทม. ไปแล้ว ทั้งทางเท้าบนถนนหลัก และทางเท้าถนนรอบสถานีรถไฟฟ้า รัศมี 1 กม. ทั้ง 300 สถานี เพื่อทำให้ First Mile และ Last Mile สะดวกมากขึ้น และเชื่อว่าหลายพื้นที่ก็ดีขึ้นแล้ว ส่วนการพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่หลังบ้านประชาชน ร้านค้าจะอยู่อีกฝั่ง โดยผู้ค้าสะพานเหล็ก กทม. ก็ได้ย้ายไปอยู่บนห้าง ทำให้เรียบร้อยขึ้น แต่การ ที่จะทำให้คนกลับไปเดินคลองโอ่งอ่าง แล้วให้คนภายนอกมาจัดอีเว้นท์ขายของ สุดท้ายก็จะไม่มีประโยชน์กับคนในพื้นที่ ซึ่งมีหลายย่านในกรุงเทพฯ ที่ทำสำเร็จ เช่น ปากคลองตลาด เยาวราช ที่เขาสามารถพัฒนาอัตลักษณ์ตัวเองได้ สำหรับคลองโอ่งอ่างต้องดูบริบทและจุดแข็งของย่าน เช่น วิทยาลัยเพาะช่าง ที่มีผลงานศิลปะดีๆ มากมาย หรือความเข้มแข็งของลิตเติลอินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลัง นำมา กำหนดเป็นอัตลักษณ์ของย่านเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการเปลี่ยนตะแกรงเหล็ก ท่อระบายน้ำ ว่า ปัญหาเดิมคือจากผิวถนนจะมีตะแกรงเล็กๆ ของท่อระบายน้ำ ซึ่งเมื่อฝนตกแล้วมีขยะไปปิดก็จะทำให้ระบายน้ำไม่ได้ ต้องใช้คนเข้าไปเก็บกวาด จึงได้มีการเปลี่ยนตะแกรงเหล็กเป็นท่อระบายน้ำที่ด้านบนมีลักษณะเป็นร่องยาวเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากผิวถนนลงท่อระบายน้ำได้เร็วขึ้น ส่วนที่สงสัยว่า ล้อจักรยานจะตกหรือไม่นั้น ท่อที่วางใหม่ เช่น บริเวณอุดมสุข ได้ทำให้ขอบชิดกับขอบทางเท้า ดังนั้น ปัญหาที่ล้อจะเข้าไปจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่วนพื้นที่อื่น ร่องของท่อระบายน้ำจะไม่ได้กว้างมาก หากหน้ายางไม่ได้เล็กมากๆ หรือหน้ายางไม่ได้เล็กกว่าร่อง โอกาสตกนั้นเป็นไปได้ยาก

จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ทั้งในช่วงเช้าและบ่าย สำหรับช่วงเช้าเป็นการตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาชุมชน และตรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม จุดต่างๆ

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200