ลุ้นดีเดย์’จำกัดความเร็ว’วิ่งในเมือง ชงนำร่อง40เส้นทาง…ลดเสี่ยงภัย

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน

มาตรการ “จำกัดความเร็ว” รถในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ ในประเทศไทยมีการพูดถึงมาหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงในพื้นที่ กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองหลวง และมีปัญหาจราจรในหลายด้านไม่เฉพาะรถติด แต่ยังรวมถึงอุบัติเหตุที่มาจากการใช้ความเร็วด้วย

“ทีมข่าวชุมชนเมือง” มีโอกาสอัปเดตความคืบหน้าและพบความเป็นไปได้ที่การจำกัดความเร็วจะลดต่ำลงกว่าที่เป็นในเร็ว ๆ นี้ได้ โดย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เผยข้อมูลจากโครงการวิจัยด้านพัฒนานวัตกรรมต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยทางของประเทศไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พ.ศ. 2564 พบว่า ถนนในพื้นที่ กทม.มีการใช้ความเร็วรถสูงมาก อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดความเร็วรถของประเทศไทยจะมีค่าสูงกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

การใช้ความเร็วหรือการจำกัดความเร็วที่ไม่เหมาะสม เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น จึงเป็นที่มาให้กทม.หารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เกี่ยวกับการจำกัดความเร็วรถบนถนนเป็น 50 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่เหมาะสมตาม ผลการศึกษา ThaiRAP

ทั้งนี้ การลดความเร็วในพื้นที่เป็นหนึ่งนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทความเร็วรถบริเวณหน้าโรงเรียนปัจจุบันพยายามควบคุมความเร็วให้อยู่ที่ 30 กม./ชม. ด้วยการปรับปรุงพื้นถนน ติดตั้งป้ายเตือน สร้างความตระหนักรู้ อีกประเภทคือถนนในเมือง ถนนที่ไม่ควรใช้ความเร็วสูง จะควบคุมอยู่ที่ 50 กม./ชม.

อย่างไรก็ตาม ทั้งถนนบริเวณหน้าโรงเรียนและถนนทั่วไป เจ้าพนักงานจราจรจะต้องเห็นชอบด้วย โดยกทม.เสนอเรื่องไปยัง บช.น. ขอให้มีการจำกัดความเร็วอยู่ที่ 50 กม./ชม. นำร่อง 40 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางในเขตพื้นที่ชั้นใน เพราะเป็นเส้นทางที่ไม่ควรใช้ความ เร็วมาก

ล่าสุดเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของ บช.น. ซึ่งหากเห็นชอบตามเส้นทางเหล่านี้ กทม.จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงด้านกายภาพ เช่น ติดตั้งป้ายสัญญาณ เพื่อให้ทราบว่าจุดนี้ควบคุมความเร็วอยู่ที่ 50 กม./ชม.

นายวิศณุ ชี้ถึงเป้าหมายจำกัดความเร็วในพื้นที่เมืองหลวงว่า หลัก ๆ ก็เพื่อลดอุบัติเหตุ เพราะหากพิจารณาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจะมี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.วินัยจราจร พฤติกรรมการขับขี่ที่มีการฝ่าฝืน 2.สภาพของรถ มีความบกพร่องของรถหรือไม่ 3.ข้อจำกัดทางด้านกายภาพ เช่น กายภาพของถนน มีหลุมบ่อ มองไม่เห็น มืดไม่ชัด มีอุปสรรค หรือสิ่งกีดขวางทางกายภาพ และ 4.ความเร็ว เช่น เมื่อ รถวิ่งมาเร็วจะเบรกไม่อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองที่อาจมีคนเดินกระชั้นชิด ตัดหน้า หรือคนเดินข้ามถนนทางม้าลาย ก็ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้

ดังนั้น การจำกัดความเร็วรถจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสเกิดเหตุ และลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ทางหนึ่ง

สำหรับ 40 เส้นทางนำร่อง “จำกัดความเร็ว” เป็นถนน “สายรอง” ในเขตชั้นใน ได้แก่

1.ถนนอู่ทองนอก 2.ถนนมหาไชย 3.ถนนบำรุงเมือง 4.ถนนเยาวราช 5.ถนนมหาราช 6.ถนนนครปฐม 7.ถนนจันทน์ 8.ถนนอัษฎางค์ 9.ถนนนางลิ้นจี่ 10.ถนนข้าวหลาม

11.ถนนราชสีมา 12.ถนนบรรทัด ทอง 13.ถนนสนามไชย 14.ถนนมเหสักข์ 15.ถนนหลวง 16.ถนนลูกหลวง 17.ถนนราชวงศ์ 18.ถนนตะนาว 19.ถนนไมตรีจิต 20.ถนน เฟื่องนคร

21.ถนนพลับพลาไชย 22.ถนนบำรุงเมือง 23.ถนนรามบุตรี 24.ถนนรองเมือง 25.ถนนหน้าพระธาตุ 26.ถนนพิชัย 27.ถนนสุรวงศ์ 28.ถนนทรงวาด 29.ถนนเสือป่า 30.ถนนมิตรพันธ์

31.ถนนศิริพงษ์ 32.ถนนพระสุเมรุ 33.ถนนพระอาทิตย์ 34.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย 35.ถนนสุคันธาราม 36.ถนนท้ายวัง 37.ถนนกรุง เกษม 38.ถนนเจริญกรุง 39.ถนนสีลม 40.ถนนราชินี

การจำกัดความเร็วบนถนนใน กทม. นายวิศณุ ระบุ จะกำหนดมาตรการปรับปรุงกายภาพต่าง ๆ ตามมาตรการของ iRAP ร่วมด้วย เช่น งานทาสี ตีเส้น ปรับปรุงป้ายเครื่องหมายให้มีความชัดเจน งานสัญญาณ งานปรับปรุงผิวจราจร สภาพทางกายภาพสองข้างทาง การใช้ Traffic Calming ต่าง ๆ เป็นต้น

“จริง ๆ แล้วเรื่องของการจำกัดความเร็วไม่ใช่แค่การ ปักป้ายจำกัดความเร็ว แต่รวมถึงด้านกายภาพอื่น ๆ ที่ต้องประกอบกันไปด้วย”

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายว่าในอนาคตจะมีการบังคับใช้ และขยายพื้นที่ ออกไปเรื่อย ๆ แต่เบื้องต้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะบาง เส้นทางเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ หากมีการจำกัดความเร็วอาจจะส่ง ผลกระทบกับผู้ประกอบการได้ ต้องดูความเหมาะสมแต่ละเส้นทางอย่างละเอียดด้วย.

 

บรรยายใต้ภาพ

วิศณุ ทรัพย์สมพล

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 มี.ค. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200