(22 มี.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) ถนนพระราม 4 มีบุคลากร 250 คน พื้นที่ 28,000 ตารางเมตร เริ่มดำเนินการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2553 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกทิ้งในถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิล (ถังขยะสีเหลือง) เช่น กระป๋อง แก้วพลาสติก กล่องโฟม กระดาษลัง 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารบริเวณโรงอาหาร ใส่ถังขยะรองรับเศษอาหาร (ถังขยะสีน้ำเงิน) บางส่วนนำไปผลิตก๊าซชีวภาพ 3.ขยะอันตราย คัดแยกทิ้งในถังขยะที่รองรับขยะอันตราย (ถังขยะสีเทา) เช่น หลอดไฟ ยาหมดอายุ ขวดแก้วบรรจุยา 4.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับขยะทั่วไป (ถังขยะสีเขียว) นำไปไว้ห้องพักขยะรวม เพื่อรอเขตฯ เข้าจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,450 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,900 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 250 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนสวนพลู เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ดังนี้ 1.ตลาดเจซี ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 11 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 5.หน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 6.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 7.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 8.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 9.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 10.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนดไว้ หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบในพื้นที่ ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท สยามมัลติคอน จำกัด ซึ่งดำเนินโครงการบางกอก สาทร โฮเทล เป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 35 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุก รถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน ตรวจวัดค่าควันดำตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการและลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานประกอบการ/โรงงาน 35 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 6 แห่ง การตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ป้องกันไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมสี่แยกถนนเจริญราษฎร์ตัดถนนจันทร์ (Dog Park) ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาให้มีความร่มรื่นสวยงาม ได้แก่ 1.สวนหย่อมและลานกีฬาใต้ทางด่วนซอยอยู่ดี พื้นที่ 7 ไร่ 84 ตารางวา 2.สวนหย่อมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) ได้แก่ 1.สวนสวยในสุสานแต้จิ๋ว พื้นที่ 86 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา 2.สวนหลังตลาดแสงจันทร์ พื้นที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา 3.ศูนย์เรียนรู้เขตสาทร (โครงการโคกหนองนา ใจกลางเมือง) พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 4.สวนหย่อมสี่แยกถนนเจริญราษฎร์ตัดถนนจันทร์ (Dog Park) พื้นที่ 3 งาน 17 ตารางวา ดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ติดปัญหาการประปานครหลวงขุดดินฝังท่อประปาขนาดใหญ่ 5.ลานอเนกประสงค์ ศูนย์การค้าวรรัตน์ พื้นที่ 2 งาน 31 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 6.สวนหย่อมทางลงทางพิเศษสาทร พื้นที่ 1 ไร่ 95 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างพัฒนาเป็นสวน 15 นาที ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการในรูปแบบสวนสาธารณะ สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง
ในการนี้มี นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)