กทม.แจงแนวทางดูแลรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ใช้บริการสถานพยาบาลในสังกัด
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาระบบส่งตัวผู้ป่วยตามสิทธิบัตรทองว่า สนอ.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับรูปแบบบริการและการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็นแบบ OP New Model 5 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อสรุปการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิไม่ตรงตามสิทธินั้น ให้หน่วยบริการปฐมภูมิพิจารณาให้บริการแก่ผู้ป่วยในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควรได้ตามความเหมาะสม
ส่วนกรณีที่ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังหน่วยบริการรับส่งต่อ เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับรูปแบบการเบิกจ่าย โดยให้หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยไปรับการประเมินอาการจากหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิก่อน หากเกินศักยภาพหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิจะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลรับส่งต่อต่อไป กรณีที่ไม่มีใบส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือใบส่งต่อไม่ตรงตามสิทธิ ผู้ป่วยสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อได้ในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควร ซึ่งโรงพยาบาลจะพิจารณาให้การรักษาตามกรณี
ทั้งนี้ สนอ.ได้จัดประชุมชี้แจงศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) กทม.ทั้ง 69 แห่ง เพื่อทราบแนวทาง การให้บริการผู้ป่วยกรณี New Model 5 โดยขอให้ ศบส.ให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ไม่ตรงตามสิทธิในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควร กรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีสิทธิที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่นมารับบริการที่ ศบส. โดย ศบส.จะให้การรักษาในเบื้องต้นและแนะนำให้ผู้ป่วยไปรับยาต่อเนื่องที่หน่วยปฐมภูมิตามสิทธิ พร้อมทั้งส่งประวัติการรักษาพยาบาลให้หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่จะได้รับการดูแลแบบใกล้บ้านใกล้ใจที่หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิของตนเอง หากมีความจำเป็นต้องได้รับการส่งต่อ หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิจะสามารถพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการรับส่งต่อได้ทันที
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช.กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีผู้ป่วยบัตรทองส่งต่อโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.จากที่ประชุมทุติยภูมิ-ตติยภูมิ ในกรณีการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นดุลพินิจของหน่วยบริการปฐมภูมิ แต่ประชาชนยังมีความกังวล ดังนั้น ในระยะยาวจะต้องจัดทำกลไกระบบส่งต่อ เพื่อรองรับประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารักษาที่ รพ.ช่วยลดความขัดแย้งกรณีการส่งต่อ โดยเฉพาะประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีความซับซ้อน หรือต้องใช้ยาราคาแพง ซึ่งเกินศักยภาพการดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เห็นชอบร่วมกันให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการได้ตามระบบ ซึ่งจะเสนอตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อชี้ขาดกรณีผู้ป่วยไม่ได้รับใบส่งตัวด้วย โดยเน้นย้ำว่า ประชาชนที่มีใบนัด มีใบส่งตัวเดิม ขอให้ไปที่ รพ.รับส่งต่อและรับบริการได้ปกติ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ชี้แจงและ รพ.รับทราบแนวทางแล้ว กรณีที่มีใบนัด แต่ไม่มีใบส่งตัวให้ รพ.พิจารณาให้การรักษาแล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถเบิกกับ สปสช.ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ สนพ.ได้เตรียมความพร้อมสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน รวมถึงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้าใช้บริการ รพ.สังกัด กทม.ดังนี้ (1) กรณีผู้ป่วยมีบัตรนัดของ รพ. แต่ไม่มีใบส่งตัวของหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัด เบื้องต้น รพ.จะให้บริการประชาชน แล้วเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE ,OP Anywhere หรือ CA Anywhere ฯลฯ ครั้งถัดไปให้ขอใบส่งตัวจากหน่วยบริการปฐมภูมิ (2) กรณีผู้ป่วยมีบัตรนัดของ รพ. แต่ใบส่งตัวจากหน่วยบริการอื่น เบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE ,OP Anywhere หรือ CA Anywhere ฯลฯ (3) กรณีไม่มีบัตรนัด ประกอบด้วย (3.1) กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ รพ.ต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ชักช้าและไม่ต้องขอหนังสือส่งตัวจากต้นสังกัดเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE และกรณีไม่ใช่อุบัติเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ และ รพ.เห็นควรว่า ไม่ควรรอ ให้ รพ.ให้บริการไปก่อน และ (3.2) เบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE ,OP Anywhere หรือ CA Anywhere ฯลฯ (4) กรณีที่หน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดมีใบส่งตัว ประกอบด้วย (4.1) หน่วยบริการที่รับการส่งต่อให้การรักษาได้ เบิกค่ารักษาพยาบาลตามระบบ FS ไม่เกิน 800 บาท (ตามมติ) เบิกจากต้นสังกัด ส่วนเกินเบิกจากกองทุน OP Refer หรือ (4.2) หากเกินศักยภาพของ รพ.รับส่งต่อแห่งที่ 1 ให้ รพ.รับส่งต่อแห่งที่ 1 ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อยัง รพ.แห่งที่ 2 ที่มีศักยภาพได้ โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่คลินิกปฐมภูมิต้นสังกัด แต่ต้องแจ้งให้หน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดทราบและเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP Refer หลังจากนั้น รพ.แห่งที่ 2 เห็นว่า มีความจำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้ส่งประวัติการรักษากลับไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดพิจารณาการส่งตัวมายัง รพ.แห่งที่ 2 โดยขอความร่วมมือออกหนังสือส่งตัวอย่างน้อย 90 วัน
ทั้งนี้ หน่วยบริการปฐมภูมิควรให้บริการเต็มศักยภาพก่อนส่งต่อและเมื่อส่งต่อต้องเขียนใบส่งตัว (เสนอคณะทำงานฯ ปฐมภูมิ) เพื่อแก้ปัญหาการเบิกจ่ายกรณี OP AE จำกัดจำนวนวัน จำนวนยาในการเบิกจ่าย และขอให้ รพ.ส่งข้อมูลการรักษาพยาบาลกลับไปให้คลินิกพิจารณาว่า สามารถให้บริการต่อเนื่องได้หรือไม่ โดยวิธีการส่งเอกสาร หรือเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
กทม.เตรียมพร้อมบริหารจัดการระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการระบบระบายน้ำของ กทม.รองรับสถานการณ์ฝนตกว่า สนน.ได้เร่งเดินเครื่องสูบน้ำในบ่อสูบน้ำและสถานีสูบน้ำต่าง ๆ เพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามและตรวจกลุ่มฝนจากเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. ระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน และสถานการณ์น้ำ โดยมีระบบโทรมาตรในการตรวจสอบสถานีเครือข่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย ระบบการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและในคลอง 255 แห่ง ระบบตรวจวัดปริมาณฝน 130 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน 100 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด 8 แห่ง ลดระดับน้ำตามคูคลองและบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือแจ้งให้ทุกส่วนราชการเตรียมพร้อมรับพายุฤดูร้อน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน เช่น ให้ติดตามและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสภาพอากาศ ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ควบคุมระดับน้ำตามแผน ตรวจสอบจุดก่อสร้างที่จะมีผลกระทบกับการระบายน้ำ พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ระบบไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ และบุคลากร เพื่อเข้าพื้นที่ได้ทันที เตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ตรวจอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้างให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเตรียมรถดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัย เครื่องมือและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุลมกระโชกแรงและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ จัดรถสายตรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือประชาชน จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังและจัดเตรียมกำลังคน เครื่องมือ ออกปฏิบัติการแก้ไขเหตุต้นไม้หักโค่นล้มกีดขวางถนนและการจราจร หรือกระทบต่อบ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งให้สำนักงานเขตจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย Best) และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยเหลือประชาชน อำนวยความสะดวกด้านการจราจร หากเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และเมื่อมีเหตุต้นไม้หักโค่น ป้ายโฆษณาล้ม ให้เข้าดำเนินการแก้ไขโดยทันที
สำหรับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนน.ได้ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน.ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.ต่อไป
กทม.ระดมกำลังพร้อมดูแลความปลอดภัยการจัดงานมหาสงกรานต์ที่ ถ.ราชดำเนิน-สนามหลวง
นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวบริเวณถนนราชดำเนินกลางและสนามหลวงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักเทศกิจ (สนท.) และสำนักงานเขตในกลุ่มกรุงเทพกลาง เพื่อระดมกำลังเจ้าหน้าเทศกิจดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยในช่วงการจัดงานมหาสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 – 15 เม.ย.67 จะมีกิจกรรมการแห่ขบวนพาเหรดสงกรานต์บริเวณถนนราชดำเนินกลางและกิจกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ภายในสนามหลวง ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์และชมขบวนพาเหรดจำนวนมาก โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในช่วงจัดงานสงกรานต์มักมาจากการดื่มสุราและการเล่นแป้งดินสอพอง ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือการเล่นปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่ง กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวงดการกระทำดังกล่าวในช่วงงานสงกรานต์ โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจจะกวดขันไม่ให้จำหน่ายสุราในที่สาธารณะ จำหน่ายแป้งดินสอพองและปืนฉีดน้ำในที่สาธารณะโดยเด็ดขาด ซึ่งจะต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจไม่ต่ำกว่า 100 นาย ประจำอยู่บริเวณตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางทั้งสองฝั่ง ไปจนถึงถนนราชดำเนินในฝั่งศาลฎีกา และภายในท้องสนามหลวง
ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ สถานที่ท่องเที่ยว เช่น พระบรมมหาราชวัง และจัดตั้งกองอำนวยการเทศกิจบริเวณสนามหลวงในช่วงการจัดงานมหาสงกรานต์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและนักท่องเที่ยว แนะนำข้อมูล ตลอดจนประสานการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น ประสานหน่วยพยาบาลเมื่อมีผู้เจ็บป่วย หรือประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อมีเหตุอาชญากรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของโป๊ะเรือ ท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่เขตพระนคร
นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ได้จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 โดยจัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมบูรณาการความร่วมมือด้านกำลังเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจตามแผนฯ ทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจในพื้นที่เขตพระนคร ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 และ 9 สถานีดับเพลิงและกู้ภัยภูเขาทอง และ อปพร.เขตพระนคร เป็นต้น ทั้งนี้ ในแผนฯ จะกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยและอุบัติภัยต่าง ๆ ทั้งทางบกและทางน้ำ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
ทั้งนี้ ได้เตรียมจัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.เขตพระนคร) ภายในเดือน มี.ค.67 เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการดูแลความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนของประชาชนและนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ โดยจะจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เมาไม่ขับ และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น สถานีตำรวจนครบาล สถานีดับเพลิงในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของสถานีดับเพลิงจะประจำจุดเฝ้าระวังอัคคีภัยตามจุดที่มีความเสี่ยง เช่น บริเวณชุมชน บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก