กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567

กทม.ใช้แผนถ่ายเทไหลเวียนน้ำ พร้อมประสานความร่วมมือพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์สภาพน้ำในคลองแสนแสบมีสีดำและส่งกลิ่นเหม็นว่า กรุงเทพมหานคร ได้ใช้แผนการถ่ายเทไหลเวียนน้ำเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน หรือหน้าแล้งประมาณกลางเดือน ก.พ.ไปจนถึงกลางเดือน พ.ค.ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ค่อยมีฝนตกลงมาช่วยเพิ่มระดับน้ำในคลอง แต่ในบางช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อน หรือจะมีฝนตก กทม.จะต้องลดระดับน้ำตามคลองสายหลักต่าง ๆ โดยเฉพาะคลองแสนแสบให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จึงส่งผลให้สภาพน้ำในคลองมีสีดำ โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในเมือง ประกอบกับมีการเดินเรือและปล่อยน้ำเสียจากอาคารสำนักงาน สถานประกอบการที่อยู่แนวริมคลองทั้งที่ผ่านการบำบัดและที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดลงสู่คลอง รวมถึงทิ้งขยะลงสู่คูคลอง

ปัจจุบัน สนน.ได้ดำเนินการไหลเวียนถ่ายเทน้ำ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างต่อเนื่อง โดยควบคุมระบบประตูระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพื้นที่ชั้นใน ใช้สถานีสูบน้ำเทเวศร์ สถานีสูบน้ำกรุงเกษม อาคารรับน้ำแสนเลิศ และอาคารรับน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าว เป็นเครื่องมือหลักในการจัดการผันน้ำที่มีคุณภาพดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่คลองแสนแสบ เพื่อช่วยเจือจางน้ำเสีย ส่วนพื้นที่ชั้นนอกด้านตะวันออก ใช้ประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ (มีนบุรี) และประตูระบายน้ำบางชัน (ตอนคลองแสนแสบ) เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นใน ซึ่งมีเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่าง กทม.และกรมชลประทาน ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกรมควบคุมมลพิษกำกับดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบใช้มาตรการทางกฎหมายกับกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งถังดักไขมัน ร่วมกับการให้บริการบำบัดน้ำเสียด้วยโรงควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่บางส่วนของเขตชั้นใน และการก่อสร้างโรงควบคุมคุณภาพน้ำมีนบุรี ระยะที่ 1 คาดว่า จะเปิดให้บริการเดือน มิ.ย.67 มีความสามารถในการบำบัดน้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

สำหรับความคืบหน้าการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและฟื้นฟูคลองแสนแสบในส่วนที่ กทม.รับผิดชอบดำเนินการ รวมทั้งแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 กทม.มีแผนพัฒนาคลองแสนแสบ โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน โดยร่วมกับสำนักงานเขตทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลองและริมฝั่งคลองตลอดแนว ตามแผนรักษาความสะอาดคูคลองและแหล่งน้ำตามวงรอบที่กำหนดไว้ และร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม บูรณาการข้อมูลแหล่งกำเนิดน้ำเสียและตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนติดตั้งเครื่องเติมอากาศในน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำเน่าเสียรุนแรง และก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสียของ กทม.ที่มีอยู่เดิม จำนวน 2 โครงการ

นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบและสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณริมคลอง โดยการไม่ทิ้งขยะ หรือของเสียต่าง ๆ ลงในคูคลองและแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งติดตั้งระบบบำบัดน้ำก่อนปล่อยน้ำลงคลอง เพื่อให้คุณภาพน้ำในคลองมีคุณภาพดี ใสสะอาด และช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืน ตลอดจนขอความร่วมมือดูแลรักษาภูมิทัศน์ริมสองฝั่งคลองให้มีความสะอาด สวยงาม เพื่อสร้างภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสังกัด กทม.เช่น สำนักงานเขตและสำนักต่าง ๆ จัดรณรงค์ไม่ทิ้งขยะ หรือของเสียลงคลอง คู ลำราง ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยใช้ผลตอบแทนเป็นสิ่งกระตุ้น เช่น การทำบุญทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิลทางสายน้ำ การรณรงค์นัดทิ้งนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ในชุมชนริมคลอง และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานทหาร และภาคประชาชนในพื้นที่ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย การจัดเก็บขยะและวัชพืช ตลอดจนสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมนำมาช่วย

 

กทม.ยันดูแลบำรุงรักษากล้าไม้ปลูกใหม่ทุกสถานที่ เดินหน้าปลูกต้นไม้แล้วกว่า 8 แสนต้น

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ต้นไม้ในสวนหย่อมวัดเสมียนนารีขาดการบำรุงรักษาว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่า สวนหย่อมวัดเสมียนนารี พระอารามหลวง เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) สำนักงานเขตฯ จึงได้มีหนังสือประสาน สสล.เพื่อตรวจสอบแก้ไข อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงานเขตฯ ได้ปลูกต้นไม้ตามโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ตั้งแต่เดือน ต.ค.66 จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 1,075 ต้น ไม้พุ่ม 160 ต้น รวม 1,235 ต้น ซึ่งสำนักงานเขตฯ จะเร่งรัดดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่สวนหย่อมวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร ซึ่งมีการปลูกต้นไม้เมื่อเดือน ก.ย.66 ที่ผ่านมา ต้นไม้ดังกล่าวเป็นกล้าไม้ที่ภาคเอกชนบริจาคให้ สสล.นำไปปลูกเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่สวนหย่อมวัดเสมียนนารี ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม. โดย สสล.ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลบำรุงรักษากล้าไม้ที่ปลูกใหม่ทุกสถานที่ ไม่ได้ละเลยให้ต้นไม้ที่ปลูกขาดการดูแล แต่พื้นที่บริเวณสวนหย่อมวัดเสมียนนารีไม่มีระบบรดน้ำ สสล.จึงใช้รถบรรทุกน้ำเข้ารดน้ำต้นไม้ทั่วทั้งพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 เที่ยว/วัน รวมทั้งจัดให้มีเครื่องสูบน้ำช่วยรดน้ำเสริม เพื่อดูแลกล้าไม้ปลูกใหม่ที่ยังมีขนาดเล็ก เพื่อให้ระบบรากสามารถหาน้ำได้ในช่วงระดับดินบน รากยังไม่หยั่งลึกลงดินล่าง นอกจากนี้ กล้าไม้ที่เอกชนนำมาปลูกบางส่วนเป็นกล้าไม้ขนาดเล็กที่เพาะจากเมล็ด ซึ่งหากเติบโตจะมีระบบรากที่แข็งแรง สสล.จึงสนับสนุนสถานที่ปลูกและการดูแลรักษา

จากการสำรวจพบว่า อัตราการตายของกล้าไม้ที่ปลูกบริเวณสวนหย่อมวัดเสมียนนารีมีเพียงร้อยละ 5 จากจำนวนที่ปลูกทั้งหมดมากกว่า 1,000 ต้น และมีกล้าไม้จำนวนมากและหลายชนิดที่เจริญเติบโตดี อย่างไรก็ตาม สสล.จะปลูกทดแทนกล้าไม้ต้นที่ตายและพิจารณาปลูกทดแทนกล้าไม้ที่ระบบรากไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรต่อไป

สำหรับความคืบหน้านโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงของ กทม.ปัจจุบันปลูกไปแล้ว 862,914 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค.67 เวลา 10.28 น.) แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 269,935 ต้น ไม้พุ่มขนาดกลาง 425,635 ต้น และไม้เถา 167,344 ต้น โดยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและ สสล.ซึ่งได้จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของสำนักงานเขตในการดูแลและตัดแต่งต้นไม้โดยรุกขกรผู้มีความชำนาญในการตัดแต่งต้นไม้ และแนะนำวิธีการปลูกและเลือกต้นไม้ที่จะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงแนะนำการดูแลต้นไม้ในแต่ละช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม เพื่อการอยู่รอดของต้นไม้

 

กทม.เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุป้องกันสารเคมีรั่วไหลในศูนย์กำจัดมูลฝอย

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผลกระทบจากเหตุสารเคมีรั่วไหลในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม ว่า สนอ.ได้ประสานหัวหน้าศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองแขม เพื่อติดตามผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าวในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งทางอากาศและแหล่งน้ำ ตลอดจนแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้รับแจ้งว่า เป็นภัยขนาดเล็ก ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งทางอากาศและแหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุป้องกันสารเคมีรั่วไหลในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและศูนย์กำจัดมูลฝอยอื่น ๆ เพื่อป้องกันเหตุอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง

โดยเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันอันตรายและแผนเผชิญเหตุป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ดังนี้ (1) จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายระดับ กทม.ระดับเขต (2) จัดอบรมการตอบโต้เหตุฉุกเฉินสารเคมีและวัตถุอันตราย (3) ให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการของ กทม.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตและฝึกซ้อมแผนของหน่วยงาน และ (4) ศูนย์กำจัดมูลฝอย สสล.มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับจัดเก็บขยะอันตราย สารเคมีและวัตถุอันตรายก่อนนำไปบำบัดและกำจัดโดยบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตบำบัดและกำจัดกากของเสียอันตราย/กากของเสียอุตสาหกรรม โดยก่อนการจัดเก็บสารเคมีอันตรายจะพิสูจน์ทราบสารเคมีก่อนทุกครั้ง และจัดเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีสภาพเสถียรไม่ไวไฟ หน่วยงานมีแผนอัคคีภัย และฝึกซ้อมร่วมกับสถานีดับเพลิงและกู้ภัยท้องที่อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ได้ประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.เข้าตรวจสอบขยะสารเคมี ที่สำนักงานเขตจัดเก็บจากการลักลอบทิ้งมานำส่งไว้ที่อาคารจัดเก็บมูลฝอยอันตรายหนองแขม โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ประสาน สปภ.เข้าตรวจสอบคุณลักษณะทางเคมี ความเป็นอันตราย วิธีการจัดเก็บ เก็บกัก และการกำจัดที่ปลอดภัย โดยกรณีดังกล่าวเป็นการตรวจสอบขยะสารเคมีจากการลักลอบทิ้ง ไม่ได้เป็นสารเคมีที่รั่วไหลจากโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยหนองแขมแต่อย่างใด


จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ สปภ.พบว่า เป็นสารเคมีมีกลิ่น ประเภทแคลเซียมคาร์ไบด์ (CaC2) UN#1402 บรรจุถังแกลลอนขนาด 20 ลิตร 1 ถัง และถังเขียวประมาณ 20 ลิตร 1 ถัง และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทีมตอบโต้สารเคมี ให้นำถุงสารเคมีแคลเซียมคาร์ไบด์ มาตากให้แห้งในที่โล่งแจ้ง เพื่อลดกลิ่นสารเคมี หลังจากนั้นได้ใช้น้ำพรมเร่งปฏิกริยาระหว่างการทดสอบ ไม่มีการลุกไหม้ ไม่มีเกิดการระเบิด โดยทดสอบจนแน่ใจถึงความปลอดภัย ก่อนจัดเก็บถุงและภาชนะบรรจุสารเคมี เพื่อนำมาเก็บกักระหว่างกระบวนการสืบหาผู้กระทำความผิดลักลอบทิ้ง ทั้งนี้ กทม.มีภารกิจให้บริการจัดเก็บและกำจัดมูลฝอยอันตรายจากชุมชน ไม่รวมถึงมูลฝอยอันตรายจากอุตสาหกรรม เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เจ้าของกิจการต้องส่งของเสียจากกระบวนการผลิตนำไปกำจัดด้วยวิธีเฉพาะที่กฎหมายโรงงานกำหนดไว้

 

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200