Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567

กทม.จัด Big cleaning พื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์-จ่ายยาทากันยุงให้ผู้ป่วยป้องกันการกระจายเชื้อสู่ชุมชน

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกของ กทม.ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค.67 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยสะสม 1,503 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.64 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ และน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 66 เล็กน้อย แต่มากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง

ทั้งนี้ กทม.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดย สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต พัฒนาปรับปรุง ระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ 5ป 1ข คือ ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง ปล่อยปลาลงในอ่าง เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยขัดล้างภาชนะใส่น้ำก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ รวมถึง “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้าน ไม่ให้รก เก็บขยะ ไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง ทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ

นอกจากนั้น ได้ประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย ภายในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ ได้แก่ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง และได้ประสานความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และผู้นำชุมชนสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะชุมชนที่พบอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกสูง

อีกทั้งสนับสนุนสารเคมีต่าง ๆ ในการใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างเพียงพอต่อความต้องการของเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนผ่านสื่อทุกช่องทาง ส่วนในสถานพยาบาล กทม.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อต่าง ๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมถึงการจ่ายยาทากันยุงให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน

 

กทม.เตรียมพร้อมระบบกล้อง CCTV พื้นที่จัดงานมหาสงกรานต์ 2567

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า สจส.ได้บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับภาคเอกชน สำนักงานเขต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ โดยได้เตรียมความพร้อมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณพื้นที่จัดงานที่ถนนข้าวสารและพื้นที่โดยรอบ อาทิ ถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง อีกทั้งเสริมระบบ AI กับกล้อง CCTV ให้สามารถจดจำใบหน้า (Face Recognition) ป้ายทะเบียนรถ (License Plate Recognition) ตรวจดูความหนาแน่นของฝูงชน (Crowd Density) ตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล หรือตรวจวัตถุต้องสงสัย โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลของกล้อง CCTV ทั้งหมดในพื้นที่จัดงาน และบริเวณโดยรอบเข้าสู่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมของ กทม.1 (เสาชิงช้า) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะมาร่วมงานมหาสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 – 15 เม.ย.67

ทั้งนี้ สจส.ในฐานะเลขาศูนย์ความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม) ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดทำแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ (2) จัดทำสื่อรณรงค์ให้สำนักงานเขตใช้สื่อสารประชาสัมพันธ์ในพื้นที่และเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ (3) ตรวจสอบและแก้ไข เตรียมความพร้อมป้ายเครื่องหมาย สัญญาณไฟจราจร ศาลาที่พักผู้โดยสาร ท่าเรือ กล้อง CCTV ให้พร้อมใช้งาน และประสานสำนักการโยธา กทม.ดูแลไฟแสงสว่างบนถนนให้พร้อม (4) จัดให้มีจุดบริการประชาชนในเส้นทางขาออกจากกรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงานเขตในพื้นที่ ส่วน ศปถ.เขต ทั้ง 50 เขต ได้บูรณาการร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบร้านค้า สถานประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (5) จัดตั้งศูนย์ฯ ประสานงานที่ สจส.พร้อมเตรียมหน่วย BEST สนับสนุนภารกิจเร่งด่วน และ (6) เป็นผู้แทนร่วมประชุมติดตามและรายงานกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตลอดช่วงสงกรานต์

นอกจากนั้น สจส.ยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ถอดบทเรียนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเก็บข้อมูลอุบัติเหตุมาวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยเฉพาะกรณีที่มีการเสียชีวิต เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงทั้งด้านกายภาพ ถนน อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยจราจร และด้านการปรับปรุงพฤติกรรมผู้ขับขี่ แล้วนำเข้ารายงานในที่ประชุม ศปถ. ปภ. และคณะกรรมการ ศปถ.กทม. รวมทั้งประสานสำนักอนามัย กทม.เพื่อวางแผนการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาเตรียมความพร้อมเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นำเสนอต่อคณะกรรมการ ศปถ.กทม. ต่อไป

 

กทม.ตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วไหลในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียง

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วไหลในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตหนองแขมว่า การระงับเหตุสารเคมีรั่วไหลในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ตั้งอยู่เลขที่ 45 ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม

จากการตรวจสอบพบว่า เป็นสารเคมีชนิดแคลเซียมคาร์ไบต์ ขนาด 20 ลิตร จำนวน 2 แกลลอน ลักษณะเป็นฝุ่นผง ลักษณะเป็นของแข็ง สีเทา ปกติใช้เป็นเชื้อเพลิงในตะเกียงแก๊ส ใช้เร่งการออกดอกผลและการสุกของผลไม้ หรือถ่านแก๊สใช้สำหรับการบ่มผลไม้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยหนองแขมได้กำจัดเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเหตุสารเคมีรั่วไหล หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เขตลาดกระบังแจ้งเจ้าของที่ดินทำรั้วปิดกั้นป้องกันลักลอบทิ้งขยะ เพิ่มความถี่ตรวจสอบเผาหญ้า-เผาขยะ

นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง กทม.กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนพบการจุดไฟเผาหญ้าบริเวณหน้าวัดขุมทองว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินปรับปรุงพัฒนาที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย โดยจัดทำแนวป้องกันไฟ จัดทำรั้วปิดกั้นรอบที่ดิน เพื่อป้องกันผู้ลักลอบนำวัสดุและขยะมาทิ้งและลักลอบเผาขยะ หากไม่ดำเนินการภายใน 30 วัน จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายฝ่ายเทศกิจจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเข้าระงับเหตุจุดที่พบการเผาหญ้าบริเวณหน้าวัดขุมทอง ทำให้เกิดกลุ่มควันมลพิษทางอากาศในพื้นที่เขต โดยร่วมตรวจพื้นที่กับประชาชนผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียงจุดเกิดเหตุและชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมแจกประกาศประชาสัมพันธ์ห้ามเผาขยะกับผู้ที่หาของเก่า

ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มความถี่เข้มงวดตรวจสอบพื้นที่และมาตรการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้จุดไฟเผาหญ้าและเผาขยะ โดยมอบหมายฝ่ายเทศกิจจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรา เฝ้าระวังตรวจสอบจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบทิ้งขยะและเผาขยะและหญ้า ทำให้เกิดกลุ่มควันมลพิษทางอากาศในพื้นที่เขตอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจตราเฝ้าระวังทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างต่อเนื่อง ประสานเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยพร้อมเข้าระงับเหตุตลอด 24 ชั่วโมง และประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ที่หาของเก่า และผู้ที่ลักลอบทิ้งขยะ รวมทั้งดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ตามกำหนดเพดานที่เสียภาษีรวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 3 พร้อมทั้งออกประกาศสำนักงานเขตลาดกระบัง เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ

หากพบเห็นผู้ฝ่าฝืนทำการเผาจะดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากประชาชนพบไฟไหม้หญ้า หรือกองขยะในพื้นที่ สามารถแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue หรือสายด่วน 199 สายด่วน กทม.1555 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 และสำนักงานเขตลาดกระบัง 0 2326 9149 ต่อ 6895 และ 0 2326 7708

 

เขตปทุมวันตรวจสุขลักษณะร้านอาหาร ถ.บรรทัดทอง-กวดขันไม่ให้ตั้งโต๊ะเก้าอี้บนทางเท้า

นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ร้านอาหารบริเวณถนนบรรทัดทองไม่รักษาสุขอนามัยและตั้งวางโต๊ะเก้าอี้กีดขวางทางเท้าว่า สำนักงานเขตปทุมวันได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลตรวจสอบและให้คำแนะนำด้านสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ พร้อมเก็บตัวอย่างอาหาร เพื่อสุ่มตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารมีความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหาร โดยผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารจะต้องผ่านการอบรมด้านสุขาภิบาลอาหารตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งจัดทำแผนกำกับดูแลสถานประกอบการสถานที่จำหน่ายอาหารให้ปฏิบัติตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด โดยสถานประกอบการแต่ละรายจะต้องได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจได้ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการไม่ให้ตั้งวางโต๊ะ เก้าอี้ และสิ่งกีดขวางใด ๆ บนทางเท้า ทั้งนี้ จะกวดขันและกำชับร้านค้าให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200